×
SCB Omnibus Fund 2024

ธปท. จับมือคลัง ลุยจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครั้งใหญ่เริ่ม 26 ก.ย. นี้ ยาวถึงต้นปีหน้า หวังช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือน

01.09.2022
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธปท. จับมือคลัง เตรียมเปิดให้ลูกหนี้เจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ผ่านระบบออนไลน์ 26 กันยายน – 30 พฤศจิกายนนี้ พร้อมเดินหน้าจัดมหกรรมแก้หนี้สัญจร กทม. และ 4 ภูมิภาค ต่อในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 หวังช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือน

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง เตรียมร่วมกันจัดงาน ‘มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน’ เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาเป็นปกติจากสถานการณ์โควิด หรือได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดงานจะถูกแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

 

ระยะแรก เป็นการเปิดช่องทางการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่างลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือกับเจ้าหนี้ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2565 เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยในครั้งนี้กระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้จับมือกับสมาคมสถาบันการเงินต่างๆ และชมรมของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยขณะนี้มีสถาบันการเงินตอบรับเข้าร่วมแล้ว 56 ราย ครอบคลุมหนี้จากสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถ จำนำทะเบียนรถ นาโนไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อที่อยู่กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ และสินเชื่อทุกประเภทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

 

ระยะที่สอง กระทรวงการคลัง และ ธปท. ร่วมกับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจะเพิ่มโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินควบคู่กับการสร้างวินัยทางการเงิน รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนที่มีความจำเป็นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินของรัฐ และจะจัดงานมหกรรมสัญจร ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะจัดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566

 

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาใหญ่ที่สั่งสมมานานจากหลายสาเหตุ ซึ่งการแก้ไขต้องใช้เวลาและทำอย่างครบวงจรโดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่สำคัญต้องพิจารณาถึงแนวทางที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงผลข้างเคียงต่างๆ โดยเฉพาะต่อลูกหนี้อย่างรอบด้าน

 

การจัดมหกรรมแก้หนี้ในครั้งนี้ จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาเป็นปกติจากสถานการณ์โควิด หรือได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างครอบคลุมและตรงจุด

 

นอกจากนี้ในการดูแลภาระหนี้สินภาคครัวเรือนให้ครบวงจร ธปท. จะออกแนวนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เช่น หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ซึ่งครอบคลุมการปล่อยหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ และการให้ข้อมูลที่ลูกหนี้ควรรู้อย่างถูกจังหวะเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมให้เกิดวินัยทางการเงิน รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและประสานการทำงานของทุกภาคส่วนในเรื่องนี้ต่อไป อนึ่ง เพื่อขยายความช่วยเหลือให้ลูกหนี้เช่าซื้อลีสซิ่งได้รับความคุ้มครองทางการเงินมากขึ้น ธปท. อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อออกกฎหมายในการกำกับดูแลธุรกิจนี้เพิ่มเติมอีกด้วย

 

“หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีหลัง ที่เศรษฐกิจไทยถูกกระทบรุนแรงจากสถานการณ์โควิด แต่ไม่ใช่หนี้ทุกประเภทที่น่ากังวลใจ หากเป็นหนี้ที่กู้ยืมไปเพื่อประกอบธุรกิจหรือที่อยู่อาศัยเรายังถือว่าเป็นหนี้ที่มีประโยชน์ แต่กลุ่มที่เรากังวลใจคือหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 23% ของหนี้ครัวเรือน” รณดลกล่าว

 

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. และกระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การแก้ไขหนี้ทำได้อย่างยั่งยืน สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง โดยประกอบด้วย 3 ส่วน ทั้งการ ‘แก้หนี้เดิม’ เพื่อช่วยผ่อนปรนภาระให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง ‘เติมเงินใหม่’ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นและเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

 

โดยล่าสุด ธปท. และกระทรวงการคลังได้ปรับปรุงเงื่อนไขสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจที่มีความพร้อม ให้สามารถลงทุนเพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจ ให้ทันกระแสดิจิทัลและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ‘ให้คำปรึกษาและเสริมทักษะทางการเงิน’ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจการเป็นหนี้และมีการวางแผนทางการเงิน โดยให้การช่วยเหลือครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งรายย่อย SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่

 

“การจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในครั้งที่ผ่านมาของเราได้รับผลตอบรับที่ดีมาก สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ที่เข้าร่วมได้กว่า 80% คิดเป็นจำนวนลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 222,164 บัญชี และสินเชื่อเช่าซื้อ 9,631 บัญชี โดยเราคาดหวังว่าการจัดงานในรอบนี้จะเป็นช่องทางให้กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาเดินเข้ามาเจรจากับเจ้าหนี้ เป็นการช้อนลูกหนี้กลุ่มที่ธนาคารติดต่อไม่ได้ให้กลับเข้ามาในระบบ” สุวรรณีกล่าว

 

พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า การแก้หนี้ที่ยั่งยืนนอกเหนือจากการไกล่เกลี่ยและบรรเทาภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมแล้ว สิ่งสำคัญคือการสร้างทักษะทางการเงินและความรู้ในการประกอบอาชีพแก่ประชาชนรายย่อย เพื่อให้สามารถมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคง และสามารถบริหารจัดการทางการเงินต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม กระทรวงการคลังได้มีการผลักดันให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจพัฒนาองค์ความรู้ทางการเงิน ความรู้ในการประกอบอาชีพ และความรู้ด้านดิจิทัล เพื่อนำไปสื่อสารให้แก่ประชาชนรายย่อยทั่วประเทศ รวมถึงมีแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565-2570 โดยมีเป้าหมายในการปลูกฝังความรู้ทางการเงินตั้งแต่เด็ก และต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องนี้ไปตลอดช่วงอายุของชีวิต

 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ ธปท. หวังว่างานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ที่ครอบคลุมประเภทหนี้และเจ้าหนี้ที่มากกว่างานครั้งก่อน จะช่วยให้ประชาชนสามารถแก้ปัญหาภาระหนี้ที่มีอยู่ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ พร้อมกับได้รับการส่งเสริมความรู้และสร้างวินัยทางการเงิน เพื่อหลุดพ้นจากกับดักหนี้ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเริ่มเปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising