×

ธปท. ย้ำ 4 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ก.ค. 2563 ลงทุนเอกชน ท่องเที่ยว ส่งออก แรงงานหดตัว

31.08.2020
  • LOADING...
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเดือนกรกฎาคม 2563 ภาพรวมหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังมีความเปราะบางจากด้านการลงทุน และต้องจับตามากยิ่งข้ึน

 

ทั้งนี้การลงทุนภาคเอกชนเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หดตัว 12.8% นับว่ายังหดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวราว 10.2% และทำให้ครึ่งปีแรก 2563 การลงทุนภาคเอกชนหดตัว 12.9% ซึ่งเป็นการหดตัวจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงกำลังการผลิตส่วนเกินที่เหลืออยู่มาก ขณะที่ความไม่แน่นอนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุน

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะการลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำมานาน หากในระยะยาวการลงทุนภาคเอกชนกลับมาไม่ได้ ยิ่งจะทำให้ไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้ยาก ขณะเดียวกันมองว่าการลงทุนภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้น ต้องมาจากการนำของภาครัฐ

 

ในปี 2562 ที่ผ่านมา การลงทุนภาครัฐมีสัดส่วน 6% ของ GDP ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัดส่วนที่ 17% ของ GDP

 

ขณะที่ภาคท่องเที่ยวไทยปี 2563 นี้ ทาง ธปท. จะมีการปรับประมาณการลดลงจากตัวเลขปัจจุบันที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน แต่คาดว่าภายในเดือนกันยายน 2563 นี้จะมีการปรับประมาณการลดลงอีกโดยหน่วยงานอื่นๆ เช่น สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง ฯลฯ คาดการณ์ว่าปีนี้ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.7 ล้านคน ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง 1.3 ล้านคนจะมีผลต่อ GDP ไทยราว 0.5%

 

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องจับตามองคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจได้รับผลกระทบไปถึงปี 2564 จึงต้องจับตามองว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาไทยหรือไม่ และภาครัฐจะมีนโยบายที่กระตุ้นการท่องเที่ยวโดยสกัดกั้นการแพร่ระบาดได้อย่างไร โดยในปี 2564 ทาง ธปท. คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 16 ล้านคน (ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามองว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ราว 12 ล้านคน)

 

“ปีหน้าน่าจับตากว่าปีนี้ เพราะภาคต่างประเทศอาจจะฟื้นตัวแต่เราไม่ฟื้น ต้องรอดูว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาอย่างไร ส่วนในไทยทั้งรัฐและประชาชนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเลขการระบาดที่ไม่ใช่ศูนย์ อย่างเหตุการณ์ครั้งที่ผ่านมาเมื่อเกิดข่าวผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีการระบาด คนจะกลัวกัน ดังนั้นภาครัฐต้องมีให้ความั่นใจมากขึ้น” ดอนกล่าว

 

ขณะที่ตลาดแรงงานมีสัญญาณดีขึ้นแต่ยังเปราะบาง โดยสถานการณ์การว่างานเหมือนจะดีขึ้นบ้าง แต่ยังต้องจับตาผลกระทบนอกเหนือจากตำแหน่งงานที่ลดลง คือเรื่องผลกระทบต่อรายได้ของแรงงาน ดังที่เห็นจากข้อมูลดัชนีชั่วโมงการทำงานที่หายไปจากการปิดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแรงงานกลุ่มที่ต้องอาศัยรายได้จากการทำงานล่วงเวลา (OT) ฯลฯ เมื่อแรงงานที่มีรายได้น้อย อาจจะมีรายได้น้อยกว่าปกติ จึงมีความน่าเป็นห่วงไม่แพ้กลุ่มคนที่ตกงานไปแล้ว และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐต้องดูแล

 

ส่วนการส่งออกเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 11.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) หากไม่รวมการส่งออกทองคำ ขณะที่มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ 14.3% โดยเป็นการหดตัวน้อยลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนทั้งที่รวมและไม่รวมการส่งออกทองคำ ตามการส่งออกที่ปรับดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า เช่น หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศ ทั้งนี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีความเสี่ยงเรื่องการระบาดระลอกสอง หากมีการล็อกดาวน์ ทั้งหมดอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่หากไม่มีการล็อกดาวน์ ทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมามองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/63 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ 

 

ขณะที่ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับสูงขึ้นเป็นหลัก โดยมองว่ามาจากมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐบางมาตรการที่สิ้นสุดลง ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล ตามดุลการค้าที่เกินดุลสูงขึ้นจากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายใกล้สมดุล ส่วนค่าเงินบาทแม้ว่าจะปรับอ่อนค่าในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจากปัจจัยภายในประเทศ แต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X