×

แบงก์ชาติ งัดมาตรการจูงใจรวมหนี้ หวังลดข้อจำกัดการรีไฟแนนซ์ บรรเทาภาระดอกเบี้ยให้ลูกหนี้

22.11.2021
  • LOADING...
แบงก์ชาติ

แบงก์ชาติเปิดมาตรการช่วยรายย่อย สนับสนุนการรีไฟแนนซ์และรวมหนี้ให้อยู่ภายในสถาบันการเงินเดียวกัน หวังช่วยลดภาระดอกเบี้ย จูงใจแบงก์ด้วยการคำนวณน้ำหนักความเสี่ยงสินเชื่อรายย่อยที่รวมเข้ามาเท่าสินเชื่อบ้านที่ 35% ตลอดอายุสัญญา ช่วยลดต้นทุนการตั้งสำรอง พร้อมกำชับแบงก์ห้ามเก็บค่าปรับ Prepayment Fee เปิดทางลูกหนี้สินเชื่อบุคคลโปะหนี้ก่อนกำหนด

 

อรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรีไฟแนนซ์ (Refinance) และการรวมหนี้ (Debt Consolidation) ว่ามาตรการรวมหนี้ครั้งนี้ได้ขยายขอบเขตการรวมหนี้ทั้งสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นให้สามารถทำข้ามสถาบันการเงินได้ด้วย 

 

จากเดิมที่การรวมหนี้ทำได้เฉพาะหนี้ในสถาบันการเงินเดียวกัน ช่วยให้ลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยลดลง โดยลูกหนี้สามารถนำหนี้รายย่อยอื่นๆ มารวมกับสินเชื่อบ้านที่เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน ความเสี่ยงและอัตราดอกเบี้ยจึงต่ำกว่า ทำให้ลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยและการผ่อนค่างวดลดลง

 

ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญของการรวมหนี้คือภาระหนี้ของลูกหนี้ต้องลดลงจริง หรือดอกเบี้ยต้องไม่เกินดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเดิมบวก 2% สนับสนุนให้ลูกหนี้บริหารจัดการหนี้ได้ดีขึ้นจริง ดังนั้นสถาบันการเงินผู้รับโอนหนี้จะต้องมีหลักฐานการชำระกลับไปยังเจ้าหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคล ทั้งนี้การรวมหนี้ต้องไม่เกินมูลค่าหลักประกัน

 

ขณะเดียวกัน ธปท. ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการรวมหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทั้งการจัดชั้นหนี้ การกันเงินสำรอง และการดำรงเงินกองทุน เพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินที่ช่วยเหลือลูกหนี้ โดยสถาบันการเงินที่รับรวมหนี้จะสามารถคำนวณน้ำหนักความเสี่ยงสินเชื่อ (Risk-Weight) รายย่อยอื่นที่รับรวมเข้ามาในระดับเดียวกับการคำนวณน้ำหนักความเสี่ยงสินเชื่อบ้านจะอยู่ที่ 35% ไปตลอดอายุสัญญา จากปกติที่น้ำหนักความเสี่ยงสินเชื่อรายย่อยจะอยู่ที่ 75% เท่ากับต้นทุนของสถาบันการเงินลดลง 50%

 

“ในมุมของสถาบันการเงินแม้จะมีรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง แต่ได้ประโยชน์จากการรวมหนี้ นอกจากต้นทุนที่ลดลงแล้วยังช่วยให้สถาบันการเงินสามารถบริหารความเสี่ยงดีขึ้นด้วย หากลูกหนี้มีคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับการผ่อนปรนหลักเกณฑ์จาก ธปท. อีกด้วย”

 

นอกจากนี้ ธปท. จะผลักดันการรวมหนี้ด้วยการลดต้นทุนการรีไฟแนนซ์ โดยการห้ามสถาบันการเงินเรียกเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (Prepayment Fee) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เอื้อให้กับลูกหนี้สินเชื่อบุคคคสามารถโปะหนี้ได้ก่อนกำหนด น่าจะช่วยเพิ่มการแข่งขันสินเชื่อรายย่อยอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะทยอยเสนอผลิตภัณฑ์การรวมหนี้ได้ภายในสิ้นปีนี้

 

อรมนต์กล่าวว่า ประโยชน์จากการรวมหนี้ที่ลูกหนี้ได้รับคือ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง เพราะดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยแต่ละประเภทมีตั้งแต่ระดับ 16-33% ขณะที่ดอกเบี้ยจากการรวมหนี้จะอยู่ที่ราว 8% เท่านั้น (ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านอยู่ที่ MRR 6% + 2%) ช่วยให้ลูกหนี้ตัวเบาขึ้นได้  

 

นอกจากนี้ยังช่วยบริหารจัดการการชำระหนี้ให้มาอยู่ในบิลเดียว ส่วนความกังวลเรื่องข้อมูลเครดิตหากเข้าปรับโครงสร้างหนี้นั้น หากลูกหนี้ยังไม่เป็นหนี้เสียจะไม่มีการรายงานข้อมูลเครดิต ลูกหนี้จึงควรเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสีย 

 

อีกหนึ่งประเด็นที่ลูกหนี้ควรรู้ คือลูกหนี้จะต้องให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลกับสถาบันการเงิน เพื่อกระบวนการรวมหนี้ไหลลื่นขึ้น นอกจากนี้ ธปท. ขอความร่วมมือสถาบันการเงินปรับลดวงเงินของลูกหนี้เท่ากับจำนวนหนี้ที่รีไฟแนซ์ออกไปเพื่อลดภาระหนี้ของลูกหนี้อีกด้วย

 

ด้าน สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 กล่าวว่า ความคืบหน้ามาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ในส่วนของการแก้หนี้เดิมนั้นได้ช่วยเหลือลูกหนี้ภาคธุรกิจและรายย่อยไปแล้ว 6.69 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.82 ล้านล้านบาท ส่วนมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีลูกหนี้เข้าร่วม 178 ราย คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนมา 2.5 หมื่นล้านบาท จากผู้ประกอบการกลุ่มโรงแรม อพาร์ตเมนต์ โรงงาน สปา

 

สำหรับการให้สินเชื่อฟื้นฟูนั้นได้รับการอนุมัติแล้ว 1.26 แสนล้านบาทจากวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เป็นลูกหนี้กว่า 4 หมื่นราย หรือเฉลี่ย 3.2 ล้านบาท ช่วยกระจายเม็ดเงินให้กับลูกหนี้ SMEs ขนาดกลางและรายเล็กจำนวนมาก

 

ส่วนสินเชื่อดิจิทัลพีโลน ที่ ธปท. ได้ให้ไลเซนส์กับผู้ประกอบการไปแล้ว 7 ราย เริ่มปล่อยสินเชื่อได้แล้ว 4 ราย ทำให้ยอดคงค้างล่าสุดอยู่ที่ 2 พันล้านบาท จากลูกหนี้ 4.16 แสนราย หรือเฉลี่ยรายละ 5,000 บาท เป็นการกระจายสินเชื่อให้ผู้ที่เข้าไม่ถึงระบบการเงินได้

 

ในด้านของการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวนั้นมีผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อใหม่ในช่วงมีนาคม-ตุลาคม 2563 แล้ว 1.25 แสนล้านบาท ผ่านสถาบันการเงินและสินเชื่อซอฟต์โลน ส่วนการแก้ไขหนี้เดิมนั้นมีลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ 2.92 แสนล้านบาท ที่เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธปท. พยายามดูแลสถาบันการเงินให้มีความมั่นคง ทำหน้าที่ในระบบเศรษฐกิจได้ โดยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังเติบโตดีเมื่อเทียบภูมิภาค โดยสิ้นไตรมาส 3 สินเชื่อมีการเติบโต 5.6% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด ขณะที่คุณภาพสินเชื่ออาจจะเสื่อมเล็กน้อยซึ่งมาตรการช่วยเหลือที่ออกมาช่วยชะลอคุณภาพสินเชื่อได้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising