×
SCB Omnibus Fund 2024

‘เงินบาท’ เริ่มกลับมาแข็งค่าแตะระดับ 33.65 ต่อดอลลาร์ นักวิเคราะห์เชื่อแนวโน้มยังอยู่ในโซนอ่อนตัว

01.10.2021
  • LOADING...
เงินบาท

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1 ตุลาคม) ที่ระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์ 

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตลาดการเงินโดยรวมปิดไตรมาสที่ 3 ด้วยภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลของผู้เล่นในตลาดการต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอลง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง รวมถึงความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลาง และความวุ่นวายทางการเมืองสหรัฐฯ หลังสภาคองเกรสยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นขยายเพดานหนี้ 

 

ความกังวลจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ได้กดดันให้ฝั่งตลาดสหรัฐฯ ดัชนี Dow Jones ย่อตัวลงกว่า -1.59% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P 500 ที่ปิดตลาด -1.19% ซึ่งทั้งสองตลาดถูกกดดันโดยแรงเทขายหุ้นในกลุ่ม Cyclical จากการกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ล่าสุดยังไม่สดใสนัก หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ได้ปรับตัวขึ้นแย่กว่าคาด สู่ระดับ 3.6 แสนราย

 

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX 50 ปิดไตรมาส 3 ด้วยการย่อตัวลง -0.79% หลังหุ้นในกลุ่ม Cyclical ต่างปรับตัวลดลง อาทิ Safran -2.54%, Airbus -1.88%, BMW -1.35% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปอาจเผชิญความผันผวนต่อได้ เนื่องจากวิกฤตพลังงานที่จะส่งผลกระทบให้ราคาพลังงาน รวมถึงค่าไฟพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของหลายบริษัทโดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตอุตสาหกรรม 

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือความผันผวนในตลาด ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงราว 4bps สู่ระดับ 1.50% ทั้งนี้ เรามองว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะแกว่งตัวผันผวนใกล้ระดับ 1.50% ในช่วงนี้ และจะกลับมาทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยอาจเห็นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1.70% ได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มทยอยออกมาดีขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed ต่อไป

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังมีโมเมนตัมหนุนอยู่จากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาด 

 

ทั้งนี้ ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 94.30 จุด อนึ่ง การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พร้อมกับการอ่อนค่าเล็กน้อยของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาแตะระดับ 1,753 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งต้องจับตามองว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงอยู่ในตลาดจะช่วยหนุนโมเมนตัมของราคาทองคำได้หรือไม่ 

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหา Supply Chain รวมถึงภาวะขาดแคลนแรงงานมากน้อยเพียงใด โดยตลาดประเมินว่า ภาคการผลิตโดยรวมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่จะเป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนกันยายน ที่จะลดลงสู่ระดับ 59.5 (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) โดยปัจจัยกดดันภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยังเป็นภาพเดียวกันกับทั้งโลก คือ ปัญหา Supply Chain ที่ส่งผลให้การขนส่งสินค้าชะลอตัวลง อีกทั้งยังส่งผลให้ราคาต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น

 

ส่วนในฝั่งไทย ควรรอลุ้นแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตเช่นกัน หลังจากผลกระทบจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา รวมถึงปัญหาด้าน Supply Chain ได้กดดันให้ภาคการผลิตของไทยหดตัวลงหนักในเดือนสิงหาคม ซึ่งตลาดมองว่าภาคการผลิตไทยจะยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง จากปัญหา Supply Chain ทำให้ PMI ภาคการผลิตเดือนกันยายนจะอยู่ที่ระดับ 48 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึงภาวะหดตัว) 

 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยก็เริ่มมีความหวังฟื้นตัว หากดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) เดือนกันยายนปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 40.5 จุด สะท้อนว่า ภาคธุรกิจเริ่มมั่นใจแนวทางการทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ และอาจจะเริ่มกลับมาจ้างงาน รวมถึงลงทุนเพิ่มเติม

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วจากวันก่อน หลังธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงความกังวลความผันผวนของเงินบาท รวมถึง เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ที่ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทองคำทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่โดยรวมเราคงมุมมองว่า ในระยะสั้นเงินบาทยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าปัจจัยเสี่ยงด้านอ่อนค่าจะเริ่มคลี่คลายลง โดยเฉพาะปัญหาการเจรจา Debt Ceiling ของสหรัฐฯ ที่จะกดดันให้ตลาดยังคงต้องการเงินดอลลาร์อยู่ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงในประเทศ อาทิ ปัญหาน้ำท่วม และแนวโน้มการระบาดของโควิดระลอกใหม่ 

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่าแนวต้านสำคัญของเงินบาทยังอยู่ที่โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปได้ถึงแนวต้านถัดไปในช่วง 34.25 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.60 บาทต่อดอลลาร์ โดยคาดว่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก จนกว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างชัดเจน

 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.80 บาทต่อดอลลาร์

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising