×

เมื่อแผ่นดินไหว ทำไมคนกรุงเทพฯ ถึงกลับบ้านไม่ได้? บทเรียนราคาแพงของระบบขนส่งไทยที่ล้มเหลว?

29.03.2025
  • LOADING...
การจราจรกรุงเทพฯ หลังเหตุแผ่นดินไหวที่ติดขัดอย่างหนัก คนเดินเท้ากลับบ้านเนื่องจากขาดทางเลือกในการเดินทาง

นับเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 95 ปี สำหรับเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ความลึก 10 กม. จุดศูนย์กลางบริเวณประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนสู่หลายพื้นที่ในประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนสร้างความเสียหายต่ออาคารสูงและพรากชีวิตของผู้คนไปจำนวนมาก

 

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชน มีการอพยพออกจากตึกสูง หลายสถานที่ประกาศปิดอาคาร หน่วยงานและบริษัทประกาศปิดให้บริการ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องเดินทางอย่างเร่งด่วน ทำให้การจราจรเป็นอัมพาตไปทั่วเมือง

 

เช่น เชียงใหม่พบว่าระดับความแออัดเพิ่มขึ้นกว่าเวลาปกติถึง 50% ขณะที่กรุงเทพมหานคร รถเคลื่อนตัวได้เฉลี่ยเพียง 13 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และแม้เหตุแผ่นดินไหวผ่านไปแล้ว 8 ชั่วโมง ก็ยังไม่สามารถกลับไปเป็นการจราจรแบบปกติได้

 

ทีมวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดย ธมลวรรณ ทาสุวรรณ, ศุภวิชญ์ สันทัดการ, ชัยพร ชุ่มบุญชู, สิทธา ตรีพรชัยศักดิ์ และนภสินธุ์ คามะปะโส ได้ออกบทความวิเคราะห์มาดังนี้

 

ทางเลือกในการเดินทางหายไปไหน?

 

จากสถานการณ์แผ่นดินไหว รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครต้องหยุดการเดินรถกว่า 10 ชั่วโมง และบางสายมากกว่านั้น เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย ทำให้ประชาชนที่ใช้รถไฟฟ้ากว่าล้านคนหมดทางเลือก

 

แม้ว่ารถโดยสารประจำทางอาจดูน่าสนใจ แต่ก็ประสบปัญหาจำนวนเที่ยวไม่เพียงพอ แม้ภาครัฐจะประกาศว่าจะมีการจัดสรรรถโดยสารให้เพียงพอ แต่เนื่องจากไม่สามารถประเมินความต้องการที่แน่ชัดได้ อีกทั้งรถบางส่วนก็เผชิญกับปัญหาการจราจรที่เป็นอัมพาต

 

การให้บริการเรือโดยสารยังคงดำเนินตามปกติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรือโดยสารนั้นไม่ใช่รูปแบบการเดินทางหลักที่คนนิยมและไม่สามารถรองรับคนจำนวนมากได้

 

นอกจากนี้ การให้บริการรถรับจ้าง ทั้งรถแท็กซี่ รถยนต์รับจ้างผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ วินจักรยานยนต์ ก็มีจำนวนรถที่ขาดแคลน ส่งผลให้อัตราค่าโดยสารพุ่งสูงกว่าเวลาปกติถึง 2-3 เท่า ในยามไร้ทางเลือก ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายคนต้องยอม ‘เดินเท้า’ ในระยะทางหลายกิโลเมตรเพื่อเดินทางให้ถึงที่พักอาศัย

 

สถานการณ์นี้จึงไม่ใช่แค่การจราจรที่เป็นอัมพาต แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึง ‘ระบบขนส่งที่อัมพาต’ ซึ่งอาจไม่เป็นปัญหาสำคัญหากภัยพิบัติที่เกิดไม่มีความรุนแรงมากนัก แต่หากวันใดภัยพิบัติมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แผนการรับมือด้านระบบขนส่งสาธารณะของภาครัฐจะเป็นอย่างไร?

 

พฤติกรรมการเดินทางยามวิกฤติ คาดเดายาก แต่เตรียมการได้

 

ภัยพิบัติย่อมสร้างความตื่นตระหนกและเร่งให้ประชาชนต้องเคลื่อนย้าย โดยภัยพิบัติบางประเภทสามารถคาดการณ์เวลาและพื้นที่เสี่ยงได้ล่วงหน้า เช่น น้ำท่วม ลมพายุ รัฐสามารถคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงและจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยรับผู้อพยพล่วงหน้าได้

 

ในขณะที่ภัยพิบัติบางประเภท เช่น แผ่นดินไหว ไฟไหม้ เป็นเหตุที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ต้องอาศัยการซักซ้อมเตรียมการและวางแผนรับมือล่วงหน้า ตั้งแต่ยังไม่ทราบว่าจะมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น

 

ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติแบบใด เมื่อเกิดเหตุแล้วย่อมมีโอกาสที่จะมีผู้เสียหายตกค้างอยู่ในจุดเกิดเหตุ การเคลื่อนย้ายในระยะนี้คือการลำเลียงความช่วยเหลือ เช่น น้ำ เสบียง และหน่วยกู้ชีพ เข้าสู่พื้นที่เกิดเหตุ และการเคลื่อนย้ายผู้เสียหายออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด

 

สิ่งสำคัญคือการเคลื่อนย้ายอย่างเป็นแบบแผน ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำต้องรู้ว่าจุดใดคือจุดเสี่ยงที่ต้องหลีกเลี่ยง จุดใดคือจุดปลอดภัยที่ต้องพาตัวเองไปให้ถึง พร้อมกันนั้น รัฐต้องเตรียมวิธีการและสนับสนุนการเคลื่อนย้ายให้เกิดขึ้นอย่างราบรื่นและเกิดความเสียหายน้อยที่สุด

 

บทเรียนจากต่างประเทศ: ระบบขนส่งควรรับมืออย่างไร?

 

การไม่มีแผนการรับมือกับภัยพิบัติอย่างรัดกุม ทำให้ทางเลือกการเดินทางถูกตัดหายไป รถไฟฟ้าต้องยุติการให้บริการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยโดยไม่มีการแจ้งกรอบเวลาที่ชัดเจน ขณะที่การเดินทางทางถนนบางส่วนถูกตัดขาดจากเศษวัสดุจากอาคารที่หล่นลงมา รวมทั้งมีรถยนต์จำนวนมากที่ประชาชนขับหนีออกจากอาคารมาอยู่บนถนน

 

เมื่อหันไปมองในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น ที่เป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง และมีแผนรับมือด้านการขนส่งอย่างเป็นระบบนั้น มีแนวทางที่สำคัญดังนี้:

 

  • กำหนดแนวทางในการรับมือกับภัยพิบัติในทางเลือกของระบบโครงข่ายการขนส่งต่างๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะกับรถไฟฟ้า ซึ่งในกรณีที่เผชิญกับภัยพิบัติไม่รุนแรงมากนักจะให้บริการเดินรถตามปกติ แต่กำหนดความเร็วในอัตราต่ำกว่า 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัย และคอยตรวจสอบความปลอดภัยตลอดเวลา
  • ประเมินความต้องการเดินทางขนส่งผู้โดยสารในทางเลือกของระบบโครงข่ายการขนส่งต่างๆ ที่สำคัญ และการประเมินความสามารถในการรองรับการเดินทางที่เป็นทางเลือกสำรองในกรณีฉุกเฉินที่ร้ายแรงที่ชัดเจน เช่น จำนวนยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งคน รอบ และจำนวนเที่ยวในการขนส่ง เพื่อให้มีความแน่ใจว่าจะสามารถอพยพประชาชนได้อย่างทันท่วงที

 

แผนรับมือของไทยพร้อมหรือยัง?

 

ประเทศไทยมีกรอบการบริหารจัดการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติโดยมีความพยายามในการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม จากบทเรียนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความคุ้นชินกับการรับมือภัยพิบัติที่มีระยะเวลามากพอให้เตรียมการ แต่ขาดแนวทางการรับมือภัยที่มีความปัจจุบันทันด่วน แม้จะมีการจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภายหลังจากเกิดแผ่นดินไหวไม่นาน แต่การสื่อสารกับประชาชนเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

 

ประกาศทางการของกรมอุตุนิยมวิทยายังใช้เวลามากกว่า 30 นาทีหลังเกิดเหตุการณ์ในการแจ้งเหตุ ทำให้ผู้คนต้องไปรับข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเผยแพร่ข่าวปลอมจำนวนมาก

 

ในขณะที่ช่องทางที่สามารถสื่อสารได้ง่ายอย่าง SMS จากรัฐบาลนั้นมีความล่าช้าอย่างมาก ใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมงกว่าประชาชนจะได้รับข้อความในมือถือ

 

ข้อเสนอแนวทางการรับมือ

 

ภาครัฐควรมีแนวทางรับมือกับสาธารณภัยในลักษณะนี้ ดังนี้:

 

  • กำหนดแนวทางการสื่อสารอย่างชัดเจน โดยกระทรวงคมนาคมดำเนินการร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสื่อสารกับประชาชนถึงแนวทางการเลือกรูปแบบการเดินทางที่เหมาะสมในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ
  • ควรจัดให้ระบบขนส่งสาธารณะมีความพร้อมรองรับประชากรในทันทีหลังส่งข้อความ แต่ต้องไม่เป็นเหตุให้การสื่อสารมีความล่าช้าจากการเตรียมการ
  • แผนการจัดการทางด้านการขนส่งอย่างเป็นระบบ ผ่านการประเมินความต้องการในการใช้บริการ และความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของช่องทางการขนส่งสำรองในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ
  • กำหนดคู่มือ แนวทาง และวิธีปฏิบัติที่ใช้ดุลยพินิจน้อยที่สุด ในการเลือกปิดหรืองดให้บริการระบบขนส่งรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของสาธารณภัยที่เกิดขึ้น

 

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการรับมือภัยพิบัติของไทยแม้ว่ามีแผนการรับมือที่ชัดเจนแล้ว แต่ยังขาดการปรับตัวเพื่อรับมือกับสาธารณภัยรูปแบบใหม่ๆ หน่วยงานที่มีหน้าที่สำคัญในการสื่อสารยังขาดความรวดเร็วในการดำเนินงาน ทำให้เกิดความล่าช้าอย่างมาก อีกทั้งการรับมือในบางจุดยังมีลักษณะที่เกินกว่าเหตุ ก่อให้เกิดความไม่สบายใจให้กับประชาชน

 

“การออกแบบเมืองอันรวมถึงระบบการขนส่ง และการรับมือภัยพิบัติจึงไม่ควรจำกัดอยู่กับมุมมองในอดีตที่ผูกอยู่กับประสบการณ์แบบเดิมๆ แต่ควรเป็นมุมมองที่เพ่งพินิจไปถึงอนาคตอย่างละเอียดและรัดกุม” ทีดีอาร์ไอระบุ

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising