×

กรณีศึกษาเวียดนาม กับนโยบาย ‘การทูตไผ่ลู่ลม’ ที่เปิดรับโลกกว้าง ต้อนรับทุกขั้วอำนาจ

25.06.2024
  • LOADING...
นโยบายการทูต เวียดนาม

การเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายนที่ผ่านมา ถูกจับตามองจากทั่วโลก เนื่องจากเป็นการขยับของมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่พยายามมุ่งหาพันธมิตร ท่ามกลางภาวะยากลำบากจากการถูกโดดเดี่ยวและคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ และชาติตะวันตก อันเนื่องจากกรณีการทำสงครามรุกรานยูเครน

 

โต เลิม ประธานประเทศ (ประธานาธิบดี) แห่งเวียดนามให้การต้อนรับปูตินอย่างสมเกียรติ พร้อมยืนยันสานสัมพันธ์แน่นแฟ้น ในขณะที่ปูตินเน้นย้ำการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับเวียดนาม

 

บรรยากาศสายสัมพันธ์อันดีที่เวียดนามมีต่อรัสเซีย ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้รัฐบาลฮานอยถูกมองว่ากำลังเปิดพื้นที่ให้รัสเซียในการส่งเสริมการทำสงคราม และถูกเพ่งเล็งว่ากำลังเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ ในยุคที่ดุลอำนาจโลกกำลังดำเนินไปแบบหลายขั้ว (Multipolar World)

 

อย่างไรก็ดี เวียดนามพยายามทำให้การเปิดบ้านต้อนรับผู้นำรัสเซียไม่ใช่เรื่องผิดปกติ โดยหากมองความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา เวียดนามได้ต้อนรับทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ (วันที่ 10-11 กันยายน 2023) และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน (วันที่ 12-13 ธันวาคม 2023) อีกทั้งยังยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ สู่ระดับสูงสุด ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการทูตแบบไผ่ลู่ลม (Bamboo Diplomacy) ที่รัฐบาลฮานอยชูว่ามีอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีการเลือกยืนข้างมหาอำนาจฝ่ายใดเป็นพิเศษ

 

การถ่วงดุลของทั้ง 3 มหาอำนาจ เชื่อว่าเป็นผลจากบทเรียนในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของเวียดนาม ซึ่งวนเวียนอยู่กับสงครามและการเลือกข้าง จนทำให้ประเทศต้องเผชิญความแตกแยกและความทุกข์ยากนานหลายทศวรรษ

 

ขณะที่เวียดนามเชื่อมั่นอย่างมากในนโยบายการทูตที่ ‘ทั้งอ่อนโยนและเข้มแข็ง’ มองถึงผลดีจากการเป็นมิตรกับทุกฝ่าย มากกว่าการเลือกข้างและเป็นศัตรูกับชาติใด

 

สายสัมพันธ์มหาอำนาจ กับการเปลี่ยนนโยบายการทูต

 

ทิศทางนโยบายการทูตของเวียดนามที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนมาถึงปัจจุบัน โดยมีความสัมพันธ์แบบ ‘ทั้งรักทั้งชัง’ กับมหาอำนาจอย่างรัสเซีย จีน และสหรัฐฯ

 

ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับรัสเซียนั้น นับย้อนไปได้ไกลถึงยุคสหภาพโซเวียต ในช่วงสงครามเย็นที่เวียดนามต้องเลือกข้าง คืออยู่ฝั่งคอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตย โดยการเลือกอุดมการณ์ถือเป็นกรอบใหญ่ของความสัมพันธ์ในขณะนั้น

 

รัสเซียและเวียดนามเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในยุคโซเวียต ปี 1950 และเตรียมจะฉลองครบรอบ 75 ปีในปีหน้า โดยโซเวียตถือเป็นชาติที่ 2 ต่อจากจีน ที่ประกาศรับรองเอกราชของเวียดนาม หลังการทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศสในช่วงสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1

 

ตลอดทั้ง 7 ทศวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ และสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศของเวียดนามด้วย

 

รศ.ดร.ธนนันท์ บุ่นวรรณา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เวียดนาม เล่าที่มาความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและเวียดนาม โดยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เวียดนามซึ่งยึดถือระบอบสังคมนิยม มีพันธมิตรสำคัญคือจีนและโซเวียต แต่ในช่วงปลายทษวรรษที่ 70 เกิดความขัดแย้งระหว่างเวียดนามและจีน จนถึงขั้นตัดขาดความสัมพันธ์ทางการทูต จากการที่กองทัพเวียดนามบุกยึดครองกัมพูชา และล้มล้างรัฐบาลเขมรแดงที่จีนให้การสนับสนุน ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลจีนที่นำโดยเติ้งเสี่ยวผิง และจุดชนวนให้เกิดสงครามบริเวณชายแดนตอนเหนือของเวียดนามที่รู้จักในชื่อ ‘สงครามสั่งสอนเวียดนาม’

 

ผลจากการแตกหักความสัมพันธ์กับจีน และถูกนานาชาติคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวจากการยึดครองกัมพูชา ทำให้เวียดนามหันไปพึ่งพาโซเวียตมากขึ้น และยึดเอาโซเวียตเป็นเสาหลักด้านนโยบาย ขณะที่โซเวียตก็ให้ความช่วยเหลือเวียดนามอย่างมาก ทั้งในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ เงินช่วยเหลือ และทุนการศึกษาสำหรับประชาชนเวียดนาม โดยแลกกับการที่เวียดนามยอมให้โซเวียตตั้งฐานทัพได้ที่จังหวัดคั้ญหว่า (Khánh Hòa)

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายยุคสงครามเย็นในปี 1986 รัฐบาลเวียดนามตัดสินใจประกาศเปิดประเทศ และกำหนดนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจที่เรียกว่า โด่ยเหมย (Doi Moi) และมุ่งเน้นนโยบายต่างประเทศที่เปิดกว้างสำหรับความสัมพันธ์ฉันมิตรกับทุกประเทศ ทั้งที่เป็นคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตยโดยไม่เลือกข้าง ภายใต้หลักการ เคารพเอกราช อธิปไตย เสมอภาค และมีผลประโยชน์ร่วมกัน เนื่องจากมองว่าการเลือกข้างนั้นไม่ตอบโจทย์ในหลายด้าน เช่น การค้าขายที่ต้องทำกับประเทศที่เป็นสังคมนิยมเท่านั้น

 

กระทั่งปี 1994 รัสเซียและเวียดนามได้ลงนามในสนธิสัญญาความสัมพันธ์พื้นฐานฉันมิตร (Treaty on Principles of Friendly Relations) ที่ยึดถือหลักการเคารพในเอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ความเสมอภาค ไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน

 

นอกจากนั้น ยังยกระดับไปสู่ความสัมพันธ์ทางการทูตระดับสูงสุด คือการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) และมีความร่วมมือกันในหลายด้าน เช่น การค้า การลงทุน พลังงาน การศึกษา และความมั่นคง โดยรัสเซียถือเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ให้กับเวียดนามนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000

 

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับจีน หวนกลับคืนสู่ระดับปกติในปี 1991 ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยจีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเวียดนามจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าทั้งสองประเทศจะยังมีข้อพิพาทกันเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ และมีการกระทบกระทั่งกันหลายครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

ส่วนเวียดนามและสหรัฐฯ ที่แม้จะมีการสู้รบกันยาวนานในสงครามเวียดนาม ก็สามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกลับสู่ระดับปกติได้ในปี 1995 ก่อนที่จะยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน หลังการเยือนของประธานาธิบดีไบเดนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเวียดนามยังได้รับประโยชน์จากการที่สหรัฐฯ เตรียมทบทวนการยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของตลาดเวียดนาม ซึ่งจะช่วยลดภาษีสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ

 

ต้อนรับปูติน ใครได้ใครเสีย

 

สำหรับปูติน ซึ่งแม้ตอนนี้จะถูกศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ออกหมายจับในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามจากการรุกรานยูเครน แต่เขายังคงไม่หวั่นเกรงและเดินหน้าเข้าหาพันธมิตรหรือแนวร่วมในขั้วการเมืองโลกและเศรษฐกิจ เช่นกลุ่ม BRICS ที่มีสมาชิกหลักคือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ และล่าสุดคือการเดินทางเยือนสองประเทศพันธมิตรในเอเชีย คือเกาหลีเหนือและเวียดนาม

 

ในมุมของเวียดนามนั้น การต้อนรับปูตินที่แม้จะดูค้านสายตาสหรัฐฯ แต่ก็มีผลบวก โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นถึงการรักษาสมดุลในนโยบายต่างประเทศ และทำให้เวียดนามเป็นมิตรกับทุกขั้วอำนาจของโลก

 

เล ฮอง เฮียป (Le Hong Hiep) นักวิจัยโครงการเวียดนามศึกษาที่สถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ เชื่อว่ารัฐบาลเวียดนามก็พยายามระมัดระวังที่จะไม่ทำให้ถูกมองว่าใกล้ชิดกับรัสเซียมากเกินไป เนื่องจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรยังมีความสำคัญกว่าในด้านความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม

 

รศ.ดร.ธนนันท์ชี้ว่า การเยือนเวียดนามของปูติน มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์ดั้งเดิมที่เคยมีมา ซึ่งการที่เวียดนามต้อนรับปูติน เป็นไปตามนโยบายการต่างประเทศของเวียดนาม ณ ปัจจุบัน ที่เรียกว่า ‘หง่วยยาวไกแจ (Ngoai giao cay tre)’ หรือการทูตแบบต้นไผ่ หรือไผ่ลู่ลม ซึ่งเป็นมิตรกับทุกฝ่ายและไม่เลือกข้าง (Khong chon ben nao)

 

อย่างไรก็ตาม การไม่เลือกข้างแบบที่เวียดนามเป็นอยู่จะดีหรือไม่ดีนั้น รศ.ดร.ธนนันท์มองว่า เวียดนามนั้นมีบทเรียนมาแล้วจากการเลือกข้างในอดีต ซึ่งทำให้ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามหรือตัวร้ายในภูมิภาค

 

ดังนั้นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในลักษณะเปิดรับทุกชาติมหาอำนาจเช่นนี้ จึงน่าจะเป็นการลบภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ และนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ที่นานาประเทศรวมถึงเพื่อนบ้านอาเซียน สามารถมั่นใจได้ว่าเวียดนามจะไม่กลายเป็นภัยคุกคามอีก

 

การทูตแบบไผ่ลู่ลม

 

นโยบายการทูตแบบไผ่ลู่ลมของเวียดนาม มีพื้นฐานมาจากแนวคิดของลัทธิมาร์กซ์-เลนิน และอุดมการณ์ของโฮจิมินห์คือ ‘เพิ่มมิตรลดศัตรู’ โดยเหงียน ฟู้ จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ประกาศใช้นโยบายการทูตดังกล่าวในปี 2016

 

รศ.ดร.ธนนันท์ชี้ว่า ลักษณะเฉพาะที่ทำให้นโยบายการทูตของเวียดนามไม่เหมือนกับชาติใด เนื่องจากเป็นการทูตในลักษณะที่ต้องวิเคราะห์และเข้าใจสถานการณ์โลก ทั้งภายนอกและภายในประเทศอย่างถ่องแท้ และมีปฏิบัติการที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับทุกการผันผวนและคาดการณ์ไม่ได้

 

“เวียดนามพยายามไม่ยุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ข้างนอก โดยแม้จะรู้ว่ารัสเซียเป็นอย่างไร แต่ก็จะไม่พูดถึงประเด็นนั้น และพูดเฉพาะว่าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกันอย่างไร และผลประโยชน์ที่เราได้ระหว่างกันคืออะไร” รศ.ดร.ธนนันท์กล่าว

 

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยก็ยึดถือนโยบายต่างประเทศแบบไม่เลือกข้าง และถูกเรียกจากหลายฝ่ายว่าเป็นนโยบายแบบไผ่ลู่ลมเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม หลักการของนโยบายการทูตเวียดนามที่แตกต่างกับไทยอย่างชัดเจนคือ มีการชี้นำจากพรรคคอมมิวนิสต์ และมุ่งเน้นนโยบายที่แข็งแรง แข็งแกร่ง และยืดหยุ่น ซึ่งเป็นไปตามอุดมการณ์โฮจิมินห์ ผสมด้วยกลิ่นอายของแนวคิดตามระบอบสังคมนิยม

 

สำหรับท่าทีของเวียดนามที่เปิดรับมหาอำนาจทุกประเทศนั้น รศ.ดร.ธนนันท์ชี้ว่า การเปิดรับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลเวียดนามต้องประเมินมาแล้วว่า ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์

 

โดยนโยบายการทูตแบบต้นไผ่ของเวียดนามยังมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุกที่มากขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจและการทูต ซึ่งสิ่งที่ทำให้การดำเนินนโยบายมีความต่อเนื่อง มีปัจจัยสำคัญคือการเมืองเวียดนามที่ค่อนข้างมีความมั่นคง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายแบบฉับพลัน อีกทั้งยังมีผู้นำดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง ทำให้สามารถดำเนินนโยบายเชิงรุก และกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศโดยมองไปถึงอนาคต

 

สำหรับคำถามว่าท้ายที่สุดแล้ว เวียดนามจะต้องกลับมายืนอยู่ข้างมหาอำนาจฝ่ายใดอีกหรือไม่ รศ.ดร.ธนนันท์มองว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเวียดนามมีการถอดบทเรียนมามากพอสมควร และมีการวิเคราะห์และเข้าใจสถานการณ์โลก ทั้งภายนอกและภายในประเทศอย่างถ่องแท้

 

“คิดว่าท้ายที่สุดเวียดนามก็ไม่กลับมาเลือกข้าง เพราะถอดบทเรียนมามากพอสมควร มีความเข้าใจว่าสถานการณ์โลกนั้นซับซ้อนและผันผวน”

 

ทั้งนี้ รศ.ดร.ธนนันท์ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของเวียดนามมาสู่นโยบายแบบไผ่ลู่ลม เป็นผลจากสถานการณ์ในอดีต ทั้งสงคราม ความขัดแย้ง และการแย่งชิงอำนาจ ตลอดจนการถูกคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก และคงไม่เกินจริงนัก หากจะมองว่าประสบการณ์ของเวียดนามในแง่การต่างประเทศ น่าจะเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าและมีประโยชน์สำหรับหลายประเทศ

 

โดยวาทกรรมหนึ่งที่เวียดนามนำมาใช้เพื่อลบภาพความขัดแย้ง และฟื้นฟูมิตรภาพกับประเทศมหาอำนาจที่เคยสู้รบกันคือ

 

“ลืมสิ้นอดีต มองสู่อนาคต (quen de qua khu ,nhin toi tuong lai)”

 

ภาพ: Sputnik / Kristina Kormilitsyna / Kremlin via Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising