วันนี้ (1 กุมภาพันธ์) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ยักษ์ใหญ่ด้านการเงินของญี่ปุ่น จัดการแถลงเกี่ยวกับทิศทางของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2567-2569) โดยธนาคารจะมุ่งสร้างการเติบโตในระดับภูมิภาคเพื่อเป็นธนาคารชั้นนำในระดับอาเซียน
เคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ BAY เปิดเผยว่า ตลอดหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมากรุงศรีมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี เติบโตขึ้น 3 เท่าตัว จากราว 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของกรุงศรีหลังจากนี้ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะมาจากธุรกิจในต่างประเทศซึ่งอยู่ในภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก แม้ว่ารายได้ส่วนใหญ่จะยังคงมาจากธุรกิจในประเทศ ปัจจุบันกรุงศรีมีธุรกิจอยู่ใน 9 ประเทศในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย
“เมื่อปีก่อนรายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ราว 14% แต่ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ด้วยข้อจำกัดที่น้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดอกเบี้ย การขยายตัวของ GDP รวมทั้งฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น”
สำหรับปี 2567 กรุงศรีคาดว่าการปล่อยสินเชื่อโดยภาพรวมจะขยายตัวได้ 3-5% ซึ่งมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 4-6% จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น 2-3% สินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น 3-5% ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในต่างประเทศน่าจะขยายตัวได้มากถึง 13-15%
โมเดลธุรกิจของกรุงศรีในการบุกอาเซียนคือการเข้าไปซื้อธุรกิจสินเชื่อบุคคลอย่างที่เกิดขึ้นแล้วกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ หากมองไปข้างหน้าจะเห็นว่าโอกาสในต่างประเทศเปิดกว้างกว่าในประเทศ โดยเฉพาะหากดูจากแนวโน้มการเติบโตของ GDP นอกจากนี้กรุงศรียังมีจุดเด่นจากการเป็นธุรกิจในเครือของ MUFG
ส่วนความท้าทายที่สำคัญคือการทำความเข้าใจกับบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และการพยายามสร้าง Synergy ระหว่างธุรกิจแต่ละประเทศ
“การเติบโตของสินเชื่อในไทยปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 2-3% สอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้แต่ละแบงก์มุ่งดูแลเรื่องหนี้ครัวเรือน และปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ”
ทั้งนี้ กรุงศรีคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของบริษัทในปีนี้จะอยู่ระหว่าง 3.8-4.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 3.9% ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) น่าจะอยู่ในระดับ 2.5-2.75% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 2.5% ส่วนงบลงทุนในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ราว 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี