×

ธปท. มอง Fed ขึ้นดอกเบี้ยกระทบไทยจำกัด เหตุหนี้ต่างประเทศน้อย เงินสำรองสูง ภาคธุรกิจระดมทุนผ่านแบงก์พาณิชย์เป็นส่วนใหญ่

11.02.2022
  • LOADING...
ธปท. มอง Fed ขึ้นดอกเบี้ยกระทบไทยจำกัด เหตุหนี้ต่างประเทศน้อย เงินสำรองสูง ภาคธุรกิจระดมทุนผ่านแบงก์พาณิชย์เป็นส่วนใหญ่

สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่อาจมีขนาดและความเร็วที่สูงกว่าคาด เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่เร่งตัวสู่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี จะส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินผ่านเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทุกประเทศ ซึ่งรวมถึงไทยด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากเสถียรภาพทางการเงินของไทยที่มีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศน้อย มีเงินทุนสำรองสูง และการที่ภาคธุรกิจไทยมีการระดมทุนผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ระดมทุนผ่านเงินฝากในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เชื่อว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทยจะมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ

 

“ถ้าเทียบกับกลุ่มลาตินอเมริกาหรือบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ที่มีหนี้ต่างประเทศสูง และพึ่งพานักลงทุนต่างชาติในตลาดบอนด์และตลาดหุ้นมาก จะเห็นว่าไทยยังมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งอยู่” สุรัชกล่าว

 

สุรัชกล่าวอีกว่า ความแข็งแกร่งด้านเสถียรภาพทางการเงินของไทย ทำให้ไทยยังมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินได้ระดับหนึ่ง โดยการดำเนินนโยบายการเงินของไทยจะยังมุ่งไปที่เป้าประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ การดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง การดูแลเงินเฟ้อ และการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

 

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า หาก Fed มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้เกิดภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นในประเทศผ่านตลาดพันธบัตรต่างๆ เช่น พันธบัตรอายุ 10 ปีของไทยที่มีการปรับขึ้นตามพันธบัตรสหรัฐฯ ไปค่อนข้างเยอะแล้ว อย่างไรก็ดี หากดูในกลุ่มพันธบัตรระยะสั้นอายุ 2-3 ปี ที่มีความสำคัญต่อการกู้ยืมของไทยจะพบว่ายังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามสหรัฐฯ 

 

“เชื่อว่าตลาดรับรู้ไปแล้วว่า Spillover จะมาแน่ แต่จะมาแบบจำกัดเพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาธนาคารพาณิชย์เยอะ ผลกระทบจึงมีไม่มากเท่าประเทศอื่น” สักกะภพกล่าว

 

ด้าน รุ่งพร เริงพิทยา ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการทบทวนตัวเลขเงินเฟ้อของไทย หลังจากสถานการณ์ด้านราคาพลังงานมีการเปลี่ยนแปลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของ ธปท. จะถูกปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.7% แต่จะยังคงอยู่ภายใต้กรอบ 3%

 

“ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อใหม่จะมีการเผยแพร่ในเดือนมีนาคม ขณะที่ภาพรวมประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 เรายังมองว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยคาดการณ์ไว้” รุ่งพรกล่าว

 

รุ่งพรกล่าวว่า ธปท. ยังมองว่า อัตราเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือนมกราคมที่ปรับเพิ่มมาที่ 3.23% เกิดจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1. ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นถึงเกือบ 27% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และ 2. ราคาเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสุกร และเนื้อโคที่ปรับเพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อนหน้า 

 

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจยังพบว่าการปรับขึ้นราคาสินค้ายังจำกัดอยู่แค่เฉพาะบางหมวด ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นในหลายๆ สินค้าพร้อมกันเป็นวงกว้าง โดยยังมีสินค้าจำนวนมากเกือบ 200 รายการในตะกร้าเงินเฟ้อที่ราคาคงที่หรือลดลง  

 

ทำให้ ธปท. ยังมองทิศทางเงินเฟ้อในปีนี้ว่า จะเร่งตัวขึ้นชั่วคราวในช่วงแรกของปี โดยมีความเป็นไปได้ที่อาจสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 3% แต่มีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงหลังของปีตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับลดลง รวมถึงการคลี่คลายของปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ตู้คอนเทนเนอร์ และเนื้อสุกร จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงได้ อีกทั้งกำลังซื้อที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ ทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising