กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม นำโดยอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 คน พร้อมด้วยนักวิชาการและคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์จากหลายสถาบัน รวมทั้งหมด 830 คน ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 แสดงความห่วงใยต่อความพยายามครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านกระบวนการคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หลังเลื่อนการพิจารณาลงมติออกไปเป็นวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมยืนยันว่าไม่ได้มุ่งเน้นประเด็นความสามารถของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยเฉพาะกรณีของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง และ พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ แต่ต้องการรักษาหลักการสำคัญคือ ‘ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง’
โดยผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย “ต้องไม่เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นทางการเมือง และต้องไม่เคยกระทำหรือแสดงให้เห็นถึงเจตนาในการแทรกแซงและกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายทางการเงินตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ”
ท่ามกลางข้อโต้แย้งที่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรมีความเป็นอิสระจากการเมือง เนื่องจากเคยทำผิดพลาดในวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมชี้แจงว่า การอ้างความผิดพลาดในอดีตเพื่อเข้าแทรกแซงไม่เป็นเหตุผลเพียงพอ เพราะข้อมูลเชิงประจักษ์จากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าการแทรกแซงมักก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีอย่างเทียบไม่ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- วิกฤต ‘หนี้สูง ศก. โตต่ำ’ ทั่วโลก สร้างแผลลึกแก่เศรษฐกิจไทยอย่างไร? | Exclusive Interview EP.10
- ทำไมแบงก์ชาติยอมลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี อะไรอยู่เบื้องหลัง? I Exclusive Interview EP.8
- จุดยืนคัดค้านการเมืองครอบงำแบงก์ชาติ ยึดหลักการต้องรักษาระยะห่างที่เหมาะสมฝ่ายการเมืองกับธนาคารกลางตามหลักการสากล
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมยังเน้นย้ำว่า หลักการความเป็นอิสระของธนาคารกลางที่ยึดถือกันทั่วโลก จะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือของการดำเนินนโยบายการเงิน หากธนาคารกลางถูกสั่งการโดยฝ่ายการเมือง อาจทำให้เกิดความเสี่ยงเชิงนโยบายที่กระทบภาคธุรกิจอย่างมาก
และที่สำคัญที่สุดคือ ความสามารถในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายอาจหมดไป ส่งผลให้เงินเฟ้อทะยานสูงและควบคุมได้ยาก
ทั้งนี้ กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมเรียกร้องให้คณะกรรมการคัดเลือกทั้ง 7 คน พิจารณาคัดเลือกประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยตามคุณสมบัติที่เป็นหลักสากล
โดยคำนึงถึงประโยชน์และเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ปราศจากความเกรงใจและความสัมพันธ์ทางการเมือง เพื่อรักษาธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นสถาบันที่เป็นอิสระจากการครอบงำเพื่อหาผลประโยชน์ในระยะสั้นทางการเมือง
หมายเหตุ: ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 มีผู้ร่วมลงนามสนับสนุนข้อเรียกร้องแสดงความห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทยกับกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมแล้ว 830 คน (รวมผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 คน)