หลายคนคงเคยได้ยินชื่อและรู้จัก Bangkok Dance Academy ในฐานะโรงเรียนสอนเต้นในห้างแห่งแรกของประเทศไทย ผ่านมากว่า 25 ปี โรงเรียนได้ผลิตบุคลากรด้านการเต้นและสร้างคนคุณภาพให้กับสังคมไทยไว้มากมาย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงแรงบันดาลใจและเส้นทางของ ครูต้อย-วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนเต้นที่เติบโตและขยายไปกว่า 9 สาขา มาร่วมพูดคุยกับเธอและลูกสาวเลือดนักเต้น ครูหลอดไฟ-นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์ ถึงความรักในการเต้น และก้าวย่างแห่งแรงบันดาลใจที่ครูหลอดไฟจะพา Bangkok Dance เดินไปให้ถึงเมื่อเธอต้องมารับช่วงต่อจากคุณแม่
จากนักเรียนเต้นสู่ครูสอนเต้น จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิด Bangkok Dance Academy คืออะไร
ครูต้อย: ตั้งแต่ได้มีโอกาสเรียนเต้นตอนอายุ 8 ขวบ เรารู้สึกมาตลอดว่าการเต้นคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขที่สุด ความรักในการเต้นและความสุขที่ได้อยู่กับมันทำให้ครูเลือกไปเรียนต่อด้านการเต้นโดยเฉพาะ และเมื่อได้กลับมาที่ไทยในฐานะคนที่รักการเต้นเป็นชีวิตจิตใจ เราทนไม่ได้ที่การเรียนการสอนด้านการเต้นในประเทศไทยไม่เป็นที่แพร่หลาย พูดง่ายๆ คือถูกจำกัดไว้ให้คนแค่กลุ่มเดียว จนเราต้องมองหาวิธีการที่จะเผยแพร่ศิลปะการเต้นไปสู่สังคมไทยให้ได้มากที่สุด
วิธีของเราคือการไปเปิดโรงเรียนในห้าง คนไม่มาหาเรา เราก็ต้องพาตัวเองไปหาผู้คนเสียเลย สมัยนั้นห้างยังมีอยู่แค่ไม่กี่แห่ง แต่เราได้โอกาสจากผู้ใหญ่ที่มองเห็นความสำคัญของศิลปะแขนงนี้ โรงเรียน Bangkok Dance แห่งแรกจึงเกิดขึ้นที่ชาญอิสระ ครูถือว่านั่นคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ครูรู้ว่ามันสำเร็จได้จริงวันที่นักเรียนของเรามาจากหลากหลายที่ ลูกแม่ค้าก็มาเรียนเต้นกับเราได้
แล้วทำไมเราถึงต้องเรียนเต้น มันให้อะไรกับเรามากกว่าความสนุก
ครูหลอดไฟ: คนไทยทั่วไปมักมองว่าการเต้นเท่ากับการออกกำลังกาย การเต้นคือการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ นิยามแบบนี้เราได้ยินมาตลอด แต่ที่จริงแล้วกว่าเราจะเต้นออกมาได้แต่ละท่า มันต้องอาศัยกระบวนการทางความคิดที่จัดลำดับการเคลื่อนไหวแต่ละอวัยวะในร่างกาย 1 ท่าอาจต้องเริ่มจากการกดไหล่ เก็บหน้าท้อง ยกก้นขึ้น และอีกมากมาย ดังนั้นการเต้นคือการฝึกการจัดกระบวนการความคิด ซึ่งนักเรียนทุกคนสามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนรู้เรื่องอื่นได้หมด
อีกอย่างคือ กว่าที่เราจะพัฒนาร่างกายให้ยืดหยุ่นและเต้นท่าต่างๆ ได้อย่างสวยงาม มันต้องอาศัยเวลา ต้องอาศัยการบ่มเพาะ การฝึกเต้นไม่ใช่การเรียนรู้ที่เราสามารถเห็นผลได้ทันที ดังนั้นความอดทนและวินัยจึงเป็นอีกอย่างที่จะได้ตามมา เมื่อนักเรียนของเราอดทนฝึกจนเห็นผลลัพธ์ ความภูมิใจและความสุขจากจุดนั้นมันสวยงามจริงๆ
คนมักพูดว่านักเต้นต้องมีความมั่นใจมาก คิดอย่างไรกับเรื่องนี้
ครูต้อย: ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการเต้นทำให้เรามั่นใจเวลาแสดงออก แต่ที่จริงมันลึกจากประสบการณ์ของเราสองคนที่ได้คลุกคลีกับนักเรียน เราเห็นได้ทันทีว่าการเต้นทำให้นักเรียนของเรารู้ตัวเองว่าเขาเป็น ‘Someone’ ก่อนมาเรียนเต้นนักเรียนบางคนไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีจุดเด่นพิเศษอะไร แต่เมื่อเรียนเต้นไปเรื่อยๆ ทุกคนจะพบสิ่งที่ตัวเองถนัดและทำได้ดี
ครูหลอดไฟ: ความมั่นใจในตัวเองเป็นอีกองค์ประกอบหลักที่หลอดไฟหยิบมาใช้ในการออกแบบการสอนของเราด้วย หลังกลับมาจากเรียนเต้นที่ออสเตรเลียหลอดไฟได้เพิ่มรูปแบบการสอนของ Bangkok Dance เพื่อต่อยอดให้นักเรียนที่เต้นเก่งแล้วสามารถออกแบบการเต้นที่สื่อสารตัวตนออกมาได้ ให้เขามั่นใจในสิ่งที่เขานำเสนอที่สะท้อนตัวตนและประสบการณ์ของเขาเอง ซึ่งตรงกับปรัชญาของศิลปะที่ไม่มีอะไรถูกหรือผิด ที่ผ่านมาการศึกษาไทยมักตีกรอบไม่ให้เด็กริเริ่มคิดอะไรใหม่ๆ เอง ต้องทำตามแบบแผนของผู้ใหญ่ การสอนเต้นในแบบของหลอดไฟคือการพยายามปลดล็อกสิ่งเหล่านั้น
นิยามการเต้นในฐานะครูสอนเต้น
ครูต้อย: สำหรับครู การเต้นคือการสร้างคน สร้างครบทุกด้าน ทั้งสังคม อารมณ์และสติปัญญา สังคมคือการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในห้องเรียน อารมณ์ได้ความสนุกและความคิดสร้างสรรค์ในการเต้น ส่วนที่สำคัญที่สุดคือสติปัญญา เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายคือพื้นฐานของการเรียนรู้
ครูหลอดไฟ: หลอดไฟนิยามว่าการเต้นคืออาวุธ เรารู้มาตลอดตั้งแต่เด็กๆ ว่าถ้าเราไม่ได้เรียนเต้นเราจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราเป็นในทุกวันนี้ การเต้นเป็นเหมือนอาวุธที่ทำให้เราฝ่าฟันและมีที่ยืนในสังคมมาได้ถึงจุดนี้ การเต้นเป็นอาวุธที่ทำให้เรากล้า ทำให้เราโดดเด่นในสังคม
การส่งต่อไปสู่รุ่นลูกที่จะรับช่วงต่อในการบริหารงาน คุณแม่คิดว่ามันเหมือนกับการสอนให้เขาเต้นหรือไม่
ครูต้อย: ยากพอกัน (หัวเราะ) แต่เราไม่ห่วงเรื่องจิตวิญญาณความเป็นครูสอนเต้นของเขาเลย เพราะเขาโตมากับโรงเรียน Bangkok Dance ตั้งแต่ 5 ขวบหลอดไฟเรียนเต้นมาตลอด ผ่านความท้อแท้ ผ่านความรู้สึกกดดันจนอยากเลิกเรียน แต่สุดท้ายเขาก็ประสบความสำเร็จจนได้ทุนไปเรียนด้านการเต้นที่ออสเตรเลีย เขาจึงรู้ดีว่าการเต้นสำคัญอย่างไร และทำไมเราถึงต้องสืบทอดมันต่อไป
เรื่องที่ห่วงคงเป็นเรื่องการบริหาร เพราะการสืบต่อกิจการมันมากกว่าเรื่องของความรักในการเต้น ที่ Bangkok Dance ยืนหยัดอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้ก็เพราะความรักที่ครูมอบให้กับพนักงาน ครู และนักเรียนที่นี่ทุกคน การบริหารคนให้ได้คือการทำให้พวกเขารักและรู้สึกว่าที่นี่คือบ้าน อย่างนักเรียนหลายคนที่แม้ว่าจะจบคอร์สกับเราไปแล้ว เวลาเขาว่างหรือแวะเวียนมาเดินห้าง เขาก็เข้ามานั่งเล่นพูดคุยกับเรา เพราะเขารู้สึกอบอุ่นที่นี่
เมื่อต้องรับช่วงกิจการต่อจากคุณแม่ ครูหลอดไฟมีก้าวอะไรใหม่ๆ ที่จะพา Bangkok Dance เดินไปให้ถึงไหม
ครูหลอดไฟ: มาถึงทุกวันนี้ หลอดไฟถือว่าคุณแม่ประสบความสำเร็จในการทำให้คนไทยเข้าถึงและยอมรับศิลปะการเต้นแล้ว ผู้ปกครองยอมให้เด็กๆ มาเรียนเต้นกับเราโดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดแปลกเหมือนที่คุณแม่ยังเด็ก แต่ก้าวต่อไปของหลอดไฟในฐานะอดีตนักเรียนเต้น ครูสอนเต้น และผู้บริหารโรงเรียน คือการทำให้สังคมไทยยอมรับการเต้นในฐานะอาชีพในสายศิลปะที่น่ายกย่อง หลอดไฟอยากพิสูจน์กับคุณพ่อคุณแม่ที่ส่งลูกมาเรียนกับเราว่า ถ้าลูกเขารักในการเต้นและเลือกเรียนต่อด้านการเต้นในระดับมหาวิทยาลัย แทนที่จะเลือกเรียนหมอหรือเรียนวิศวะ ลูกของเขาไม่ได้ทำผิดพลาด และน้องๆ จะมีอนาคตที่รุ่งเรืองในฐานะครูสอนเต้นหรือศิลปินด้านการเต้นได้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า