ความคืบหน้าการเซ็นสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา ซึ่งกลุ่ม CPH ชนะการประมูลแต่ติดขัดไม่ลงนามสัญญา จน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองนายกฯ ดูแลกระทรวงคมนาคม ต้องออกมากระทุ้งให้กลุ่ม CPH มาลงนามในสัญญา มิเช่นนั้นจะถูกริบเงินประกันและขึ้นบัญชีดำห้ามรับงานสัมปทานรัฐ
วันนี้ (12 ตุลาคม 2562) ที่โรงแรมศิวา รอยัล จังหวัดพัทลุง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ตนได้ส่งรายชื่อคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) ชุดใหม่ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำเข้าที่ประชุม ครม. พิจารณาและให้ความเห็นชอบในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา จากนั้น คณะกรรมการฯ จะทำงานได้ทันที ขณะเดียวกัน ได้รับการติดต่อจากผู้ชนะการประมูลคือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ว่าจะมาเซ็นสัญญาในวันที่ 25 ตุลาคมนี้อย่างแน่นอน
เมื่อถามว่า กลุ่ม CPH ยื้อเรื่องนี้มานาน อะไรทำให้มั่นใจว่าจะมาเซ็นสัญญาในวันที่ 25 ตุลาคม
ศักดิ์สยามกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนไม่ทราบ แต่เมื่อตนมาทำหน้าที่ก็ทำตามเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ หรือ RFP (Request for Proposal) พร้อมใช้ สมาธิ สติ ปัญญา ตัดสินใจ ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการให้โครงการนี้เกิดขึ้น เพราะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศ แม้คนรุ่นตนอาจไม่ได้ใช้งาน แต่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์มหาศาลแก่คนรุ่นต่อไปแน่นอน
เมื่อถามว่าในข้อกฎหมายหรือเงื่อนไขในสัญญามีโอกาสหรือไม่ที่กลุ่ม CPH จะไม่ลงนามในสัญญาโดยไม่ต้องเสียค่าปรับและขึ้นบัญชีดำ
ศักดิ์สยามกล่าวว่า มีโอกาสเดียวคือปล่อยให้เลยวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการยืนราคา แต่เรื่องนี้รัฐไม่ยอมให้เกิดขึ้นแน่นอน และล่าสุดก็ได้รับการประสานมาชัดเจนแล้วว่ากลุ่ม CPH จะเข้ามาลงนามในสัญญา
แหล่งข่าว ให้ข้อมูลกับTHE STANDARD เพิ่มเติมว่า เงื่อนไขที่กลุ่ม CPH จะไม่มาลงนามในสัญญาและไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ คือกรณีที่ รฟท. ในฐานะคู่สัญญาไม่มีความพร้อมในการร่วมทำโครงการ
จึงตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) ลาออกทั้งชุด มีผลวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น จะทำให้ รฟท. ไม่มีบอร์ดในการพิจารณาเซ็นสัญญาโครงการดังกล่าว และหากปัญหานี้ลากยาวไปเกินวันที่ 7 พฤศจิกายน กลุ่ม CPH จะไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในการไม่ลงนามในสัญญา
เรื่องนี้ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องรีบเสนอรายชื่อบอร์ดการรถไฟชุดใหม่เข้า ครม. ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ เพื่อให้ทันต่อการเข้ามาพิจารณาดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมถึงโครงการอื่นๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ปัจจุบันนี้ประสบปัญหาล่าช้าจากการบุกรุกพื้นที่โครงการ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์