ยังไม่ทันจะผ่านพ้นเดือนมิถุนายน เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นถี่ในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่นับเป็นเหตุการณ์ใหญ่รวมแล้ว 3 พื้นที่ จนนำไปสู่การตั้งคำถามจากประชาชนกับสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าอะไรคือตัวแปรสาเหตุของเหตุเพลิงไหม้ ทำไมถึงเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน รวมถึงแผนป้องกันเหตุอัคคีภัยของ กทม. ที่มีอยู่เดิมนั้นอาจต้องได้รับการปรับปรุงและถอดบทเรียนครั้งใหญ่ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ไม่ให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่อย่างที่เกิดขึ้นในชุมชนบ่อนไก่-ย่านการค้าสำเพ็ง
มกราคม-พฤษภาคม 2565 เกิดเหตุไฟไหม้แล้ว 131 ครั้ง
จากข้อมูลของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่รวบรวมสถิติเหตุอัคคีภัยในพื้นที่ กทม. ช่วงเดือมกราคม-พฤษภาคม 2565 พบเหตุเพลิงไหม้ตามอาคารบ้านเรือนแล้ว 131 ครั้ง แบ่งเป็นรายเดือนดังนี้
- มกราคม 39 ครั้ง
- กุมภาพันธ์ 27 ครั้ง
- มีนาคม 13 ครั้ง
- เมษายน 32 ครั้ง
- พฤษภาคม 20 ครั้ง
ทั้งนี้ เขตในกรุงเทพฯ ที่พบเหตุเพลิงไหม้มากที่สุดมีดังนี้
- เขตบางขุนเทียน 8 ครั้ง
- เขตบางกะปิและเขตประเวศ 7 ครั้ง
- เขตบางแคและเขตราชเทวี 6 ครั้ง
สรุปเหตุการณ์ไฟไหม้ 3 พื้นที่ในเดือนมิถุนายน 2565
1. ไฟไหม้สีลมซอย 2
เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 เวลา 17.56 น. โดยเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้อาคารสูง 6 ชั้น และบ้านเรือนประชาชนภายในซอยสีลม 2 ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งสาเหตุเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร
2. ไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่
เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. โดยเพลิงลุกไหม้บ้านเรือนประชาชนภายในชุมชนที่ส่วนมากเป็นบ้านไม้ 2 ชั้นปลูกติดกัน ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 12 คน และไร้ที่พัก 109 คน ส่วนต้นตอเหตุเพลิงไหม้ยังอยู่ระหว่างการประเมิน
3. ไฟไหม้สำเพ็ง
เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565 ช่วงเวลาประมาณ 11.30 น. โดยเพลิงลุกไหม้อาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ทราบภายหลังว่าเป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์พลาสติกพีวีซีและกล่องกระดาษ ซึ่งเพลิงลุกไหม้ทั้ง 4 คูหา ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยคาดการณ์ว่าสาเหตุเกิดจากหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด
‘สายไฟ-สายสื่อสาร’ ต้องเร่งจัดการลงดิน เพราะเป็นอุปสรรคใหญ่ในการควบคุมเพลิง
หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ 3 พื้นที่ใน กทม. ประเด็นเรื่องความปลอดภัยเริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นจากประชาชน โดยเฉพาะผู้อาศัยใน กทม. ว่าในระยะยาว ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) จะมีแผนรับมือหรือแก้ปัญหาที่ต้นตออย่างไร
โดยชัชชาติกล่าวในการประชุมเกี่ยวกับการถอดบทเรียนเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ไว้ว่า เหตุการณ์ไฟไหม้ที่สำเพ็งเป็นบทเรียนราคาแพงที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่วนสาเหตุที่เกิดเพลิงไหม้จริงๆ ยังไม่แน่ชัด ต้องรอการตรวจสอบก่อน เพราะโดยปกติสายไฟไม่สามารถไหม้เองได้ ทั้งนี้ ยอมรับว่าสายไฟและสายสื่อสารเป็นอุปสรรคในการเข้าควบคุมเพลิงของเจ้าหน้าที่ โดยในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 จะมีการหารือกับการไฟฟ้านครหลวงและเจ้าของบริษัทสายสื่อสาร เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันและเร่งรัดโครงการนำสายไฟและสายสื่อสารลงใต้ดินให้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ ชัชชาติยังย้ำว่า ประชาชนต้องคอยตรวจสอบความเสี่ยงของตัวเองอยู่เสมอ เช่น หม้อแปลงที่อยู่ใกล้สายสื่อสารมีปัญหา มีความรกรุงรังอันก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือไม่ หรือที่พักอาศัยอยู่ใกล้อาคารที่มีเชื้อเพลิง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงทำให้เกิดเหตุไฟไหม้ได้
การประสานงานดับเพลิงต้องรวดเร็ว-ซ้อมเผชิญเหตุคือสิ่งสำคัญ
ชัชชาติกล่าวถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ชุมชนบ่อนไก่ โดยระบุว่า ปัญหาหนึ่งที่พบจากเหตุการณ์นี้คือการประสานงานที่ล่าช้า เพราะมีรายงานว่ากว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิง อาสาสมัครชุมชนจะเข้าไปในพื้นที่ ก็พบว่าไฟไหม้ไปหลายจุดแล้ว กว่าที่รถดับเพลิงจะมาถึงจุดเกิดเหตุจึงลุกลามเป็นวงกว้าง ประกอบกับสายไฟฟ้าเก่าและชำรุด
และอีกปัญหาหลังเกิดเหตุคือการที่ผู้คนในชุมชนเกิดความสับสน ไม่รู้ว่าเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ต้องไปจุดไหน ดังนั้น การฝึกซ้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
การบัญชาการเหตุการณ์มีปัญหา ต้องปรับปรุงด่วน
ชัชชาติกล่าวอีกว่า อีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือการบัญชาการเหตุการณ์ยังมีปัญหา ควรต้องปรับปรุงด่วน เพราะไม่มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ ผู้ปฏิบัติงานที่ลงพื้นที่ชุมชนไม่มีความคุ้นเคยในพื้นที่ ทำให้เสียเวลาในการปฏิบัติงาน ดังนั้นต้องซักซ้อมการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น มีกรอบการทำงานที่ชัดเจน ผู้อำนวยการเขตและผู้ปฏิบัติงานต้องทำงานร่วมกัน ต้องประสานกับอาสาสมัครจากหน่วยงานต่างๆ ให้ดี
รวมทั้งอุปกรณ์ที่ขาดแคลน ผู้อำนวยการเขตต้องมาดูแลผู้ได้รับความเสียหาย และทำบัญชีและการให้บริการในส่วนต่าง เช่น ให้บริการห้องอาบน้ำ สุขา การเตรียมปั๊มน้ำสำหรับห้องอาบน้ำ การทำรายการผู้เสียหาย การเตรียมฟูกที่นอนให้เด็กๆ เตียง พัดลม รายละเอียดทุกส่วนควรอยู่ในลิสต์ที่ต้องเตรียมพร้อม รวมทั้งการแยกผู้ประสบภัยจากประชาชนทั่วไปให้ชัดเจน จะทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น ทุกอย่างต้องสรุปออกมา และต้องนำไปปฏิบัติให้ได้
ส่วนบทเรียนของผู้ปฏิบัติงานการจัดตั้งศูนย์บัญชาการสั่งการในจุดที่เกิดเหตุ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว และการบัญชาการเหตุของ กทม. ต้องเข้าถึงพื้นที่เร็วกว่าอาสาสมัครเพราะต้องมีคนบัญชาการตั้งแต่ต้น โดยจะเร่งทำแผนเพื่อให้เกิดความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
คู่มือป้องกันไฟไหม้ฉบับประชาชน
อย่างไรก็ตาม เหตุเพลิงไหม้คืออุบัติเหตุที่สามารถเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน และเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่จะเป็นการดีกว่าหากทุกคนร่วมกันเป็นหูเป็นตาเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยข้อมูลของเว็บไซต์สถานีดับเพลิงสามเสน ระบุไว้ว่า ที่ผ่านมาเหตุเพลิงไหม้มักมีสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทและมองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น ประมาทในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิงทั้งน้ำมันและก๊าซ, จุดธูปหรือจุดเทียนทิ้งไว้, ทิ้งก้นบุหรี่โดยไม่ดับไฟให้สนิท, ตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าชิดกันเกินไป
โดยปัญหา ‘ไฟฟ้าลัดวงจร’ เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของปัญหาเพลิงไหม้ ซึ่งต้นเหตุของไฟฟ้าลัดวงจรมักเกิดจากอายุการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสายไฟที่เก่าเกินไป ทำให้อุปกรณ์เหล่านี้เกิดการเสื่อมสภาพแบบไม่รู้ตัว ขาดการดูแลบำรุงรักษา ซึ่งเสี่ยงทำให้เกิดไฟฟ้าลัดจงจรเป็นอย่างมาก
ขณะที่หลักการในการป้องกันเหตุเพลิงไหม้เบื้องต้นมีสิ่งที่ควรปฏิบัติหลักๆ ดังนี้
- การจัดระเบียบเรียบร้อยภายในและภายนอกอาคารให้ดี เช่น การขจัดสิ่งรกรุงรังภายในอาคารบ้านเรือนให้หมดไป โดยการเก็บรักษาสิ่งที่อาจจะเกิดอัคคีภัยได้ง่ายไว้ให้เป็นสัดส่วนถือเป็นบันไดขั้นต้นในการป้องกันอัคคีภัย
- การตรวจตราซ่อมบำรุงบรรดาสิ่งที่นำมาใช้ในการประกอบกิจการ เช่น สายไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องทำความร้อนให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และความปลอดภัยก็จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ได้ดียิ่งขึ้น
- อย่าฝ่าฝืนข้อห้ามที่จิตสำนึกควรพึงระวัง เช่น
-
- อย่าปล่อยให้เด็กเล่นไฟ
- อย่าจุดธูปเทียนบูชาพระทิ้งไว้
- อย่าวางก้นบุหรี่ที่ขอบจานที่เขี่ยบุหรี่ ต้องขยี้ดับให้หมด และห้ามสูบบุหรี่บนที่นอน
- อย่าใช้เครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแล้วเสียบปลั๊กจนน้ำแห้ง
- อย่าเปิดพัดลมแล้วไม่ปิด ปล่อยให้หมุนค้างคืนค้างวัน
- อย่าใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือปลอมแปลงคุณภาพ
ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้และรู้สึกถึงอันตรายให้ออกจากสถานที่นั้นทันที พร้อมโทรแจ้งได้ที่สายด่วน 199 สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อแจ้งกับสถานีดับเพลิง สถานีตำรวจในพื้นที่ใกล้เคียง