×

เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จุดเปลี่ยนการเมืองสร้างสรรค์?

25.05.2022
  • LOADING...

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์หน้าใหม่หลายอย่าง

 

มองย้อนไป ตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้รณรงค์หาเสียง จนมาถึงวันที่แสงจากทุกทิศทุกทางส่องไปยังว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ผมในฐานะสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่นำเสนอข่าว ตลอดจนเฝ้ามองปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม ผมพบว่าบรรยากาศของการเมืองในช่วงที่ผ่านมาไม่เหมือนเดิม 

 

เราไม่ค่อยเห็นการโจมตีสาดโคลนกันด้วยข้อมูลเท็จ แต่เห็นทุกคนพยายามงัดวิสัยทัศน์และนโยบายในการเปลี่ยนเมืองออกมาต่อสู้กันอย่างเข้มข้นดุเดือด เราไม่ค่อยเห็นการด่าทอดูถูกกัน แต่เห็นการนั่งโต๊ะร่วมวงรับประทานอาหาร ที่ผู้สมัครต่างแบ่งปันบทสนทนาที่ดีร่วมกัน เราไม่ค่อยเห็นอารมณ์โกรธเกรี้ยวไม่พอใจเมื่อเก้าอี้ผู้ว่าฯ ตกเป็นของคู่แข่ง แต่เห็นการประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ ตลอดจนร่วมแสดงความยินดีกับความสำเร็จของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 

 

บรรยากาศเหล่านี้หายไปนานในการเมืองไทย จนทำให้ผมรู้สึกว่านี่อาจเป็นการจุดประกาย ‘การเมืองสร้างสรรค์’ ที่หลายคนคาดหวังว่าจะช่วยสร้างบรรทัดฐานใหม่ของการเมืองไทยต่อไป ทำไมและอย่างไร ผมอยากชวนทุกคนมาพิจารณาผ่าน 4 กลยุทธ์การหาเสียง ตลอดจนบุคลิกความเป็นผู้นำในแบบคุณชัชชาติ ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ จนในที่สุดเอาชนะใจคนกรุงเทพฯ คว้าคะแนนเสียงไปครองมากที่สุดในประวัติศาสตร์

 

1. Creative 

 

การดีไซน์ป้ายหาเสียงที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ 

 

เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลหาเสียงทางการเมือง ภาพของบรรดาป้ายหาเสียงที่ติดอยู่กับเสาไฟฟ้าตามท้องถนนทั่วเมืองคือภาพที่เราเห็นจนชินตา หลายครั้งที่ป้ายเหล่านั้นกีดขวางทางเดิน หลายครั้งที่ป้ายเหล่านั้นบดบังวิสัยทัศน์ในการขับขี่ แต่เราปล่อยให้มันเบียดเบียนชีวิตผู้คนอยู่อย่างนั้น อาจเพราะชินชา หรือมองไม่เห็นว่ามันจะดีกว่านี้ได้ 

 

แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา เราเห็นการปรากฏขึ้นของป้ายหาเสียงแบบใหม่ ที่ลดความกว้างของป้ายให้แคบลงจนใกล้เคียงกับขนาดของเสาไฟฟ้า สื่อสารได้เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือคนเดินเท้าเดินได้สะดวกขึ้น คนขับขี่ได้ปลอดภัยเพราะไม่มีอะไรมาบดบังทัศนวิสัย สะท้อนถึงวิธีการแก้ไขปัญหาเดิมๆ ด้วยโซลูชันใหม่ๆ ได้อย่างอยู่หมัด 

 

อีกแง่มุมที่น่าสนใจและสร้างอิมแพ็กใหม่ๆ ต่อกระบวนการคิดและออกแบบป้ายหาเสียงคือ การดีไซน์เพื่อนำกลับมาหมุนเวียน (Recycle) เป็นกระเป๋าหรือทำผ้ากันเปื้อนไว้ให้ทีมงานใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ต้องบอกว่าเป็นการคิดที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และยังสร้างมาตรฐานใหม่ที่คนออกแบบป้ายหาเสียงการเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องสร้างสรรค์กว่านี้ให้ได้ 

 

2. Compromise 

 

ผู้นำแบบประนีประนอมในโลกที่หลากหลายและท้าทาย

 

ไม่ว่าคุณชัชชาติจะไปดีเบตบนเวทีไหน หรือให้สัมภาษณ์กับสื่อใด เราไม่ค่อยเห็นถึงอารมณ์ดุดัน หรือการใช้วาจาเผ็ดร้อนเพื่อโจมตีผู้สมัครคนอื่น ตรงกันข้าม เมื่อต้องตอบคำถามยากๆ คุณชัชชาติกลับตอบได้ไม่คมคาย หรือตรงประเด็นเท่าที่หลายคนคาดหวังไว้ด้วยซ้ำ  

 

ดังนั้นการที่คนกรุงเทพฯ พร้อมใจเทคะแนนให้ผู้นำสายประนีประนอมแบบคุณชัชชาติจึงน่าสนใจ นอกเหนือจากประเด็นด้านอุดมการณ์หรือขั้วการเมืองที่เป็นเหตุผลในการตัดสินใจแล้ว สิ่งที่ชวนคิดมากกว่านั้นคือคะแนนเสียงจากฝั่งอนุรักษนิยมเองที่เปลี่ยนใจมาสนับสนุนคุณชัชชาติ (แต่อาจจะเลือก ส.ก. ตามขั้วการเมืองเดิมของตน) สะท้อนให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มองว่าอยากได้ผู้นำสาย ‘ปฏิบัตินิยม’ ที่เน้นการลงมือทำมากขึ้น

 

ผู้นำที่จะชนะใจคนยุคนี้ได้ ต้องเป็นผู้นำที่เปิดใจรับฟัง เข้าอกเข้าใจ และเข้าไปนั่งในใจของคนให้ได้ 

 

ความประนีประนอม ที่เคยเป็นจุดอ่อนของความเป็นผู้นำ จึงอาจกลายเป็นจุดแข็งในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ซับซ้อน และท้าทาย ซึ่งคุณชัชชาติมี Positioning ที่ลงตัวพอดิบพอดี

 

3. Citizen-Centric 

 

ผู้นำที่ไม่รอให้ประชาชนเดินเข้าหา แต่เลือกเดินหน้าหาประชาชน 

 

ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง สิ่งที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองมักจะทำกันก็คือ จัดเวทีปราศรัยใหญ่รวบรวมมวลชนให้ได้มากที่สุด งัดเอาวาทะสุดแสนคมคายมาปล่อยทิ้งทวนเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะเข้าสู่วันเลือกตั้ง แต่คุณชัชชาติไม่ได้ทำเช่นนั้น เขาเลือกใช้กลยุทธ์ดาวกระจาย

 

หรือการลงพื้นที่ไปยัง 4 จุดสำคัญทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ คือ สยามสแควร์ สีลม เยาวราช และถนนข้าวสาร แทนที่จะตั้งเวทีขนาดใหญ่ให้ผู้คนมารายล้อม แต่เขากลับยืนปราศรัยบนลังไม้เล็กๆ ที่หน้าตาไม่ต่างจากลังเก็บของธรรมดาๆ ใบหนึ่ง 

 

จะเห็นว่าสิ่งที่คุณชัชชาติทำคือการโน้มตัวหาคน จับต้องได้ เข้าถึงง่าย และอยากรับฟังประชาชน สะท้อนให้เห็นว่าคุณชัชชาติเป็นผู้นำที่มีความ Empathy สูง และยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง คนไม่ว่าจะร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี หรือทำงานหาเช้ากินค่ำ จึงกล้าเดินเข้ามาหาและพูดคุยกับเขา

 

4. Coordinate 

 

ผู้นำที่ไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่ แต่เป็นผู้ประสานความร่วมมือ 

 

“นโยบายของผู้สมัครทุกท่านมีข้อดีที่เราจะน้อมรับมา นโยบายของเราไม่ได้ดีครบถ้วนหรอกครับ แต่เราถือโอกาสนี้เอานโยบายของทุกท่านมารวมกัน แล้วเราจะทำงานร่วมกับ ส.ก. ทุกท่านด้วย ผมว่านี่คือสิ่งสำคัญนะที่เราจะเดินไปด้วยกัน” 

 

นี่คือส่วนหนึ่งจากถ้อยแถลงของคุณชัชชาติในคืนวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่าจะชนะแบบถล่มทลาย แต่สิ่งที่คุณชัชชาติพูดในวันนั้นไม่ได้เป็นการประกาศชัยชนะ เขาใช้เวลามากกว่าครึ่งชั่วโมงตอบคำถามประชาชน และที่น่าสนใจมากๆ ก็คือการเลือกนำนโยบายที่ดีของผู้สมัครคนอื่นๆ มาสานต่อ พร้อมกับชักชวนให้ทุกคนเดินหน้าขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ไปด้วยกัน 

 

วันรุ่งขึ้นหลังเลือกตั้ง เราเห็นคุณชัชชาติลงเรือลำเดียวกับคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล ออกไปสำรวจคลองบริเวณเขตลาดพร้าวด้วยกัน 

 

ผมเชื่อว่าอีกไม่นานบรรยากาศความคึกคักของกระแสของว่าที่ผู้ว่าฯ คนใหม่จะค่อยๆ หายไปจากความสนใจของผู้คน ไม่ต่างจากประเด็นร้อนอื่นๆ ในสังคม ผู้คนจะหวนกลับไปใช้ชีวิตทำมาหากินตามปกติ 

 

ช่วงเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ของคุณชัชชาติเองก็จะเปลี่ยนเป็นการถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

 

สื่อมวลชนคงต้องรับบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าฯ อย่างเข้มข้น นโยบายกว่า 213 ข้อ ที่นำเสนอมาเป็นแค่เรื่องขายฝันหรือทำได้จริง เสียงจากประชาชนที่ส่งไปหาผู้ว่าฯ ถูกรับฟังและนำไปปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน กรุงเทพฯ วันนั้นแตกต่างจากวันนี้อย่างไร ยังเป็นกรุงเทพฯ ที่น่าอยู่สำหรับคนบางกลุ่ม หรือกลายเป็นกรุงเทพฯ ที่น่าอยู่สำหรับทุกคน 

 

และการเมืองสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นจริงไหม หรือเป็นแค่ฝันกลางวันวนกลับไปการเมืองแห่งความเกลียดชัง เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X