×

‘เงินบาท’ ร่วงแตะ 34.90 บาทต่อดอลลาร์ ทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือน

14.06.2022
  • LOADING...
ค่าเงินบาท

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14 มิถุนายน) ยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 34.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือน นับจากเดือนมีนาคม 2017

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตลาดการเงินผันผวนรุนแรงและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ซึ่งสะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดรวมถึงนักวิเคราะห์ที่เริ่มมองว่า Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในการประชุมเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ หลังเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมออกมาสูงกว่าคาด 

 

ความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ได้กดดันให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างพากันเทขายสินทรัพย์ที่อ่อนไหวต่อการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย / บอนด์ยีลด์ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทค รวมถึงหุ้นสไตล์ Growth อย่าง Tesla -7.1%, Meta (Facebook) -6.4% และ Amazon -5.5% ทำให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทค Nasdaq ดิ่งลงกว่า -4.68% ส่วนดัชนี S&P 500 ก็ร่วงลง -3.88% เช่นเดียวกันกับในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ความกังวลแนวโน้มทั้ง Fed และธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ ยังคงกดดันให้ผู้เล่นในตลาดเทขายหุ้นเทค เช่น Adyen -8.9% และ ASML -4.4% ทำให้ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปก็ปรับตัวลดลงกว่า -2.41% 

 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มมองว่า Fed อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ทำให้คาดการณ์ Terminal Rate (จุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบาย) ของ Fed นั้นปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.38% ทั้งนี้ แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ทำให้บอนด์ยีลด์ระยะสั้น โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ 2 ปี ได้เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 3.39% ทำให้ในบางช่วงบอนด์ยีลด์ 2 ปี ปรับตัวสูงกว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หรือเกิด Inverted Yield Curve อีกครั้ง สร้างความกังวลให้กับผู้เล่นในตลาด เนื่องจากในอดีตที่ผ่านภาวะ Inverted Yield Curve ระหว่างบอนด์ยีลด์ 2 ปี กับ 10 ปี มักเป็นสัญญาณว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจเกิดขึ้นในช่วง 1 ปีข้างหน้า 

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่าภาวะ Inverted Yield Curve จากส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 2 ปี กับ 10 ปี อาจไม่ใช่สัญญาณที่ดีนัก โดยสัญญาณที่มีความแม่นยำและชัดเจนกว่า ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อมูลที่ Fed ติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 3 เดือน กับ 10 ปี ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ที่ระดับกว่า 1.68% คิดเป็นโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 1 ปีข้างหน้าไม่ถึง 10% (ทั้งนี้ Fed ยังได้ติดตาม Near-Term Forward Spread ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างคาดการณ์บอนด์ยีลด์ 3 เดือนล่วงหน้า 18 เดือน กับบอนด์ยีลด์ 3 เดือนล่าสุด ซึ่งปัจจุบันส่วนต่างดังกล่าวก็ยังสูงเกือบ 2.00%)

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 105.2 จุด ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้ม Fed เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง 

 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ที่พลิกกลับมาอ่อนค่าลงใกล้จุดอ่อนค่าสุดในปีนี้ที่ระดับ 1.041 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกันกับเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่อ่อนค่าทำจุดต่ำสุดใหม่ในปีนี้ที่ 1.214 ดอลลาร์ต่อปอนด์ 

 

อย่างไรก็ดี ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนเข้าถือเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทำให้ค่าเงินเยนไม่ได้อ่อนค่าหนักและทรงตัวใกล้ระดับ 134 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำร่วงลงสู่ระดับ 1,821 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้านในโซน 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นไทยได้ 

 

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจอยู่ในโซนแนวต้านดังกล่าว เนื่องจากบรรดาผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ อย่างไรก็ตาม เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ไปไกล หากตลาดการเงินไม่ได้เผชิญภาวะปิดรับความเสี่ยงสินทรัพย์ในฝั่ง EM Asia ที่รุนแรง ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้นในกรณีที่ตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในวงกว้างของจีน 

 

พูนกล่าวว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ออปชันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.80-35.00 บาทต่อดอลลาร์

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X