×
SCB Omnibus Fund 2024

เปิดใจแบงก์ชาติเมื่อต้องปรับโครงสร้าง FX-ขยาย 3 มาตรการคุมบาทแข็งเร็ว

23.11.2020
  • LOADING...
เปิดใจแบงก์ชาติเมื่อต้องปรับโครงสร้าง FX-ขยาย 3 มาตรการคุมบาทแข็งเร็ว

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เงินบาทแข็งค่า 3.1% จากสิ้นเดือนตุลาคม 2563 รับผลเงินต่างชาติไหลเข้าประเทศเกิดใหม่และไทย หลังข่าววัคซีนใกล้สำเร็จและความเชื่อมั่นนักลงทุนเพิ่ม
  • ธปท. ออก 3 มาตรการคุมบาทแข็งเร็ว เปิดเสรีการลงทุนต่างประเทศ-เปิดเสรี FCD-ซื้อตราสารหนี้ต้องระบุตัวตน หวังแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยนให้สมดุลในระยะยาว

ช่วงที่ผ่านมา ธปท. และทุกฝ่ายมองว่าค่าเงินบาทผันผวนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในขาอ่อนค่าและแข็งค่า แต่ช่วงที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือช่วงปลายเดือนตุลาคม ถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว 

 

ปัจจุบันค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าต่อเนื่องราว 3.1% จากวันที่ 28 ตุลาคม อยู่ที่ราว 31.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุเพราะเม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้าตลาดเงินกลุ่มประเทศเกิดใหม่และไทย

 

จากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ผู้ที่ดูแลเสถียรภาพตลาดเงินของไทยอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดูแลค่าเงินมาตลอดประกาศว่าจะออกมาตรการเพิ่มเติม แต่ทำไมต้องออกมาตรการในช่วงนี้?

 

ธปท. ย้ำจุดยืนดูแลค่าเงินมาตลอด ถึงเวลาสร้าง FX Ecosystem ใหม่

วชิรา อารมย์ดี ​ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่ผันผวนสูงช่วงที่ผ่านมาเกิดจากปัจจัยนอกประเทศเป็นหลัก ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และข่าวการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น และหันกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว

 

ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาจาก 3 ปัญหาใหญ่ที่มีอยู่เดิม ได้แก่ 

 

  1. ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ไทยมีเงินเข้าประเทศมากแต่มีขาออกน้อยกว่า 
  2. ผู้ประกอบการยังเข้าไม่ถึงระบบการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
  3. ผู้เล่นต่างประเทศและปัจจัยภายนอกมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทค่อนข้างสูง 

 

ต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ดังนั้น ธปท. ที่ติดตามและเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่อง จึงออกมาตรการในการดูแลค่าเงินที่จะช่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงสร้างสมดุลในตลาดค่าเงินด้วย โดยการออกมาตรการเพิ่มเติมในวันนี้เป็นการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX Ecosystem) 

 

ซ้าย – วชิรา อารมย์ดี ​ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.
ขวา – ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.

 

ปรับโครงสร้างเพิ่มสมดุลเงินบาททั้งขาเข้า-ขาออก ลดผลปัจจัยภายนอก

วชิราเล่าว่า การทำ FX Ecosystem ใหม่นี้ก็เพื่อสร้างสมดุลในการเคลื่อนย้ายของเงินทุนมากขึ้น ทั้งเงินขาเข้าประเทศและขาออกประเทศต้องสมดุลกัน เพราะส่วนหนึ่งเมื่อเงินไหลเข้ามาในประเทศมาก จะมีข้อดีคือสภาพคล่องสูงขึ้น แต่หากเม็ดเงินเข้ามามากเกินไปอาจกระทบต่อเสถียรภาพได้

 

ดังนั้นสร้างสมดุลต้องทำทั้งในมิติการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างผ่านการเปิดเสรีให้การลงทุนในต่างประเทศของรายย่อยและสถาบันสะดวกและง่ายขึ้น โดยต้องสร้างการแข่งขันในกลุ่มผู้ให้บริการ เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและมีต้นทุนถูกลงในการบริหารความเสี่ยง ที่สำคัญต้องมีข้อมูลเพื่อการประเมินความเสี่ยงในการออกมาตรการที่ทันสถานการณ์ นำสู่ 3 มาตรการของ ธปท. ที่ออกมาในวันนี้ 

 

3 มาตรการของ ธปท. ในการสร้าง FX Ecosystem  

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. สรุป 3 มาตรการที่ออกมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ว่า

 

  1. เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ได้เสรี เช่น การโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี เพื่อให้ผู้ประกอบการทำธุรกรรมได้สะดวก และสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศได้ทั้งการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ การซื้อขายทองคำเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

 

  1. การปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ มี 3 ส่วน ได้แก่
  • เพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากเดิม 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)
  • ยกเลิกการจำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับนักลงทุน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 
  • เปิดให้นำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยโดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศได้

 

  1. การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ เพื่อให้ ธปท. มีข้อมูลเพื่อติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีข้อมูลที่ช่วยให้ ธปท. ออกนโยบายได้ตรงจุดและทันการณ์ โดยต่างประเทศมีแนวทางการดูแลที่แตกต่างกัน (ข้อมูลเพิ่มในภาพ)

 

 

ทั้งนี้การเปิดเสรีบัญชี FCD (1) และการปรับเกณฑ์ฯ การลงทุนในต่างประเทศ (2) จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันนี้ และคาดว่าสิ้นเดือนนี้จะเริ่มทำธุรกรรมได้เลย ขณะที่การลงทะเบียนยืนยันตัวตน (3) อยู่ระหว่างการพูดคุยกับ ก.ล.ต. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคาดว่าปีหน้าจะเริ่มใช้จริง

 

อย่างไรก็ตาม การดูแลและปรับโครงสร้างค่าเงินในไทย ธปท. มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ที่ ธปท. เปิดให้นักลงทุนรายย่อยสามารถไปลงทุนตรงในต่างประเทศได้สูงสุด 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ 

 

ขณะเดียวกันการเปิดเสรีที่มากขึ้นก็หมายถึงการติดตามจะกลายเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นโจทย์ใหญ่ให้ ธปท. ต้องออกมาตรการที่ตรงจุดและทันการณ์ยิ่งขึ้น

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising