×

นอนโฮมสเตย์ เรียนรู้เรื่องผ้า ณ ชุมชนต้นแบบ ‘บ้านสนวนนอก’ จังหวัดบุรีรัมย์

21.07.2018
  • LOADING...

5 ปีที่ผ่านมา จังหวัดบุรีรัมย์เปลี่ยนไปมาก มีทั้งสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ สนามแข่งรถ รวมไปถึงโรงแรมหลากหลายระดับเข้ามาตั้งรกราก สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ทว่าคราวนี้เราไม่ได้พาคุณไปเยือนสถานที่เหล่านั้น หากแต่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตอำเภอห้วยราช ‘บ้านสนวนนอก’ ที่พัฒนาต่อยอดวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนเองให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพจนได้รับคัดเลือกให้เป็น ‘ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน’ จากกระทรวงมหาดไทย

 

 

บ้านสนวนนอกเป็นชุมชนโบราณที่มีขนาดเล็กเพียง 150 ครัวเรือน เดิมพื้นที่บริเวณหมู่บ้านเป็นผืนป่าทึบที่มีต้นสนวนขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก คนในหมู่บ้านและคนภายนอกจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า ‘บ้านสนวนนอก’ ตามชื่อต้นไม้

 

 

 

ชาวบ้านที่นี่ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาถิ่น และยังดำรงชีพด้วยงานเกษตรกรรม ทำไร่ไถนาเป็นหลัก หมดหน้าน้ำเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็อาศัยรายได้จากงานจักสาน หัตถกรรม และการทอผ้าเสริมเข้ามา คนในหมู่บ้านเชื่อว่าลูกสาวบ้านไหนสาวไหมไม่เป็น หรือผู้ชายบ้านไหนทำเครื่องจักสานข้าวของใช้เองไม่ได้ก็เป็นอันตกพุ่มม่าย ไม่ได้แต่งงานแน่นอน ดังนั้นผู้หญิงในหมู่บ้านจึงทอผ้าเป็นทุกคนและทอใช้เองตั้งแต่ยังสาว ทำเองทุกขั้นตอนตั้งแต่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ไปจนถึงซักฟอกและถักทอ

 

 

 

เอกลักษณ์ของผ้าไหมบ้านสนวนนอกคือผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดง ผ้าไหมลายดั้งเดิมที่ตกทอดกันมาแต่โบราณ โดยมีลายยกดอกพิกุลเป็นลายเอกลักษณ์ของบ้านสนวนนอก ลักษณะลวดลายเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความประณีตและงดงาม โดยใช้เทคนิคการควบเส้นในการปั่นด้ายตามความเชื่อเรื่องความกลมเกลียวสามัคคีในครอบครัว ซึ่งไหมที่ถูกควบแล้วจะนำไปถักทอ เมื่อนำมาใช้เป็นเส้นพุ่งทอกับเส้นยืน สีพื้นจะทำให้เกิดลายเหลื่อมกันเป็นสีเหลืองคล้ายหางกระรอก เรียกว่า ‘กะนีว’ หรือ ‘ผ้าหางกระรอก’ ลักษณะของผ้ากะนีวนี้ผิวสัมผัสจะมีความมันระยิบระยับ เมื่อนำไปส่องกับแดดจะแยกสีได้ชัดเจน

 

 

 

ผู้ใหญ่บ้านพาเราชมขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การเก็บใบหม่อน ณ สวนปลูกหม่อน ซึ่งอยู่ในสวนตามบ้านต่างๆ หลังจากนั้นจึงพาเราไปดูการเลี้ยงตัวไหม สาวด้ายออกรัง ลองต้ม ซัก ฟอก ย้อมไหม ไปจนถึงการทอ เวลาดูคุณป้าคุณยายทั้งหลายทำแล้วรู้สึกว่าง่ายแสนง่าย แต่พอลองทำจริงก็รู้เลยว่าต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญเป็นสำคัญ

 

 

 

เมื่อได้ใบหม่อนแล้วก็เอามาเลี้ยงไหม ขุนให้โตจนตัวเป็นสีเหลืองสุกก็จะเริ่มทำรังเป็นดักแด้

 

 

 

รังไหมที่เตรียมไว้สาวไหมเป็นเส้นๆ

 

 

 

เวลาสาวก็จะเอาต้มลงหม้อ แล้วก็ใช้เครื่องปั่นด้ายสาวขึ้นมา

 

 

 

พอได้ไหมดิบก็เอาไปซักฟอกให้นุ่ม พร้อมนำไปใช้

 

 

 

หลังจากนั้นก็มัดหมี่ทำลวดลาย ก่อนเอาไปทอเป็นผืนใหญ่

 

 

 

สำหรับผ้าทอ ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม และงานหัตถกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ พัด ของประดับตกแต่ง ส่วนใหญ่จะถูกนำมาวางขายให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อ ณ บริเวณตลาดโบราณ ซึ่งเปิดขายทุกวันเสาร์ หรือเมื่อมีคณะดูงานมาเยี่ยมชมหมู่บ้าน

 

 

 

ตกเย็นผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเลี้ยงต้อนรับเราด้วยอาหารพื้นถิ่นนานาชนิด เช่น แกงกล้วย ต้มไก่ใบหม่อน บวดบุก ยำดักแด้ รวมถึง ‘ขนมตดหมา’ ขนมพื้นบ้านลักษณะคล้ายขนมจาก ชื่อไม่น่าภิรมย์ แต่รสชาติอร่อยขัดกับชื่อมาก ทั้งยังมีพิธีบายศรีสู่ขวัญและการแสดงพื้นเมือง ‘รำกันตรึม’ บรรยากาศเฮฮาสนุกสนาน และอาหารอร่อยมาก

 

 

 

ยำดักแด้ มีโปรตีนสูงและมีฤทธิ์เป็นไวอากร้าถ้ากินเกิน 20 ตัว

 

 

 

การท่องเที่ยวในหมู่บ้านสนวนนอก นอกจากจะได้มาเห็นกระบวนการทอผ้าไหมและวิถีชีวิตต่างๆ ของชาวบ้านแล้วยังสามารถเยี่ยมชมและทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการตักบาตรยามเช้า แวะสักการะ ‘ศาลหลวงปู่อุดม’ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ เป็นดั่งผู้คุ้มครองหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ใครจะมาจะไปต้องมาไหว้และบอกกล่าว หรือจะชมความงามของพระอุโบสถ ‘วัดสนวนนอก’ วัดสำคัญของชุมชนที่มีหลวงพ่อพระไม้เป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัด ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถหลังเก่า

 

 

 

ตักบาตรยามเช้า

 

 

 

พิพิธภัณฑ์บ้านโบราณอายุกว่า 100 ปีที่มีคนในชุมชนอาศัยอยู่จริง

 

 

 

ปกติเวลาเราไปเที่ยวหมู่บ้านโฮมสเตย์ ต้องมาเป็นหมู่คณะจึงสามารถสัมผัสประสบการณ์ที่เอ่ยอ้างขึ้นมาได้ แต่สำหรับบ้านสนวนนอกนั้นต่างออกไป บ้านทุกหลังทำกิจกรรมต่างๆ จริง ยังคงใช้วิถีชีวิตแบบนั้นจริงๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินไปชมหรือคุยกับชาวบ้านคนไหนก็ได้ แค่พกรอยยิ้มและคำแนะนำตัวนิดหน่อย ซึ่งชาวบ้านทุกคนล้วนแล้วแต่มีมิตรไมตรีที่ดีงาม พร้อมจะแนะนำ ให้ความรู้ และยินดีเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเรียนรู้อย่างเต็มใจ ซึ่งฉันรู้สึกชอบมาก และรู้สึกว่าเราได้สัมผัสประสบการณ์นั้นจริงๆ มากกว่าไปนอนโฮมสเตย์เล่นๆ แบบงงๆ โดยไม่ได้รับประสบการณ์อะไรกลับมาเลย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X