เมื่อวานนี้ (13 ส.ค.) วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับ 15 ธนาคารพาณิชย์ เตรียมยกระดับธุรกิจการเงินให้ยั่งยืน พร้อมปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผลกระทบจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดำเนินธุรกิจโดยละเลยการพิจารณาความเสี่ยงจากปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environment, Social, Governance) รวมถึงตัวอย่างแนวปฏิบัติในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรเพื่อก้าวข้ามปัญหาจากการละเลยปัจจัยดังกล่าว
ซึ่งปัจจัยด้านความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงที่มีผลต่อฐานะทางการเงิน และจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการเงินโดยการนำของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงจะผลักดันให้มีการผนวกปัจจัยด้าน ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ และการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน
โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและการท่องเที่ยวของไทย อีกทั้งยังมีปัญหาน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลิตผลในภาคเกษตรกรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในมิติด้านสังคม
ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย ถ้าหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ จะกลายเป็นความเปราะบางในภาคครัวเรือน จนอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพลูกหนี้และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
นอกจากนี้ปัญหาคอร์รัปชันที่ยังพบอยู่ในหลายภาคส่วนของสังคมไทย ได้กัดกร่อนศักยภาพในการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างล่าช้า และซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และจากปัญหาเหล่านี้ ภาคธนาคารไทยในฐานะตัวกลางทางการเงินสามารถมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา โดยจัดสรรทรัพยากรทุนให้ถูกใช้ไปในทิศทางที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบเชิงลบอันเนื่องมาจากการสนับสนุนทางการเงินได้
อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติจึงมีความยินดีที่สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกตระหนักถึงบทบาทสำคัญของภาคการธนาคาร ร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนการธนาคารเพื่อความยั่งยืน ผ่านการมี Commitment ในการร่วมกันกำหนดแนวทางการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Responsible Lending Guideline เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีกระบวนการสนับสนุนการให้สินเชื่อที่คำนึงถึงปัจจัยทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันการเงินเอง และบรรเทาปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
โดยแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ริเริ่มนี้จึงมีความสำคัญยิ่งมี 4 ข้อ ดังนี้
- การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Leadership and Responsible Lending Commitment)
- การคำนึงถึงผู้มีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement)
- การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน (Internal Implementation Mechanisms)
- มีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล (Transparency)
ภาพ: Facebook – ธนาคารแห่งประเทศไทย Bank of Thailand
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: