×

ผู้ว่า ธปท. ย้ำ โจทย์ใหญ่ไทยยังอยู่ที่ Smooth Takeoff นโยบายการเงินยังต้องทยอยปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป

07.09.2022
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ‘การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย The Great Reset’ จัดโดยสถานีโทรทัศน์ TNN ว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. จะอิงตามความเหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว ทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เปรียบเสมือนการถอนคันเร่ง ซึ่งแตกต่างจากบริบทของสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวร้อนแรงมาก ทำให้ธนาคารกลางต้องเหยียบเบรกด้วยการขึ้นดอกเบี้ยแรง อย่างไรก็ดี ในกรณีที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน ธปท. ก็พร้อมที่จะปรับนโยบายให้สอดคล้องกับบริบทในขณะนั้นเช่นกัน 

 

“หลักการของเราคือ Gradual and Measured แปลเป็นไทยว่าค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็พร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ หากเกิดเหตุการณ์ที่เราจำเป็นต้องหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวหรือต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าครั้งละ 0.25% เราก็พร้อมทำ” เศรษฐพุฒิกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ผู้ว่า ธปท. ยังยืนยันว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ล่าช้าเกินไป หรือ Behind the Curve ตามที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะหากเทียบกับประเทศอื่นๆ จะเห็นว่าไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด ขณะที่ประเทศอื่นๆ เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเศรษฐกิจกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดแล้ว 

 

นอกจากนี้บริบทเงินเฟ้อของไทยยังมีความต่างจากประเทศอื่นๆ โดยเงินเฟ้อไทยมาจากฝั่งอุปทานเป็นหลัก ต่างจากเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่มาจากฝั่งอุปสงค์ ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

 

“โจทย์ของเราคือ Smooth Takeoff คือฟื้นตัวโดยไม่สะดุด ขณะที่โจทย์ของประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวร้อนแรงคือ Soft Landing หรือเจ็บตัวน้อยที่สุด ด้วยบริบทที่ต่างกัน เราจึงไปขึ้นดอกเบี้ยตามเขาไม่ได้” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

นอกจากนี้ผู้ว่า ธปท. ยังบรรยายถึงแนวทางการวางนโยบายเพื่อก้าวสู่โลกยุคใหม่ของ ธปท. ว่าจะให้น้ำหนักกับ 2-3 เรื่อง ได้แก่ กระแสดิจิทัล กระแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาหนี้ครัวเรือน

 

โดยในส่วนของกระแสดิจิทัล ธปท. จะยึดหลักรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ผ่าน 3 Open คือ 

 

  1. Open, Shared and Interoperable Infrastructure หรือการมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม 
  2. Open Environment คือการสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการแข่งขันอย่างเท่าเทียม
  3. Open Data คือการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกันได้ เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูล และนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ 

 

ด้านกระแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เร็วๆ นี้ ธปท. จะมีการเผยแพร่มาตรฐานกลางที่กำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ Taxonomy เพื่อให้แต่ละภาคส่วนนำไปใช้อ้างอิง และช่วยให้สามารถประเมินสถานะการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของตัวเองได้

 

สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือน เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ ธปท. มีความกังวลค่อนข้างมาก ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงยังคงมาตรการช่วยเหลือแบบเฉพาะจุด เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว โครงการหมอหนี้ และคลินิกแก้หนี้ โดยเร็วๆ นี้จะมีการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising