‘บางกอกแอร์เวย์ส’ เปิดเกมรุก เริ่มทยอยกลับมาบินเส้นทางเดิม พร้อมเล็งหาเส้นทางใหม่ รองรับดีมานด์นักท่องเที่ยวไทย-ต่างประเทศ พร้อมเสริมบริการฟูลเซอร์วิสครบวงจร อัดโปรโมชันครบรอบ 50 ปี พร้อมดึง ‘ญาญ่า อุรัสยา’ ขึ้นเป็นพรีเซนเตอร์สร้างภาพลักษณ์แบรนด์ มั่นใจปีนี้จะกลับมาพลิกคืนกำไรได้อีกครั้ง
หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิดไป ธุรกิจสายการบินก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ทำให้ ‘บางกอกแอร์เวย์ส’ ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 50 ปี เดินหน้าหากลยุทธ์ใหม่ๆ เข้ามารองรับดีมานด์อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘บางกอกแอร์เวย์ส’ คาดอุตสาหกรรมการบินไทยกลับสู่ภาวะปกติครึ่งปีหลัง เตรียมเปิด 13 เส้นทางการบินรองรับนักท่องเที่ยว
- BA เดินหน้าเสนอขายกองทรัสต์ BAREIT ภายในปีนี้ ชูผลตอบแทนปีแรก 8.46%
- คลัง ‘หั่น’ คาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือ 3.4% เหตุการณ์ลงทุนภาคเอกชนจ่อทรุด พิษต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้น ยังหวังท่องเที่ยวดึง GDP ปีหน้าโต 3.8%
พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) หรือบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินทั้งต่างประเทศและไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น ตั้งแต่รัฐบาลยกเลิกระบบ Test & Go เมื่อช่วงไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศมีเพิ่มขึ้น และสายการบินเริ่มกลับมาเปิดให้บริการและเพิ่มความถี่ทั้งเส้นทางเดิมและเส้นทางใหม่
เช่นเดียวกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์สเริ่มมียอดจองบัตรโดยสารเพิ่มขึ้นทั้งการเดินทางในประเทศและระหว่างประเทศ โดยในปี 2565 มียอดขนส่งผู้โดยสารรวม 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 394.8 และมีจำนวนเที่ยวบินให้บริการรวม 29,892 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 243.8 เมื่อเทียบกับปี 2564
ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีเครื่องบินอยู่ทั้งหมด 32 ลำ นำกลับมาบินแล้ว 22 ลำ โดยเป็นเส้นทางในประเทศ 17 เส้นทาง ส่วนต่างประเทศ 7 เส้นทาง ซึ่งยังมีเครื่องบินเหลืออยู่ 10 ลำ ที่มีบางเส้นทางยังไม่กลับมาบิน โดยจะเริ่มทยอยนำกลับมา และเตรียมจะเปิดเส้นทางบินไปประเทศจีน 2 เส้นทาง เพื่อรองรับการเดินทางของชาวจีนที่จะมีมากขึ้นในไตรมาส 3 ที่จะถึงนี้
ส่วนเส้นทางบินในประเทศเตรียมเพิ่มความถี่เที่ยวบิน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาทั้งเส้นทางเดิมและการเปิดเส้นทางใหม่ๆ โดยรวมแล้วทั้งปี 2566 คาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารจะอยู่ที่ 70-80% ซึ่งกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด
“ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมการบินยังต้องเจออุปสรรคเรื่องจำนวนเครื่องบินและบุคลากร โดยเฉพาะพนักงานภาคพื้นที่ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้ออกไปทำงานในสายงานอื่นและไม่กลับมา ทำให้สายการบินและสนามบินบุคลากรไม่เพียงพอต่อการบริการ หลายๆ ค่ายมีการเปิดรับหลายตำแหน่ง”
ไม่เว้นแม้แต่บางกอกแอร์เวย์สที่เปิดรับสมัครเช่นกัน แต่มีคนมาสมัครค่อนข้างน้อย อาจเป็นเพราะยังไม่เชื่อมั่นต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ยิ่งไปกว่านั้นธุรกิจสายการบินยังมีข้อจำกัดเรื่องการซ่อมบำรุงเครื่องบิน อะไหล่ขาดแคลน ทำให้ทุกอย่างต้องช้าตามไปด้วย
หัวเรือใหญ่บางกอกแอร์เวย์สกล่าวต่อไปว่า นอกจากการเตรียมสายการบินรองรับนักท่องเที่ยวแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำไปพร้อมๆกัน คือการพัฒนาบริการต่างๆ ราคาที่เข้าถึงง่าย ตลอดจนการเพิ่มช่องทางขายผ่าน BSP Agents ในตลาดหลัก เช่น ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน และแอฟริกาใต้ ควบคู่กับการแต่งตั้งตัวแทนขายเพิ่มอีก 12 สำนักงานในประเทศกลุ่มนอร์ดิกหรือสแกนดิเนเวีย ตามด้วยกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ เยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย
นอกจากนี้ยังมีแผนการปรับปรุงสนามบินที่บริษัทบริหารงานอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินตราด และสนามบินสุโขทัย เพื่อขยายการรองรับเที่ยวบินในอนาคต โดยในปีที่ผ่านมาสนามบินสมุยมียอดขนส่งผู้โดยสารรวมทั้งสิ้นกว่า 1.3 ล้านคน และมีจำนวนเที่ยวบินใช้บริการรวมกว่า 15,000 เที่ยวบิน ถือว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ที่สำคัญได้เพิ่มน้ำหนักการจัดแคมเปญและโปรโมชัน เพราะผู้บริโภคยังให้ความสำคัญเรื่องราคา ดังนั้นในปีนี้ซึ่งตรงกับวันครบรอบบริษัท 50 ปี ได้เตรียมออกโปรโมชัน DOUBLE DATE ตลอดทั้งปี พร้อมทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย และตั้ง ‘ญาญ่า อุรัสยา’ ทำหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์
จากกลยุทธ์ทั้งหมดนี้เชื่อว่าบริษัทจะมีรายได้จากผู้โดยสาร 15,000 ล้านบาท รวมเที่ยวบินกว่า 4 หมื่นเที่ยวบิน อัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 76% และที่สำคัญคาดว่าจะสามารถพลิกกลับมาทำกำไรสุทธิได้อีกครั้ง โดยหลักๆ จะมาจากสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อและพร้อมเดินทางจะกลับมาเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ผลประกอบการปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 12,742.1 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 124.8 ซึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสารร้อยละ 609.8, รายได้จากธุรกิจสนามบินร้อยละ 465.4 และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินร้อยละ 71.6 จากการกลับมาปฏิบัติการบินของสายการบินต่างๆ โดยมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 889.3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการขาดทุนลดลงจากปี 2564 จำนวน 1,643.2 ล้านบาท
ด้านความคืบหน้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ผู้รับสัมปทานโครงพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้เตรียมความพร้อมด้านการออกแบบ วางแผนงาน และการจัดสรรบุคลากร ตลอดจนถึงการเตรียมงานด้านการก่อสร้าง เพื่อจะได้ดำเนินการทันทีเมื่อได้รับการลงนามในสัญญาส่งมอบพื้นที่เพื่อการก่อสร้าง ซึ่งตามกำหนดการเดิมจะมีการทำสัญญาในเดือนมกราคมปีนี้