×

กองกำลังปลดปล่อยบาลูจิสถาน: ปฏิบัติการจู่โจมโรงแรมในกวาดาร์ มุ่งทวงทรัพยากรและทำลายเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน

14.05.2019
  • LOADING...
Balochistan Liberation Army

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ชาวบาลูจิและกลุ่มชนเผ่าที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนมองว่าโครงการความร่วมมือขนาดใหญ่ในแคว้นบาลูจิสถานอย่างระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถานไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ต่อชาวบาลูจิในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกต่อต้านจนนำไปสู่การก่อเหตุรุนแรงอยู่เนืองๆ
  • การจู่โจมโรงแรมเพิร์ล คอนติเนนตัล เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มติดอาวุธบาลูจิ (BLA) ยังไม่ต้อนรับนักลงทุน และไม่ยินดีกับโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับปากีสถานในพื้นที่นี้ เพราะมองว่าโครงการต่างๆ เอื้อประโยชน์ให้คนนอกเข้ามากอบโกยมากกว่า
  • ปัญหาที่เกิดขึ้นในแคว้นบาลูจิสถานคล้ายกับปัญหาปากีสถานตะวันออก (บังกลาเทศในปัจจุบัน) ก่อนปี 1971 โดยในยุคนั้นชาวปากีสถานตะวันออกเห็นว่าฝ่ายตนถูกเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ รายได้จากผลผลิตทางการเกษตรจากปากีสถานตะวันออกถูกนำไปใช้พัฒนาปากีสถานตะวันตกมากเกินไป เช่นเดียวกับรายได้จากบาลูจิสถานไม่ถูกนำกลับมาพัฒนาแคว้นเท่าที่ควร จึงก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงภายใน และกำลังยกระดับสู่การทำลายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อโครงการเส้นทางสายไหมของจีนด้วย

สถานการณ์ความรุนแรงและการก่อการร้ายไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับปากีสถาน โดยเฉพาะเมื่อนับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายเมื่อปี 2001 ปากีสถานยังเป็นพันธมิตรแนวหน้าของสหรัฐฯ และเป็นศูนย์กลางการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปากีสถานเผชิญความรุนแรงหลายรูปแบบมาก

 

แต่ในปัจจุบัน ปากีสถานภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่าน ซึ่งมีจุดยืนต่างจากผู้นำคนก่อนๆ คือไม่ยอมให้สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทเหนือนโยบายต่างประเทศและการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายในประเทศ ผลที่ตามมาแม้จะทำให้ปากีสถานกับสหรัฐฯ ต้องมีปัญหาหรือห่างเหินกัน แต่ก็ทำให้บรรยากาศความรุนแรงในประเทศลดน้อยลง

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงความรุนแรงจากปัญหาการก่อการร้ายในปากีสถาน หลายคนจะนึกถึงกลุ่มตาลีบันปากีสถาน (Tehrik-i-Taliban Pakistan – TTP) กลุ่มอัลกออิดะห์ (Al-Qaeda) กลุ่มติดอาวุธที่ต้องการปลดปล่อยแคชเมียร์ออกจากอินเดียอย่างกลุ่มลาชการ์ อี ไตบา (Lashkar-e-Taiba) กลุ่มจาอิช อี มูฮัมหมัด (Jaish-e-Muhammad – JeM) และกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State – IS) เป็นต้น

 

แต่ยังมีบางกลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาตินิยมที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แม้จะมีปฏิบัติการและเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องเพื่อแบ่งแยกดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถานที่เรียกว่าแคว้นบาลูจิสถาน (Balochistan Province) โดยกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า ‘กองกำลังปลดปล่อยบาลูจิสถาน’ (Balochistan Liberation Army – BLA)

 

ปฏิบัติการล่าสุดของ BLA เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2019 ซึ่งเป็นข่าวไปทั่วโลกคือการก่อเหตุยึดโรงแรมเพิร์ล คอนติเนนตัล ซึ่งเป็นโรงแรมหรูในเมืองกวาดาร์ เมืองท่าสำคัญของแคว้นบาลูจิสถาน มือปืน 3 คนบุกเข้าไปในโรงแรมและพยายามจับตัวประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติหรือชาวจีนแผ่นดินใหญ่ คนร้ายที่บุกจู่โจมเข้าไปพยายามข่มขู่ว่ามีอาวุธหนัก มีระเบิด รวมถึงขู่จะใช้วิธีระเบิดฆ่าตัวตายด้วย เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เป็นพนักงานโรงแรม 4 คน และทหารเรือปากีสถาน 1 นาย

 

ด้วยความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของเมืองกวาดาร์และท่าเรือน้ำลึก ซึ่งปากีสถานและจีนตกลงกันสร้างเป็นจุดเชื่อมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน และเป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของเส้นทางสายไหมใหม่ทางทะเลของจีน การก่อเหตุจู่โจมยึดโรงแรมหรูในเมืองกวาดาร์ ซึ่งคาดว่าคนร้ายทราบข้อมูลมาก่อนว่ามีนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวจีน อาจสะท้อนให้เห็นเป้าหมายบางอย่างของกลุ่มคนร้ายที่มุ่งโจมตีสัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจและชาวต่างชาติในพื้นที่ ซึ่งปฏิบัติการของกลุ่ม BLA และความขัดแย้งกับรัฐบาลกลาง รวมทั้งจุดมุ่งหมายของกลุ่มนี้มีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งมิติการเมืองและความรุนแรงภายใน มิติทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การต่อสู้ของกลุ่มขบวนการชาตินิยม ตลอดจนภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจด้วย

 

Balochistan Liberation Army

 

แคว้นบาลูจิสถานกับการต่อสู้ของกองกำลังปลดปล่อยบาลูจิสถาน (BLA)

บาลูจิสถานเป็นแคว้นที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับแคว้นอื่นๆ ของปากีสถาน ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ มีอาณาเขตทางตะวันตกติดกับประเทศอัฟกานิสถานและอิหร่าน ทางใต้ติดทะเลอาหรับ มีประชากรประมาณ 12 ล้านคน มีภาษาบาลูจิเป็นภาษาถิ่น แม้จะเป็นแคว้นที่ใหญ่ที่สุด แต่กลับมีประชากรน้อยที่สุด

 

แม้ว่าแคว้นบาลูจิสถานจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน ทองแดง ทอง แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนกลับย่ำแย่ ซึ่งในบางครั้งสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นของประเทศ จึงเป็นสาเหตุให้ชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ไม่พอใจรัฐบาลกลาง บางกลุ่มหันไปจับอาวุธต่อต้านรัฐบาลและต้องการแยกดินแดน อันเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันขึ้นหลายต่อหลายครั้ง

 

ชาวบาลูจิส่วนหนึ่งมองว่ารัฐบาลกลางดำเนินนโยบายจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและอำนาจทางการเมืองไม่เป็นธรรม และไม่มีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของแคว้นนี้ แต่กลับใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ไปพัฒนาแคว้นอื่นๆ

 

กองกำลังปลดปล่อยบาลูจิสถาน (BLA) คือกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ก่อความรุนแรงในพื้นที่ และเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 4 ทศวรรษ แต่เพิ่งจะเป็นที่รู้จักในปี 2000 เพราะออกมาอ้างความรับผิดชอบเหตุวางระเบิดโจมตีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของปากีสถาน

 

เชื่อกันว่ากลุ่ม BLA คือกลุ่มที่แตกออกมาจากองค์กรประชาชนปลดปล่อยบาลูจิสถาน (Baloch People Liberation Organization – BPLO) ที่มีแบบแผนคล้ายคลึงกับองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestinian Liberation Organization – PLO) โดย BPLO ในอดีตเคยปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลอย่างหนักในทศวรรษที่ 1970 หรือในสมัยนายกรัฐมนตรีซุลฟิฆัร อาลี บุตโต โดยต้องการลอกเลียนแบบปากีสถานตะวันออกที่สามารถแยกตัวออกมาเป็นบังกลาเทศได้สำเร็จในปี 1971 แต่ BPLO ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถูกรัฐบาลของอาลี บุตโต ปราบปรามอย่างหนัก ใช้ทั้งกองทัพบกและกองทัพอากาศเข้าโจมตี ทำให้ผู้นำและสมาชิกต้องลี้ภัยกระจัดกระจายไปยังประเทศต่างๆ ทั้งอัฟกานิสถาน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต

 

แม้รัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาทั้งการหาทางเจรจาเพื่อจัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาพื้นที่และผลประโยชน์ที่ได้จากก๊าซและทรัพยากรอื่นๆ กลับไปยังแคว้นบาลูจิสถานมากขึ้น หรือแม้จะมีการผ่านกฎหมายปฏิรูปมากมายเพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ แต่สถานการณ์ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง กลุ่ม BLA ใช้วิธีการก่อเหตุหลายรูปแบบต่อเป้าหมายที่หลากหลาย ทั้งการโจมตีสำนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ความมั่นคง รถไฟ ท่อส่งก๊าซ เสาโทรศัพท์ รวมทั้งการโจมตีพลเรือนที่ไม่ใช่ชาวบาลูจิ ชาวปัญจาบ ชีอะห์ ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ครู และสถานศึกษา

 

ตัวอย่างของการโจมตีที่สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับปากีสถานคือการระเบิดท่อส่งก๊าซ 2 ครั้งในเมืองซุย ใกล้กับเมืองลาฮอร์ ทางตะวันออกของประเทศ ทำให้ไม่สามารถส่งก๊าซไปยังภาคกลางและภาคเหนือของประเทศนานกว่า 1 สัปดาห์ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 150–200 ล้านรูปีต่อวัน หรือประมาณ 2.2-3.3 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน

 

ที่ผ่านมากองกำลังของปากีสถานได้ตอบโต้และปราบปรามกลุ่มติดอาวุธในบาลูจิสถานอย่างหนักด้วยวิธีการต่างๆ เคยมีรายงานของ Human Rights Watch ปี 2010 ระบุว่ากองทัพปากีสถานได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ต้องสงสัยสมาชิกกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาวบาลูจิซึ่งหายตัวไปในระหว่างถูกดำเนินคดี ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เลวร้ายและซับซ้อนมากขึ้น

 

แต่ประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตมากคือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีบทบาทในการควบคุมหรือบริหารสถานการณ์ในแคว้นเลย แต่กลับเป็นหน่วยทหารป้องกันพรมแดน (Frontier Corps) ที่มีบทบาทมากกว่า นักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากลุ่มก่อความไม่สงบบาลูจิสถานที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนนั้นแตกต่างไปจากกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ในปากีสถาน เพราะเป็นประเด็นทางการเมืองที่จะต้องแก้ไขด้วยกระบวนการทางการเมือง ไม่ใช่ด้วยกำลังทหาร

 

Balochistan Liberation Army

 

เมืองท่ากวาดาร์ โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน เส้นทางสายไหม และการต่อสู้ของ BLA

การต่อสู้ของกลุ่ม BLA และชนเผ่าชาตินิยมอื่นๆ ในแคว้นบาลูจิสถานยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เมื่อรัฐบาลจีนกับปากีสถานตกลงยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน (New Silk Road) ที่ครอบคลุมทั้งทางบก (Silk Road Economic Belt) โดยเชื่อมเอเชียกับยุโรป และทางเรือ (Maritime Silk Road) ที่จะเชื่อมโยงเส้นทางการค้าทางทะเลรอบภูมิภาคที่ติดกับจีน ไม่ว่าจะเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอเชียเนีย แอฟริกาเหนือ เอเชียแปซิฟิก ทะเลอาหรับ และมหาสมุทรอินเดีย

 

ท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์พอร์ตในแคว้นบาลูจิสถานเป็นจุดเชื่อมโยงการค้าที่สำคัญมากเส้นทางหนึ่ง เพราะเป็นประตูทางออกของจีนไปยังมหาสมุทรอินเดีย อ่าวอาหรับ ช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งจะทำให้จีนสามารถสร้างเส้นทางการค้าและการขนส่งทรัพยากรพลังงานจากตะวันออกกลางและแอฟริกาผ่านช่องทางนี้ โครงการท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์พอร์ตถือเป็นโครงการใหญ่ที่เกิดขึ้นมาจากความตกลงว่าด้วยการสร้างระเบียงความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor)

 

ท่าเรือกวาดาร์ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งมิตรภาพระหว่างปากีสถานกับจีนในศตวรรษที่ 21 และด้วยความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันมายาวนาน จึงเป็นที่มาของวลีที่เกิดขึ้นในปี 2010 ระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศว่า “ความสัมพันธ์ปากีสถานกับจีนนั้นสูงยิ่งกว่าเทือกเขาหิมาลัย และลึกลงไปยิ่งกว่ามหาสมุทรอินเดีย”

 

ท่าเรือแห่งนี้ดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาโดยบริษัทของจีน หรือบริษัท China Overseas Port Holding Company (COPHC) ตามข้อตกลง CPEC จีนได้ให้งบประมาณในการสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและโครงการใหญ่ๆ เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตัวเลขปี 2017) อย่างไรก็ตาม หลังจากที่จีนเดินหน้าตามโครงการ CPEC และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เกิดความเชื่อมต่อตั้งแต่ชายแดนจีน-ปากีสถาน ไปจนถึงท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์ของแคว้นบาลูจิสถาน ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจต่อกลุ่มชาตินิยมบาลูจิ เพราะมองว่ากำลังถูกเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น

 

ชาวบาลูจิและกลุ่มชนเผ่าที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนมองว่าโครงการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะต่อชาวบาลูจิในพื้นที่ นอกจากนั้นชาวบาลูจิยังไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาโครงการดังกล่าวเลย ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านมากขึ้นและก่อเหตุรุนแรงอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะที่มุ่งเป้าไปยังการก่อกวนโครงการหรือคนที่เกี่ยวข้องกับ CPEC เช่น การลอบสังหารแรงงานที่กำลังทำงานอยู่ตลอดเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถานและท่าเรือกวาดาร์ ทำให้รัฐบาลต้องส่งทหารเข้าไปเสริมจำนวนมากเพื่อคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานชาวจีนที่มีกว่า 7,000 คน และชาวปากีสถานอีกบางส่วน

 

อย่างไรก็ตาม จากการพัฒนาตามโครงการต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ทำให้เมืองกวาดาร์มีความสำคัญมากขึ้นและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมาอีกมากมาย นักธุรกิจทั้งในและนอกประเทศก็เข้ามาลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนชาวจีน และนักท่องเที่ยวก็ตามมา

 

แต่กระนั้นการจู่โจมโรงแรมเพิร์ล คอนติเนนตัล ครั้งนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มติดอาวุธบาลูจิสถาน (BLA) ยังไม่ต้อนรับนักลงทุนและไม่ยินดีกับโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับปากีสถานในพื้นที่นี้ ซึ่งพวกเขาได้มีส่วนร่วมและมองว่าโครงการต่างๆ เอื้อประโยชน์ให้กับคนนอกเข้ามากอบโกยมากกว่า ดังนั้นสัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของบริษัทต่างๆ จึงตกเป็นเป้าของการโจมตีอย่างที่เห็น ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนระยะยาว และกระทบต่อแนวเส้นทางสายไหมของจีนได้ หากรัฐบาลปากีสถานไม่สามารถจัดการกับปัญหาความไม่พอใจของกลุ่มชาตินิยมแบ่งแยกดินแดนในแคว้นนี้ หรือไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ในบทความวิชาการเรื่อง ‘นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road Initiative): ความร่วมมือและความขัดแย้ง กรณีศึกษากวาดาร์พอร์ตแคว้นบาลูจิสถาน (Gwadar Port, Balochistan) ประเทศปากีสถาน’ ของ อดิ๊บ ยูซุฟ ระบุว่าเหตุการณ์ที่รุนแรงจากการก่อการร้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ติดอาวุธอย่างกองทัพปลดปล่อยบาลูจิสถาน (BLA) และกลุ่มอื่นๆ แม้จะเป็นไปในรูปแบบของการก่อความไม่สงบภายในแคว้น แต่ก็ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อกิจการระหว่างประเทศของรัฐบาลปากีสถาน เนื่องจากเป็นการทำให้เสถียรภาพและความสงบในพื้นที่ของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถานเกิดความสั่นคลอน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จีนไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่งในทุกพื้นที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน

 

Balochistan Liberation Army

 

รัฐบาลปากีสถานจึงต้องพยายามจัดการกับภัยคุกคามนี้ให้หมดสิ้นไปเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับจีน โดยการส่งกองกำลังทหารไปมากถึง 15,000 นายเพื่อรักษาความปลอดภัยในทุกๆ พื้นที่ของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน โดยเฉพาะสัญลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างท่าเรือกวาดาร์

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นในแคว้นบาลูจิสถานที่กล่าวมาคล้ายกับปัญหาปากีสถานตะวันออก (บังกลาเทศในปัจจุบัน) ก่อนปี 1971 ซึ่งไม่ได้มีพรมแดนติดปากีสถานตะวันตก เพราะมีอินเดียคั่นกลาง โดยในยุคนั้นชาวปากีสถานตะวันออกเห็นว่าฝ่ายตนถูกเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ รายได้จากผลผลิตทางการเกษตรจากปากีสถานตะวันออกถูกนำไปใช้พัฒนาปากีสถานตะวันตกมากเกินไป เช่นเดียวกับรายได้จากบาลูจิสถานไม่ถูกนำกลับมาพัฒนาแคว้นเท่าที่ควร จึงก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงภายในระหว่างกลุ่มชาตินิยมติดอาวุธ BLA และกำลังยกระดับสู่การทำลายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อเส้นทางสายไหมของจีนด้วย

 

น่าติดตามว่ารัฐบาลใหม่ไฟแรงของนายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่าน จะรับมือกับปัญหาท้าทายนี้อย่างไร จะใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างหนักเหมือนรัฐบาลก่อนๆ หรือใช้กระบวนการเจรจาสันติภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวบาลูจิทั้งในแง่ของการกระจายอำนาจการบริหารท้องถิ่นและการจัดสรรทรัพยากรอยางสมดุล แล้วจะสร้างความมั่นใจให้กับจีนและนักลงทุนภายนอกอย่างไร IS จะฉวยโอกาสเข้ามาสร้างเครือข่ายในแคว้นที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์แห่งนี้หรือไม่

 

ที่กล่าวมานี้อาจสรุปได้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงในบาลูจิสถานนั้นแตกต่างไปจากปัญหาความรุนแรงในพื้นที่อื่นๆ ของปากีสถาน ซึ่งมีรากเหง้ามาจากปัญหาทางการเมืองและความไม่พอใจในการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม แม้ปากีสถานหรือองค์กรภายนอกจะมองการต่อสู้ของกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ว่าเป็นการก่อการร้าย แต่ในมุมของชาวบาลูจิยังเชื่อว่าการต่อสู้ของพวกเขาเป็นปฏิบัติการทวงคืนสิทธิในทรัพยากรของตัวเอง และไม่ต้องการเห็นโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจใดๆ ที่พวกเขาคิดว่าไม่ได้ก่อประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่อย่างเป็นธรรม

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

    • มาโนชญ์ อารีย์. “ปากีสถาน” ในวารสารเอเชียรายปี 2005/2548, กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

    • มาโนชญ์ อารีย์. “ปากีสถาน” ในวารสารเอเชียรายปี 2006/2549, กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

    • มาโนชญ์ อารีย์. “ปากีสถาน” ในวารสารเอเชียรายปี 2007/2550, กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

    • มาโนชญ์ อารีย์. “ปากีสถาน” ในวารสารเอเชียรายปี 2010/2553, กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

    • มาโนชญ์ อารีย์. “ปากีสถาน” ในวารสารเอเชียรายปี 2011/2554, กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

    • สุภัทรา วรรณพิณม.ประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ปัจจุบันในเอเชียใต้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอดียนสโตร์, 2532

 

    • อดิ๊บ ยูซุฟ.2561 “นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road Initiative): ความร่วมมือและความขัดแย้ง กรณีศึกษากวาดาร์พอร์ตรัฐบาโลจิสถาน (Gwadar Port,Balochistan) ประเทศปากีสถาน” ในวารสารเอเชียพิจาร ปีที่ 5  ฉบับที่ 10 กรกฏาคม – ธันวาคม 2561

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising