ธนาคารกรุงเทพตั้งเป้าสินเชื่อปี 2568 เติบโต 3-5% สอดรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3% จากภาคการบริโภค ท่องเที่ยว และส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐบาลยังหมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมประเมินเศรษฐกิจอาเซียนมีศักยภาพการเติบโตที่สูง จึงเตรียมสภาพคล่องไว้ปล่อยกู้แก่ธุรกิจไทยที่ต้องการทุนไปใช้ในการปรับปรุงธุรกิจให้เข้ากับเทรนด์ใหม่ และสยายปีกสู่อาเซียน
ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวในโอกาสเปิดงานสัมมนา AEC Business Forum 2025 กล่าวว่า การขยายตัวของสินเชื่อในปี 2568 ธนาคารตั้งเป้าจะขยายสินเชื่อให้เติบโตที่ 3-5% ในทุกภาคอุตสาหกรรม ตามภาพเศรษฐกิจไทยที่น่าจะขยายตัวที่ระดับ 3% หรือมากกว่านั้น ซึ่งขยายตัวได้ตามการบริโภคที่เติบโต นโยบายการกระตุ้นของภาครัฐที่ยังมีต่อเนื่อง การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เข้ามาในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศักยภาพการเติบโตในระดับสูงของเศรษฐกิจในประเทศอาเซียน
ดังนั้นสินเชื่อของธนาคารก็มีโอกาสเติบโตไปกับปัจจัยเหล่านี้ด้วย ในเบื้องต้นคาดว่าสินเชื่อในประเทศและต่างประเทศจะเติบโตในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยในประเทศสินเชื่อจะขยายตัวได้ตามความต้องการเงินทุนที่จะนำมาปรับปรุงธุรกิจหรือเพิ่มประสิทธิภาพการเติบโตรับยุคเทคโนโลยี และสนับสนุนลูกค้าธุรกิจให้ขยายไปแข่งขันในตลาดอาเซียนและระดับโลก เช่น กลุ่มพลังงาน, Hospitality, House Share, Bio และการค้าต่างๆ เป็นต้น
บวกกับประชากรของอาเซียนขยายตัว ดังนั้นกำลังซื้อในการบริโภคและการซัพพลายในประเทศอื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่ธนาคารให้ความสำคัญ ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมธนาคารยังน่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธนาคารเตรียมสภาพคล่องและผลิตภัณฑ์สำหรับการปล่อยกู้ในการย้ายฐานการผลิต การปรับตัวสู่กระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) และการเปลี่ยนแปลงของโลก
สำหรับปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แม้ในปัจจุบันจะปรับขึ้นและลง แต่ยังมองว่าไม่ได้น่ากังวลมากนัก ยังสามารถดูแลได้ โดยลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ก็มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3/67 NPL อยู่ที่ระดับ 3.4%
เชื่อ ‘อาเซียน’ ได้เปรียบระดับภูมิภาค
ชาติศิริกล่าวว่า แม้โลกธุรกิจสำหรับอาเซียนในวันนี้จะเต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย แต่กระนั้นภูมิภาคเราก็ยังมีข้อได้เปรียบสำคัญหลายเรื่อง ทั้งทำเลที่ตั้งในเชิงกลยุทธ์ ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะ ต้นทุนแรงงานที่แข่งขันได้ ตลาดที่มีความหลากหลาย และภาคการผลิตที่แข็งแกร่งมาก นอกจากนี้อาเซียนเองก็กำลังก้าวไปข้างหน้าเพื่อกำหนดบทบาทของตนเองในเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง เช่น 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม กลายเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของกลุ่ม BRICS ในวันที่ 1 มกราคม 2568 และหลังจากนั้นอินโดนีเซียก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างเต็มรูปแบบ
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้อาเซียนยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจที่ต้องการลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และการกระจายห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
คาดอาเซียนหนุน FDI พุ่ง 300%
ทางด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) กล่าวในงานสัมมนา ‘AEC Business Forum 2025’ หัวข้อ Challenges Facing ASEAN in the Age of Disruption ว่า โจทย์เศรษฐกิจของไทยคือการอยู่ท่ามกลางกระแสความเชี่ยวกรากของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่จะต้องเดินข้ามไป ซึ่งมีทั้งคนที่เดินข้ามได้และไม่ได้ รวมถึงจะหาทางไปได้อย่างไร โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเห็น New Wave Investment into ASEAN โดยจะเห็นเงินไหลมาจากทุกทิศทุกทาง ซึ่งตัวเลขการลงทุน FDI ของอาเซียนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นค่อนข้างชัดเจน จาก 6% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 17% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 3 เท่า หรือ 300% สะท้อนผ่านตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ปรับขึ้นมาสูงสุดในรอบทศวรรษ (10 ปี) ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.3 ล้านล้านบาท
และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ภูมิภาคอาเซียนจะก้าวเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจ 6.7 ล้านล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 5 มูลค่าทางเศรษฐกิจ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ด้วยจำนวนประชากรจาก 38 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 160 ล้านคน และการขยายตัวของเมือง (Urbanization) และจำนวนชนชั้นกลางที่มากขึ้น ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ กำลังซื้อ ปริมาณการค้าและการลงทุน หนุนเศรษฐกิจขยายตัวต่อจากสหรัฐฯ ที่เป็นเบอร์ 1 จีนเบอร์ 2 และอินเดียเบอร์ 3
ทั้งนี้ FDI ไหลเข้ามาในอาเซียนเมื่อปี 2565 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 17 % ของทุน FDI ทั่วโลก และยังไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม โจทย์ที่ภาคธุรกิจจะต้องเผชิญในขณะนี้ ดร.กอบศักดิ์ มองว่าคือกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายด้าน โดยจะมี 2 ส่วนคือ ระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นจะมีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่
- นโยบายของสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเพิ่มข้อเสนอเพื่อกีดกันทางการค้า สร้างกำแพงภาษีสินค้านำเข้าให้สูงขึ้นโดยเฉพาะจากจีน
- การเกิดขึ้นของคู่แข่งใหม่ๆ ที่มีต้นทุนต่ำ และสินค้าราคาถูกหลั่งไหลเข้ามาในไทยและภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น
- การนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาใช้เพื่อการผลิตสินค้าและบริการ
ส่วนในระยะยาวจะมี 3 ข้อ คือ 1. มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) 2. ปัญหาด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจในระยะยาว ไปสู่การทำธุรกิจแบบมีความรับผิดชอบเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น และ 3. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เนื่องจากสินค้าที่เคยเป็นเบอร์ 1 ยังหายออกจากตลาดได้ ไทยจะต้องเตรียมตัวอย่างไร
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพในฐานะสถาบันการเงิน ไม่เพียงแต่สนับสนุนสินเชื่อสีเขียวเพื่อการเปลี่ยนผ่าน หรือการทำ Digital Transformation เท่านั้น แต่ธนาคารยังให้การสนับสนุนองค์ความรู้ อัปเดตข้อมูลเชิงลึก เทรนด์การค้าทั้งของไทยและของโลก ให้แก่ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เพื่อเคียงข้างลูกค้าในการสร้างความมั่นใจ เพื่อการปรับตัวไปคว้าโอกาสทางธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน
“โค้งอันตรายอยู่ข้างหน้า หากเราไม่ระวังก็อาจจะเสี่ยงได้ เราจะ Transition จากโลกเดิมๆ ไปสู่โลกใหม่ได้อย่างไร ภายใต้ความเชี่ยวกรากของการเปลี่ยนแปลง หากเราไม่เปลี่ยนแปลงเราจะเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นอย่าไปกลัวว่ากระแสการลงทุนจะไม่ไหลเข้าประเทศไทย หรือแม้จะไหลไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ไทยก็จะได้ประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนในอาเซียนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี ซึ่งประเทศไทยและธุรกิจไทยจะต้องเตรียมรับมือความท้าทายใน 4 ด้านสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
มอง GDP ไทยปีนี้ขยายตัว 3%
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปี 2568 มองว่าขยายตัวได้ระดับ 3% หรือมากกว่าเล็กน้อย ทั้งนี้ สูงกว่าประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.9% โดยแรงขับเคลื่อนที่สำคัญมาจากการส่งออก ภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าไทยใกล้ระดับ 40 ล้านคน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้ามามากขึ้น และมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลที่น่าจะมีต่อเนื่อง
สำหรับการส่งออกของไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 2-3% และหากนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2568 แล้วประกาศอัตราเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมากกว่าประเทศไทย ก็จะยิ่งส่งผลบวกต่อสินค้าในหลายกลุ่ม เพราะหากขึ้นภาษีจีนราคาของสินค้าจีนก็จะแพงกว่าไทย ทำให้สินค้าไทยมีโอกาสถูกนำเข้ามาทดแทนสินค้าจีนมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะศักยภาพการผลิตของสหรัฐฯ ยังไม่สามารถผลิตทดแทนสินค้าจากจีนหรือสินค้านำเข้าได้ทั้งหมด โดยสินค้าที่คาดว่าจะส่งออกได้ดีคือ กลุ่มสินค้าประเภทอาหาร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) เป็นต้น
ด้านแนวทางในการพยุงตลาดหุ้นไทย ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ FETCO ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีคลังและรัฐบาลในการหารือถึงมาตรการต่างๆ ในการดูแลตลาดแล้ว คาดว่าจะได้เข้าหารือในเร็วๆ นี้ โดยเบื้องต้น FETCO จะขอปรับสัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thailand ESG Fund (ThaiESG) ที่ปัจจุบันลงทุนพันธบัตร (บอนด์) ให้ปรับมาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น รวมถึงมีการหารือการฟื้นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund: LTF) กลับมาหากรัฐบาลต้องการ รวมทั้งการหาแนวทางจูงใจให้มีการลงทุนในตลาดทุนมากขึ้นด้วย ส่วนการต่ออายุกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (Super Saving Funds: SSF) ที่จะสร้างนักลงทุนและลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น คงไม่ได้ขอวงเงินสำหรับการลดหย่อนมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยสนใจลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น