×

Bangkok Art Biennale 2018 จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นเมืองศิลปะระดับโลก!

23.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • Bangkok Art Biennale 2018 จะจัดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. 2561 ถึง ก.พ. 2562 ตามแลนด์มาร์กและสถานที่สำคัญทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี, สยามพารากอน, เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัล เอ็มบาสซี, ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์, วัน แบงค็อก ไปจนถึงสวนลุมพินี คู่ขนานกับสถานที่ทางประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และตึกอีสต์เอเชียติก
  • งานนี้จะรวบรวมและคัดเลือกผลงานจากศิลปินไทยและต่างประเทศ ทั้งรุ่นใหม่และระดับมืออาชีพ โดยไม่จำกัดวัย รวมทั้งศิลปินรับเชิญระดับนานาชาติมาจัดแสดงในงานมากถึง 70 ผลงานด้วยกัน

     เรียกได้ว่าเป็นงานใหญ่ที่ใครหลายคนรอคอย สำหรับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale) หรือ BAB 2018 ที่จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี นับเป็นครั้งแรกที่บ้านเราจะมีงานเทศกาลศิลปะสเกลใหญ่ รวบรวมผลงานของศิลปินไทยและต่างประเทศมาให้ชมกันเต็มอิ่ม เหมือนอย่างงาน Venice Biennale, Berlin Biennale, Biennale de Paris และ Singapore Biennale กันบ้าง

     นอกจากเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนี้จะจัดขึ้นภายใต้ธีม ‘สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต’ หรือ Beyond Bliss ในช่วงเดือน พ.ย. 2561 ถึง ก.พ. 2562 แล้ว

     ลิสต์รายชื่อของคณะกรรมการ ทีมงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ตลอดจนที่ปรึกษาของโครงการนี้ยังนับว่าไม่ธรรมดา เพราะแต่ละคนล้วนโลดแล่นอยู่ในวงการศิลปะชั้นนำระดับโลก เช่น ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินไทยร่วมสมัย, ไนเจล เฮิร์สต (Nigel Hurst) ผู้อำนวยการและเจ้าของหอศิลป์ Saatchi Gallery ชื่อดังในลอนดอน อเล็กซานดรา มันโร (Alexandra Munroe) ภัณฑารักษ์อาวุโสแห่ง Solomon R. Guggenheim Museum และ ฟุมิโอะ นันโจ (Fumio Nanjo) ผู้อำนวยการ Mori Art Museum โตเกียว เป็นต้น

     เราเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยอยากรู้ว่างานคืบหน้าไปถึงไหนกันแล้ว จนแทบอดใจรอไม่ไหว เพราะกว่าจะได้ชมกันก็ต้องรอเป็นปี

     THE STANDARD จึงไปพูดคุยกับทีมภัณฑารักษ์ทั้ง 5 ที่จะมาร่วมคัดเลือกผลงานของศิลปินและเตรียมการดำเนินงาน ประกอบด้วย ศ.ดร. อภินันท์ โปษยานนท์  ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ผศ. สรรเสริญ มิลินทสูต ประธานกรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, แพทริก ดี. ฟลอเรส (Patrick D. Flores) ภัณฑารักษ์ประจำ Vargas Museum Manila ฟิลิปปินส์ และ อเดล แทน (Adele Tan) ภัณฑารักษ์จาก National Gallery Singapore และสรุปไฮไลต์เด็ดมาฝากผู้อ่านโดยเฉพาะ

 

 

เปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นเวทีจัดแสดงงานจาก 70 ศิลปินไทย-เทศ ทั่วเมือง

     ศ.ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ หัวเรือใหญ่ของงานกล่าวว่า แนวคิด ‘สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต’ หรือ Beyond Bliss จะเปิดกว้างให้ศิลปินได้สร้างสรรค์งานศิลปะโดยสัมผัสกับพื้นที่ ตีความ และบันทึกความหลากหลายของวัฒนธรรม ตามบริบทและการตีโจทย์ที่ต่างกัน เพราะ ‘ความสุข’ มีหลายมิติด้วยกัน เช่น ความสุขทางกาย จิตใจ การแสวงหาวิธีกำจัดทุกข์ การละซึ่งความทุกข์มุ่งสู่ความสุขนิรันดร์ หรือแม้แต่การตั้งคำถามกับการขาดความสุขอันเนื่องมาจากสภาพสังคมในปัจจุบัน

     ระหว่างนี้ ทีมภัณฑารักษ์จะศึกษาพื้นที่จัดแสดงงานและคัดเลือกผลงานของศิลปินที่ส่งใบสมัครมาให้พิจารณาจนถึงสิ้นเดือนนี้ ทั้งศิลปินหน้าใหม่และมืออาชีพ ไม่จำกัดวัย รวมทั้งมีผลงานศิลปินรับเชิญรวมกว่า 70 คน โดยแบ่งเป็น 35 ศิลปินไทย และ 35 ศิลปินต่างชาติ ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้

 

 

พื้นที่แห่งการตีความและถ่ายทอดความคิดอันหลากหลาย

     ไฮไลต์ที่น่าสนใจงานนี้ก็คือ พื้นที่จัดแสดงผลงานทั้งหมดจะกระจายตัวทั่วกรุงเทพฯ ตามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเลียบทางแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, ตึกอีสต์เอเชียติก คู่ขนานไปกับพื้นที่เส้นทางรถไฟฟ้า-รถไฟใต้ดินที่สะท้อนความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ตั้งแต่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี, สยามพารากอน, เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัล เอ็มบาสซี, ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์, วัน แบงค็อก ไปจนถึงสวนลุมพินี

     นั่นหมายความว่าเราจะได้เห็นการปะทะ-หลอมรวมความหลากหลายแทบทุกด้าน ทั้งตัวพื้นที่ ชิ้นงาน และผู้สร้างสรรค์

 

 

     ผศ. วุฒิกร คงคา หัวหน้าภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่จะเข้ามาช่วยประสานงานกับศิลปิน สำหรับการขนย้ายและติดตั้งงานศิลปะอีกแรง มองว่า ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะโจทย์เปิดกว้างและท้าทายให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานให้สอดรับกับพื้นที่ซึ่งต่างกันสุดขั้ว อย่างเช่น วัดกับศูนย์การค้า ขณะเดียวกันศิลปินก็ต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนของสถานที่ด้วยเช่นกัน

 

 

     ด้าน ลักขณา  คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บอกกับเราว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะได้มีงานเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติกันเสียที เพราะคนไทยเองก็ตื่นตัวและสนใจงานศิลปะกันมากขึ้น แถมยังเป็นโอกาสดีที่จะได้เห็นการตีความ ถ่ายทอดทัศนะของศิลปินต่างเจเนอเรชันที่นิยาม ‘ความสุข’ ต่างกัน คนรุ่นใหม่อาจให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากเสียจนถ้าหากไม่มีก็รู้สึกขาดและก่อให้เกิดความทุกข์ ในทางกลับกัน ก็อาจจะยิ่งโหยหาคุณค่าของงานคราฟต์ที่ไม่เคยสัมผัสมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ก็เป็นได้ และน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างสถาบันต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันมากขึ้น

 

 

     ส่วน ผศ. สรรเสริญ มิลินทสูต ชี้ว่า งานนี้จะส่องสะท้อนมุมมองความคิดทางด้านศิลปวัฒนธรรมของคนเอเชียไปสู่ระดับนานาชาติเช่นกัน พร้อมกล่าวว่าเกณฑ์การคัดเลือกผลงานขึ้นอยู่กับการตีโจทย์อย่างสร้างสรรค์ของศิลปิน

 

ศิลปะภายใต้ความละเอียดอ่อนและการเซนเซอร์
     เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของวงการศิลปะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับ 2 ภัณฑารักษ์จากมาเลเซียและสิงคโปร์กันบ้าง

 


     เริ่มจาก แพทริก ดี. ฟลอเรส บอกกับ THE STANDARD ว่า งานศิลปะในภูมิภาคนี้ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อ่อนไหว แต่ศิลปินก็สามารถถ่ายทอดความคิดและตัวตนได้ชัดเจน บางผลงานถูกเซนเซอร์ เพราะข้องเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ความเชื่อ ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า ศิลปะจะเปิดให้นำเสนอมุมมองเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน

 


     ขณะที่ อเดล แทน มองว่า เป็นโอกาสดีที่ศิลปินหน้าใหม่จะได้มีพื้นที่แสดงผลงานและถูกค้นพบ เธอคาดหวังว่าจะได้เห็นผลงานของศิลปินใหม่ๆ จากการจัดงานครั้งนี้บ้าง แม้ว่าตัวเธอเองไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดงาน Singapore Biennale ปี 2016 แต่จากการเข้าชมงานและประสบการณ์ส่วนตัว เธอพบว่าโจทย์ยากข้อหนึ่งของการจัดงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติอยู่ตรงที่ การแบ่งสรรพื้นที่สำหรับศิลปินรุ่นใหม่และมืออาชีพโดยไม่แย่งสปอตไลต์ของกันและกัน ส่วนประเด็นเรื่องเสรีภาพการแสดงออกของศิลปิน เธอมองว่าสิ่งสำคัญคือ ศิลปินจะต้องสื่อสารประเด็นสำคัญกับสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเอง
     จากการพูดคุยสั้นๆ กับทีมงานคุณภาพ ก็แทบจะทำให้เราอดใจรอชมงานนี้ไม่ไหวแล้ว!

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X