วันนี้ (12 ธันวาคม) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2567 โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครและผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม
โดยวันนี้ที่ประชุมรายงานเรื่องมาตรการลดฝุ่นของกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครจัดทำแผนลดฝุ่น 365 วัน สำหรับระยะปกติ ที่มีค่าฝุ่นเป็นสีฟ้า-เขียว โดยดำเนินการดังนี้
- ติดตามเฝ้าระวัง ได้แก่ นักสืบฝุ่น Risk Map แจ้งเตือน 1 ครั้งต่อวัน เซ็นเซอร์ตรวจวัด 1,000 จุด
- กำจัดต้นตอ ได้แก่ ตรวจควันดำ (รถยนต์ อู่รถเมล์ รถบรรทุก) ตรวจคุณภาพอากาศเชิงรุก รถอัดฟาง Feeder พัฒนาทางเท้า จัดการจุดฝืด Bike Lane และส่งเสริม EV
- ป้องกันประชาชน ได้แก่ ธงคุณภาพอากาศ ห้องปลอดฝุ่น DIY เครื่องฟอกอากาศ และปลูกต้นไม้ล้านต้น
- สร้างการมีส่วนร่วม ได้แก่ แอปพลิเคชัน Traffy Fondue และสภาลมหายใจ
ส่วนในระยะวิกฤต ซึ่งมีค่าฝุ่นเป็นสีเหลือง-ส้ม มีการดำเนินการมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้นขึ้น ดังนี้
- ติดตามเฝ้าระวัง ได้แก่ เพิ่มการจัดตั้ง War Room เพิ่มการแจ้งเตือนเป็น 3 ครั้งต่อวัน เพิ่มการแจ้งเตือนผ่าน LINE ALERT รวมทั้งเพิ่มการติดตาม Hotspot
- กำจัดต้นตอ ได้แก่ ตรวจควันดำ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ (เพิ่มการตรวจบริเวณท่าเรือ / นิคมอุตสาหกรรม) ขอความร่วมมือวัด / ศาลเจ้า งดจุดธูปเทียน ห้ามจอดรถถนนสายหลัก / สายรอง หยุดก่อสร้าง ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ดำเนินมาตรการ Bangkok Low Emission Zone (Bangkok LEZ) และมาตรการ Work from Home
- ป้องกันประชาชน ได้แก่ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ แจกหน้ากากอนามัยเชิงรุก คลินิกมลพิษทางอากาศ และโรงเรียนสู้ฝุ่น
สำหรับมาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใช้อำนาจตามมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 37 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 “เมื่อเกิดหรือใกล้จะเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ใด และการอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดๆ ในพื้นที่นั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชน”
กรุงเทพมหานครมีเป้าหมายเป็นรถบรรทุกดีเซลจำนวนกว่า 106,000 คัน และมีวัตถุประสงค์ในการห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ ชั้นใน ในช่วงที่ฝุ่นอยู่ในช่วงอันตราย เพื่อลดปัจจัยต้นตอสำคัญของมลพิษและลดความอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่
ซึ่งหลักเกณฑ์การออกประกาศเป็นการพิจารณาจากข้อมูลบ่งชี้คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต หรือจากการพยากรณ์ล่วงหน้า 2 วัน ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ระดับสีแดง มากกว่า 5 เขต หรือระดับสีส้ม มากกว่า 15 เขต หรืออัตราการระบายอากาศ (VR) ต้องน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตรต่อวินาที
หากเข้าเกณฑ์ดังกล่าว กรุงเทพมหานครจะพิจารณาออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด (ประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง) รถบรรทุกจะไม่สามารถเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกได้เป็นระยะเวลา 3 วัน มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศ
โดยพื้นที่ในวงแหวนรัชดาภิเษกด้านในแนวถนน มีจำนวน 9 เขต ได้แก่ เขตดุสิต, เขตพญาไท, เขตพระนคร, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, เขตสัมพันธวงศ์, เขตคลองสาน, เขตสาทร, เขตปทุมวัน และเขตบางรัก และแนวถนนผ่าน 13 เขต (31 แขวง) ได้แก่ เขตบางซื่อ (วงศ์สว่าง), เขตจตุจักร (จตุจักร / ลาดยาว / จันทรเกษม / จอมพล), เขตห้วยขวาง (ห้วยขวาง / สามเสนนอก / บางกะปิ), เขตดินแดง (ดินแดง / รัชดาภิเษก), เขตราชเทวี (มักกะสัน), เขตวัฒนา (คลองเตยเหนือ), เขตคลองเตย (คลองเตย), เขตยานนาวา (ช่องนนทรี / บางโพงพาง), เขตบางคอแหลม (บางคอแหลม / บางโคล่), เขตธนบุรี (ดาวคะนอง / สำเหร่ / บุคคโล / ตลาดพลู), เขตบางกอกใหญ่ (วัดท่าพระ), เขตบางกอกน้อย (บางขุนนนท์ / อรุณอมรินทร์ / บางขุนศรี / บ้านช่างหล่อ / ศิริราช) และเขตบางพลัด (บางพลัด / บางบำหรุ / บางอ้อ /บางยี่ขัน)
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและมีแนวโน้มฝุ่นเพิ่มมากขึ้น เป็นค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 10 เขต หรือสีส้ม 25 เขต ประกอบกับการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า 2 วัน อัตราการระบายอากาศน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตรต่อวินาที และทิศทางลมมาจากตะวันออก จะประกาศขยายพื้นที่ไปยังวงแหวนกาญจนาภิเษกเพื่อควบคุมปริมาณฝุ่นต่อไป
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีมาตรการบัญชีสีเขียว (Green List) เปิดให้รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป (ยกเว้น EV, NGV, EURO 5 และ 6) ที่ต้องวิ่งในพื้นที่เขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป โดยผู้ประกอบการสามารถนำรถบรรทุกเข้ากระบวนการบำรุงรักษา เช่น เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและเปลี่ยนไส้กรองอากาศ
จากนั้นลงทะเบียนกรอกแบบฟอร์ม ‘บัญชีสีเขียว’ ประกอบการขอยกเว้นมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมแนบหลักฐานการเข้ากระบวนการบำรุงรักษา โดยกรอกข้อมูลทาง Google Forms ที่ https://bit.ly/47RK0Yy หรือติดต่อกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม โทร. 0 2203 2951
สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปที่ได้รับการยกเว้น (EV, NGV, EURO 5 และ 6) สามารถลงทะเบียนบัญชีสีเขียวได้เช่นกัน เพื่อความสะดวกต่อการกวดขันและตรวจสอบ ตลอดจนเพื่อความสะดวกในการเข้าพื้นที่ Low Emission Zone ทั้งนี้ ปัจจุบันมีจำนวนรถบรรทุกลงทะเบียนบัญชีสีเขียวแล้ว 4,667 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2567)
ด้านมาตรการรถคันนี้ลดฝุ่น กรุงเทพมหานครร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เชิญชวนประชาชนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 – 31 มกราคม 2568 โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 500,000 คัน ส่วนมาตรการ Work from Home ที่เชิญชวนภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมเป็นเครือข่าย Work from Home เมื่อสถานการณ์ฝุ่นเกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จำนวน 5 เขตขึ้นไป ต่อเนื่อง 3 วัน ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 200,000 คน ซึ่งที่ผ่านมามีเครือข่ายร่วม Work from Home 151 แห่ง รวมพนักงานร่วม Work from Home 60,279 คน
สำหรับมาตรการธงคุณภาพอากาศ ดำเนินการในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 437 แห่ง โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและเอกชน 30 แห่ง ดำเนินการในสำนักงานเขต 50 แห่ง และในชุมชน 443 ชุมชน ในส่วนของมาตรการห้องเรียนปลอดฝุ่น ดำเนินการในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 429 แห่ง ในห้องเรียนชั้นอนุบาล 1,966 ห้อง และดำเนินการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดกรุงเทพมหานคร 271 แห่ง