เมื่อพูดถึง ‘กลุ่มบริษัทบางจาก’ ภาพจำในใจของพวกเราทุกคนคือโลโก้ ‘ใบไม้สีเขียว’ ที่คุ้นตามาเกินกว่า 20 ปี แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป ย่อมมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเสมอ
ใบไม้ใบเดิมได้เปลี่ยนมาสู่ ‘ใบไม้ใบใหม่’ ที่ให้ความรู้สึกทันสมัย พร้อมกับสีที่หลากหลาย เพื่อบอกว่า ‘กลุ่มบริษัทบางจาก’ ในวันนี้มีความหลากหลายของธุรกิจ และกำลังเติบโตและก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน
เส้นทางสู่การเติบโตในระยะยาว
“บางคนก็ถามว่าทำไมมาเปลี่ยนปีที่ 38 ไม่เปลี่ยนปีที่ 40 แต่ที่เราเปลี่ยนโลโก้ตอนนี้ด้วยมองว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม” ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว “หากบางจากฯ เป็นคน ตอนนี้ก็เป็นผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะ มีความมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว การเปลี่ยนโลโก้ดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในสิ่งสะท้อนถึงการไม่หยุดที่จะขยับขยายต่อไปของบางจากที่ต้องการเติบโตไปบนถนนเส้นใหม่ๆ ในอนาคต”
ความน่าสนใจคือ เช่นเดียวกับที่บริษัทเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อให้ทันสมัยและทันต่อความต้องการของลูกค้า โลโก้ก็มักจะถูกเปลี่ยนเพื่อให้สะท้อนทันกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคเช่นกัน
สำหรับกลุ่มบริษัทบางจาก ตราสัญลักษณ์ ‘ใบไม้ใบใหม่’ ยังมาพร้อมกับวิสัยทัศน์ ‘รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว’ และพันธกิจ ‘เรามุ่งมั่นขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยั่งยืน โดยคงไว้ซึ่งสมดุลแห่งความมั่นคงทางพลังงาน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีด้วยนวัตกรรมโซลูชันสีเขียว ดำเนินธุรกิจด้วยความคำนึงถึงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) อย่างมีความรับผิดชอบต่อทุกภาคส่วน’
“เรากำลังเซ็ตบรรทัดฐานใหม่ของบางจากฯ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน การเปลี่ยนแปลงนี้นอกจากจะทำให้มีความทันสมัยมากขึ้นแล้ว ยังให้ความรู้สึกหลากหลายและตอบโจทย์ในระยะยาว”
มุ่งสู่ช่วงเวลาสำคัญครั้งใหม่ที่ท้าทาย
ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจกว่า 38 ปี บางจากฯ เผชิญกับบททดสอบและความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะล่าสุดช่วงโควิดที่ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก ตลอดจนราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ธุรกิจต้องมีต้นทุนดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ทว่าความท้าทายดังกล่าวกลายเป็นบททดสอบถึงความแข็งแกร่งของกลุ่มบริษัทบางจากในวันนี้ ที่กำลังจะก้าวเดินเข้าสู่อายุ 40 ปีอย่างแข็งแกร่ง
สะท้อนจากผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 ที่มี EBITDA สูงถึง 37,773 ล้านบาท นับเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยรากฐานที่มั่นคง มีความยืดหยุ่นสูงจากศักยภาพในการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป และการเติบโตจากการขยายธุรกิจในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
“EBITDA เกือบ 40,000 ล้านในปีนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของเราที่จะสร้างและต่อยอด เราจะไม่กลับไปยืนจุดเดิม เรากำลังจะขยับไปอีกบริบทที่เติบโตแบบแข็งแรงและใหญ่ขึ้น” ชัยวัฒน์กล่าว พร้อมกับย้ำว่าหลังจากนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการเติบโตในอัตราเร่ง “ด้วยวันนี้เมื่อเทียบกับระดับโลกหรือภูมิภาค กลุ่มบริษัทบางจากยังถือว่าไม่ใหญ่มาก จึงสามารถเติบโตได้อีก”
ยุทธศาสตร์การเติบโตของ 5 กลุ่มธุรกิจ
สิ่งที่น่าสนใจคือ ชัยวัฒน์ยอมรับว่า วันนี้กลุ่มบริษัทบางจากกำลังมุ่งสู่ช่วงเวลาสำคัญครั้งใหม่ที่ท้าทาย ภายใต้เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี 2050 โดยมีเป้าหมายแรกคือ ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)’ ในปี 2030
เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ด้วยเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันผลกระทบที่เป็นหายนะจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่า ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มสูงไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
โดยหลังจากวิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้นในปี 2020 กลุ่มบริษัทบางจากได้ปรับองค์กรเพื่อความยั่งยืนผ่านแนวคิด 3Rs
Refocus: เร่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่กันกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
Restructure: การปรับองค์กรเพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดและลูกค้า และ Reimagine: การใช้โอกาสและเครื่องมือในการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท
เมื่อทั้งการเติบโตและการเดินหน้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลายเป็น 2 เรื่องที่กลุ่มบริษัทบางจากให้ความสำคัญ ทั้งหมดจึงถูกวางยุทธศาสตร์การเติบโตจนถึงปี 2030 ที่ครอบคลุมทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจ ตั้งแต่ธุรกิจที่เป็นรากฐานสำคัญอย่างธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน และกลุ่มธุรกิจการตลาด จนถึงธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญทั้งในแง่ของการเติบโตทางธุรกิจและดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งยุทธศาสตร์ของแต่ละธุรกิจจะสามารถขับเคลื่อนเป้าหมายที่ต้องการไปพร้อมๆ กันได้
ยุทธศาสตร์ธุรกิจที่กำหนดขึ้นสอดรับกับแนวทางของแผนงาน BCP 316 NET ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำธุรกิจ ครอบคลุม 4 แนวทาง
B – Breakthrough Performance (ร้อยละ 30) เน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน
C – Conserving Nature and Society (ร้อยละ 10) สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศผ่านการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ
P – Proactive Business Growth and Transition (ร้อยละ 60) เพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว เน้นขยายการลงทุนใหม่ๆ เทคโนโลยี ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
NET – Net Zero Ecosystem สร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการไปสู่เป้าหมาย Net Zero เช่น ธุรกิจแพลตฟอร์มให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Winnonie, การก่อตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต, การร่วมก่อตั้ง SynBio Consortium
ยุทธศาสตร์ธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต 5 กลุ่มธุรกิจ
กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มุ่งต่อยอดการเติบโตจากศักยภาพใหม่ๆ โดยนอกจากด้านการกลั่นและการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตแล้ว บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากน้ำมันยานยนต์ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดหรือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Products Refinery) เช่น Unconverted Oil และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) โดยบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงนอกยานยนต์เป็นกว่า 60% ภายในปี 2030
กลุ่มธุรกิจการตลาด เร่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ครบครัน เพื่อให้เป็นมากกว่าสถานที่เติมน้ำมัน โดยมุ่งมั่นเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ตอบโจทย์คนทุกวัยภายใต้แนวคิด ‘YOUR’ Greenovative Destination for Intergeneration ผ่านการเติบโตจากธุรกิจ Non-Oil อย่างอาหารและเครื่องดื่ม และ EV Charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนความร่วมมือกับคู่ค้าและรายได้จากแฟรนไชส์ เพื่อขยายเครือข่ายสถานีบริการบางจากด้วยเป้าหมาย 1,900 แห่ง และร้านกาแฟอินทนิล 3,000 แห่งทั่วประเทศในปี 2030
กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) วางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 6,800 GWh โดยมีสัดส่วนหลักจากการเติบโตในกลุ่มธุรกิจพลังงานสีเขียว ทั้งจากโครงการในประเทศอันเนื่องมาจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP 2022 ระหว่างปี 2022-2037) และการเติบโตในต่างประเทศตามการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกสู่พลังงานสะอาด เสริมด้วยธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต เช่น ธุรกิจแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงาน การให้บริการด้านเทคโนโลยีพลังงาน พลังงานรูปแบบใหม่ และธุรกิจคาร์บอนต่ำอื่นๆ
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดแนวทางและเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนธุรกิจหลักกว่า 70% ของ EBITDA ให้มาจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง โดยเน้นการรุกขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology หรือ SynBio) เพื่อนำมาออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพและความงามของผู้บริโภคสอดรับกับเทรนด์ของโลก เช่น Good Health and Well-Being นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนต่อยอดการเติบโตในกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ หลักๆ คือเชื้อเพลิงอากาศชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) สำหรับอุตสาหกรรมการบิน
กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานผ่านการขยายธุรกิจในกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ โดยในส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น มีเป้าหมายการผลิตมากกว่า 100,000 boepd (บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) ภายในปี 2030 จากการดำเนินการแหล่งปิโตรเลียมในประเทศของนอร์เวย์ผ่านบริษัทฯ OKEA ASA ที่กลุ่มบริษัทบางจากเป็นผู้ถือหุ้นหลักในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาการเติบโตในธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งอื่นๆ ที่มีศักยภาพในอนาคตอีกด้วย สำหรับกลุ่มธุรกิจใหม่อื่นๆ นั้น ได้ตั้งเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วน EBITDA กว่า 7,000 ล้านบาทภายในปี 2030 จากธุรกิจที่กำลังพัฒนา เช่น Winnonie ผู้นำแพลตฟอร์มให้บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าพร้อมเครือข่ายสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และธุรกิจ New S-Curve ใหม่ๆ
วางเป้าหมาย EBITDA เติบโต 10 เท่า
ชัยวัฒน์ย้ำว่า ด้วยการวางแผนเติบโตอย่างครอบคลุมในทุกธุรกิจตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะทำให้ EBITDA ในปี 2030 เติบโตถึง 10 เท่า จากระดับเฉลี่ยประมาณ 10,000 ล้านบาทในช่วงปี 2015-2020
ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงานและความยั่งยืนของโลก ตอกย้ำแนวทางการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคมที่บางจากฯ ให้ความสำคัญมาตลอดเกือบ 40 ปีของการดำเนินธุรกิจ
เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ‘กลุ่มบริษัทบางจาก’ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทในเครือมากกว่า 65 แห่ง ได้วางแผนงบการลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาทในอีก 8 ปีข้างหน้า พร้อมกับปรับสัดส่วนรายได้จากน้ำมันเหลือ 40% สัดส่วนใหญ่กว่า 60% จะมาจากธุรกิจอื่นๆ
“วันนี้เราเป็นมากกว่าโรงกลั่นและปั๊มน้ำมัน สะท้อนจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องน้ำมันอย่างเดียว แต่ได้ต่อยอดไปจนถึงพลังงานต่างๆ ซึ่งรวมถึงพลังงานที่เติมเข้าไปในชีวิตของผู้คนผ่านเรื่องสุขภาพต่างๆ ทำให้ตอนนี้มาปั๊มบางจากไม่ได้มีแค่เติมน้ำมันหรือซื้อกาแฟเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว”
ทั้งหมดนี้คือเส้นทางการเติบโตภายใต้ ‘ใบไม้ใบใหม่’ ซึ่งเป็นตัวแทนของนวัตกรรมพลังงานที่ขับเคลื่อนไปสู่อนาคตอย่างไม่สิ้นสุดของ ‘กลุ่มบริษัทบางจาก’ ที่พร้อมจะก้าวเดินอย่างแข็งแกร่งต่อไป