×

บาทแข็งสุดในรอบ 5 เดือน เปิด 35.48 บาทต่อดอลลาร์ หลัง Fed ส่งสัญญาณหั่นดอกเบี้ยในเดือนกันยายน

01.08.2024
  • LOADING...
ค่าเงินบาท

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (1 สิงหาคม) ที่ระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่ามากที่สุดในรอบราว 5 เดือน หลังผลการประชุม Fed และถ้อยแถลงของประธาน Fed ล่าสุดยังส่งสัญญาณว่า Fed มีโอกาสที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนกันยายนนี้

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้เปิดที่ระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ ‘แข็งค่าขึ้น’ จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.63 บาทต่อดอลลาร์

 

ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาจากการส่งสัญญาณของประธาน Fed ในช่วง Press Conference ที่ระบุว่าการลดดอกเบี้ยของ Fed ในเดือนกันยายนนั้นอาจเกิดขึ้นได้ หากแนวโน้มการชะลอลงของทั้งอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมายังคงดำเนินต่อไป

 

โดยมุมมองดังกล่าวของประธาน Fed ยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า Fed มีโอกาสราว 78% ที่จะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้ (ข้อมูลจาก CME FedWatch Tool ล่าสุด)

 

นอกจากนี้เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ต้นสัปดาห์แถว 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ (นอกจากนี้ราคาทองคำก็ยังพอได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงขึ้นในช่วงนี้)

 

การแข็งค่าขึ้นในวันนี้นับเป็นการแข็งค่าขึ้นหนักสุดในรอบราว 5 เดือน โดยครั้งสุดท้ายที่บาทเคลื่อนไหวในระดับดังกล่าวคือช่วงต้นเดือนมีนาคมปีนี้

 

เปิดแนวโน้มของค่าเงินบาท

 

Krungthai GLOBAL MARKETS มองว่าโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทนั้นมีกำลังมากกว่าที่เราประเมินไว้มาก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการทยอยปิดสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) หรือ Stop Loss ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน หลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

 

ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ที่เผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผลการประชุม BOJ มีความ Hawkish มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ (BOJ ขึ้นดอกเบี้ยและลดปริมาณการซื้อบอนด์ พร้อมส่งสัญญาณอาจขึ้นดอกเบี้ยได้เพิ่มเติม)

 

นอกจากนี้ผลการประชุม Fed และถ้อยแถลงของประธาน Fed ล่าสุดก็ยังส่งสัญญาณว่า Fed มีโอกาสที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์อาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังตลาดได้รับรู้และคาดหวังแนวโน้มการลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งของ Fed ในปีนี้ไปมากแล้ว และหากการประชุม BOE ในวันนี้มีการลดดอกเบี้ยจริงตามคาด อีกทั้ง BOE ก็ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลง และช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ได้บ้าง ทำให้เราประเมินว่าการแข็งค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงแถวโซนแนวรับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้

 

แต่หากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวชัดเจนก็อาจแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ซึ่งเรามองว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงนี้ในเชิงเทคนิคอาจทำให้เงินบาท (USDTHB) เข้าสู่โซน RSI Oversold ทำให้มีโอกาสที่อาจเห็นการกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้างของเงินบาทในระยะสั้นหากตลาดรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

 

อนึ่ง จากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เราประเมินใหม่ว่าแนวต้านของเงินบาทอาจขยับลงมาแถวโซน 35.85 บาทต่อดอลลาร์ และมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์

 

Krungthai GLOBAL MARKETS คงมุมมองเดิมว่าเงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตามการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาทอย่างมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ย Fed ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือ เช่น Options หรือสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.70 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising