×

บางจากลั่น ดีลซื้อ ESSO มูลค่า 5.55 หมื่นล้าน ไร้แผนเพิ่มทุน เหตุมีวงเงินกู้แบงก์พร้อมกว่า 6 หมื่นล้าน ระบุ ราคาเหมาะสม ได้สินทรัพย์คุณภาพดีเพียบ

13.01.2023
  • LOADING...

บางจากชี้ ซื้อกิจการ ESSO มูลค่า 5.55 หมื่นล้านบาท ได้ราคาเหมาะสมและได้สินทรัพย์คุณภาพดีเพียบ ทั้งที่ดิน ปั๊มน้ำมัน และโรงกลั่น โดยระบุว่า ช่วยหนุนกำลังผลิตน้ำมันขึ้นเบอร์ 1 ของไทยแตะ 2.94 แสนบาร์เรลต่อวัน ยืนยันไม่มีแผนเพิ่มทุน หลังมีแบงก์สนับสนุนเงินกู้แล้ววงเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท

 

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น หรือ BCP กล่าวว่า ดีลการเข้าซื้อกิจการ บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) หรือ ESSO สัดส่วน 65.99% จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd โดยกำหนดราคาซื้อเบื้องต้นที่ 8.84 บาทต่อหุ้น ถือเป็นราคาที่มีความเหมาะสม ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และกรณีที่เสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมด (Tender Offer) จะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดย BCP จะได้กิจการของ ESSO เข้ามาที่มีมูลค่าสินทรัพย์รวมประมาณ 5.55 หมื่นล้านบาท 


บทความที่เกี่ยวข้อง


“ดีลซื้อ ESSO ใช้เวลาคุยกันมานาน 8 เดือน – 1 ปี กว่าจะเซ็นสัญญาตกลงซื้อ-ขายกันได้ จนวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ประชุมกันถึงบ่าย 2 โมง คิดว่าจะได้เซ็นสัญญาตอน 5 โมงเย็น แต่คุยเจรจากันจนจบ เซ็นสัญญาจริงตอน 3 ทุ่ม เพราะความไม่แน่นอนในหลายเรื่อง”

 

ที่มามูลค่ากิจการ 5.55 หมื่นล้านบาท 

สำหรับ ESSO มูลค่ากิจการ 5.55 หมื่นล้านบาท เป็นการคำนวณกรอบราคาซึ่งรวมทั้งสินทรัพย์และหนี้สินปัจจุบันของ ESSO ที่มีประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อให้มีความยุติธรรมทั้งฝั่งผู้ซื้อกับผู้ขาย อย่างไรก็ดี ราคาซื้อขายหุ้น ESSO ที่ 8.84 บาทต่อหุ้นเป็นราคาเบื้องต้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลงบการเงินงวดไตรมาสสุดท้ายก่อนที่จะมีการเซ็นสัญญาซื้อ-ขายชำระค่าหุ้น โดยจะมีการประเมินมูลค่าจากหนี้กับสินทรัพย์ที่มี เพื่อให้ได้ราคาซื้อ-ขายสุดท้ายอีกครั้ง

 

อีกทั้งดีลการซื้อกิจการ บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) ถือเป็นการลงทุนที่อยู่ในแผนของบริษัทบางจาก เนื่องจากเมื่อ 4 ปีก่อนบริษัทได้กำหนดแผนธุรกิจภายใน โดยต้องการจะลงทุนโรงกลั่นเพิ่มเป็นที่ 2 ด้วยการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยในช่วงที่ผ่านมามีโรงกลั่นเข้ามาเสนอขายจำนวนประมาณ 3 แห่ง โดยหนึ่งในนั้นคือ ESSO ซึ่งสามารถบรรลุข้อตกลงได้เร็วกว่าผู้ขายรายอื่น

 

นอกจากนี้หลังการเข้าซื้อกิจการ ESSO จะเห็นการสร้างประโยชน์ร่วม (Synergy) ทางธุรกิจทันที เพราะจะช่วยประหยัดต้นทุนโดยรวมลดลงได้ประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ มาจากความร่วมกันไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดหาน้ำมันดิบ, การใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน, มีการประหยัดต่อขนาดที่ดีขึ้นในการบริหารจัดการ และอื่นๆ อีกหลายด้าน

 

“ดีล ESSO ถือว่าซื้อมาได้ในราคาที่เหมาะสม เพราะตามงบการเงินสอบทานในไตรมาส 3/65 ของ ESSO จะได้ราคาเบื้องต้นประมาณ 8.84 บาท ต่อ 1 หุ้น ซึ่งต่ำกว่าราคากระดาน ดีลการซื้อกิจการครั้งนี้หากดูสินทรัพย์ที่บางจากได้เข้ามา มีทั้งน้ำมันในสต๊อกของ ESSO มูลค่า 2.50 หมื่นล้าน, ที่ดิน 800 ไร่ที่ศรีราชา มูลค่า 1.20 หมื่นล้านบาท, ปั๊มน้ำมัน ESSO กว่า 700 แห่ง มูลค่า 1.50 หมื่นล้านบาท, หุ้นของ BAFS ที่ ESSO ถืออยู่ 7% มูลค่า 3,000 ล้านบาท รวมกันๆ ก็มีมูลค่า 5.5 หมื่นล้านบาทไปแล้ว ยังไม่นับโรงกลั่น ESSO ที่มีกำลังการกลั่น 1.74 แสนบาร์เรลต่อวัน เหมือนกับได้โรงกลั่นมาฟรี โดยเมื่อรวมกับโรงกลั่นบางจากจะมีกำลังการกลั่นรวมเพิ่มเป็น 2.94 แสนบาร์เรลต่อวัน ขึ้นเป็นโรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วย” ชัยวัฒน์กล่าว

 

สำหรับการดำเนินการขั้นตอนต่อไป บริษัทเตรียมเสนอต่อผู้ถือหุ้นให้พิจารณาอนุมัติในต้นเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะยื่นเรื่องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าดีลจะเสร็จสิ้นได้ในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 ส่วนกรณีที่หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล อาจทำให้ดีลนี้แล้วเสร็จอย่างช้าที่สุดคือเดือนธันวาคมปีนี้หรือต้นปี 2567

 

ทั้งนี้ การเข้าซื้อ ESSO ในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่สนับสนุนให้บริษัทสามารถสร้างเป้าหมายกำไรก่อนภาษี ค่าเสื่อม และดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA) ในปี 2573 เพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท

 

ส่วนแผนการดำเนินงานภายหลังซื้อกิจการ ESSO สำเร็จ เบื้องต้นบริษัทจะดำเนินการปรับปรุงปั๊มน้ำมัน ESSO ที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นปั๊มน้ำมันแบรนด์ของบางจาก ขณะเดียวกันก็ยังมุ่งเน้นการทำเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2568 ควบคู่กันไป

 

ด้าน ภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บริษัทเตรียมวงเงินกู้จากสถาบันการเงินไว้พร้อมเพื่อรองรับการทำ Tender Offer และหนี้ของ ESSO ครบถ้วนแล้ว วงเงินรวมประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ขณะที่การซื้อหุ้นดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทบางจากเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.70 เท่า จากเดิม 0.6 เท่า โดยไม่ได้สูงเกินไป เนื่องจากยังไม่เกินระดับ 2 เท่า ดังนั้นทำให้บริษัทยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X