×

เงินบาท อ่อนค่าหลุดระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ในรอบ 2 เดือน กูรูคาดมีโอกาสแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาส 2

27.02.2023
  • LOADING...
เงินบาทอ่อนค่า

เงินบาท อ่อนค่าทะลุระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ในรอบกว่า 2 เดือน กูรูคาดไตรมาส 2 มีโอกาสแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์ จับตาภาวะ No Landing ของสหรัฐฯ กระทบนโยบายการเงินไทย

 

ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้​ (27 กุมภาพันธ์) ที่ระดับ 34.94 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะทยอยอ่อนค่าจนล่าสุดลงมาแตะที่ระดับ 35.11 บาทต่อดอลลาร์ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่ไม่ได้ชะลอลงส่งผลให้ตลาดยังกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องกดดันให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways Up ท่ามกลางปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าที่มีมากกว่าปัจจัยฝั่งแข็งค่า นอกจากนี้ ควรจับตาภาพตลาดหุ้นไทยที่เสี่ยงปรับฐานต่อ กดดันให้นักลงทุนต่างชาติอาจเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม (สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยกว่า -1.9 หมื่นล้านบาท และขายสุทธิบอนด์ราว -5 พันล้านบาท) แต่หากตลาดหุ้นไทยรีบาวด์ในระยะสั้น (จับตาการเคลื่อนไหวของดัชนี SET ใกล้โซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน) แรงขายสินทรัพย์ไทยก็อาจชะลอลงได้บ้าง

 

ในส่วนเงินดอลลาร์ มองว่า ตราบใดที่ตลาดยังกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของ Fed เงินดอลลาร์ก็อาจยังไม่อ่อนค่าชัดเจน ทว่าหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้บ้าง ทั้งนี้ หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทวีความรุนแรงขึ้นมาก จนตลาดปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เงินดอลลาร์ก็อาจพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย หรือการอ่อนค่าลงของรวมถึงเงินปอนด์อังกฤษ (GBP)

 

“เรามองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.50-35.20 บาทต่อดอลลาร์ แต่ต้องติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี ISM PMI รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ” พูนกล่าว

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research กล่าวว่า เงินบาทในช่วงนี้มีแนวโน้มอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดมองว่าดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ยังไม่พีค หลังตัวเลขเศรษฐกิจ เช่น การจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนีกิจกรรมภาคบริการ ออกมาแข็งแกร่ง ขณะที่เงินเฟ้อก็ไม่ปรับลงเร็วอย่างคาด จนมีคนเรียก Scenario นี้ว่าไม่ใช่ Soft Landing หรือ Hard Landing แต่อาจจะเป็น No Landing ซึ่งอาจจะทำให้เงินเฟ้อค้างสูงนานกว่าที่ตลาดคาด และ Fed อาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นไปอีก

 

“หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ​ ยังไม่ลดลงเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% Fed ก็หยุดขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ ตอนนี้ตลาดปรับคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 5.5% จากที่ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ยังคาดว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยไปไม่ถึง 5% อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวยังเชื่อว่า No Landing ไม่มีจริง แต่จะเป็นแค่ Delay Landing” พิพัฒน์กล่าว

 

พิพัฒน์กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวมองว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าไปได้ถึงระดับ 37 บาทในช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากในไตรมาสดังกล่าวจะเป็นช่วงการจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนซึ่งต่างชาติจะขนเงินออกนอกประเทศ ขณะที่ปัจจัยเรื่องการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวของไทยตลาดได้ Price In หรือรับรู้ไปพอสมควรแล้ว

 

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดกำลังพูดถึงภาวะ 4 NOs ในสหรัฐฯ คือ No Landing หรือการที่เศรษฐกิจยังโตแข็งแกร่งแม้ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยมาค่อนข้างเยอะแล้ว, No Disinflation หรือการที่ค่าจ้างยังค้างสูงทำให้เงินเฟ้อไม่ชะลอลงตามคาด, No Pivot หรือการที่ดอกเบี้ยจะยังไม่กลับทิศในปีนี้ และ No Improvement on Global Trade หรือการค้าโลกที่ซบเซา

 

“เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจใช้เวลา Landing นานกว่าที่คิด แต่ไม่ใช่จะไม่ Landing เลย ทำให้ Fed มีโอกาสจะไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งล่าสุดตลาดมองว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 5.5% ก่อนจะหยุดและการปรับลดดอกเบี้ยจะยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพกล่าวว่า หากย้อนกลับมาดูประเทศในฝั่งเอเชียแปซิฟิกจะเห็นว่าหลายประเทศ เช่น มาเลเซียและเกาหลีใต้ เริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว เพราะกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ประเทศในแถบนี้รวมถึงไทยอาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยก่อน Fed 

 

“เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ที่ผ่านมาติดลบ QoQ ซึ่งสะท้อนว่ารายได้จากการท่องเที่ยวหลังเปิดเมืองไม่เพียงพอจะชดเชยจุดอ่อนอื่นๆ เช่น การส่งออกที่ติดลบ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยสูงสุดของไทยอาจอยู่ที่ 1.75% เพราะเงินเฟ้อเราก็ลงชัดเจน เราอาจต้องยอมให้ค่าเงินอ่อน ซึ่งในมุมหนึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออก ต้องจับตาดูว่าแบงก์ชาติจะให้น้ำหนักกับอะไรมากกว่ากันระหว่างเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ” อมรเทพกล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X