นอกจากตลาดหุ้นไทยในวันนี้ที่เต็มไปด้วยความผันผวนแล้ว ค่าเงินบาทก็ผันผวนไม่แพ้กัน โดยในช่วงเช้าวันนี้ (16 มิถุนายน) เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ 35.02 บาทต่อดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม หลังเปิดตลาดภาคเช้าได้ไม่นาน เงินบาทก็เริ่มทยอยอ่อนค่ามาเคลื่อนไหวใกล้ๆ บริเวณ 35 บาทต่อดอลลาร์ และมาอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วงบ่ายของวัน ก่อนจะมาปิดตลาดที่ระดับ 35.12 บาท คิดเป็นการอ่อนค่าลงจากในช่วงเช้าราว 1%
สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายทีม Investment and Markets Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หลังจากที่รู้ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ทำให้สินทรัพย์การลงทุนต่างๆ รีบาวด์ขึ้น ทั้งตลาดหุ้น รวมไปถึงค่าเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
อย่างไรก็ตามในส่วนของประเทศไทยนั้น ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงสายๆ ของวัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงขายที่มีค่อนข้างมากในตลาดหุ้นไทย โดยวันนี้นักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิตลาดหุ้นไทยรวมกว่า 5,799 ล้านบาท
นอกจากนี้กระแสข่าวเรื่องการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษ ที่เริ่มมีการพูดคุยกันเป็นวงกว้างในตลาด เป็นอีกปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาท เนื่องจากผู้ร่วมตลาดเกิดความสับสน ซึ่งเราพบว่าเริ่มมีแรงเก็งกำไรเข้ามามากในส่วนของตลาดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นตลาดสวอป โดยเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยตัวสั้นๆ ที่เกี่ยวพันกับดอกเบี้ยนโยบาย
“กระแสข่าวเกี่ยวกับการประชุมนัดพิเศษของ กนง. มีผลกระทบมาก เพราะทำให้ตลาดเกิดความสับสน ซึ่งปกติแล้วเมื่อแบงก์ชาติส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อตลาดก็น่าจะนิ่งได้ แต่ตอนนี้เหมือนว่าบางส่วนยังไม่พอใจ ต้องการมากกว่านี้ และอยากเห็นการประชุมนัดฉุกเฉิน ซึ่งตอนนี้มีคนเชื่อเช่นนั้นมาก และความไม่ชัดเจนในเชิงนโยบายนี้ทำให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อภาพแมคโครถดถอยลง”
สงวนกล่าวย้ำว่า ในเวลานี้แม้ตลาดบอนด์จะดูสงบ แต่ถ้าดูตลาดอัตราดอกเบี้ยในส่วนของสวอป พบว่ามีคนเข้ามาเล่นเก็งกำไรดอกเบี้ยตัวสั้นกันมาก ส่งผลให้วิ่งขึ้นไปค่อนข้างแรง ซึ่งตัวนี้จะสัมพันธ์กับดอกเบี้ยนโยบาย จึงบ่งชี้ได้ว่าแนวคิดของผู้เล่นในตลาดยังเชื่อว่า กนง. น่าจะมีการประชุมนัดพิเศษ
ส่วนแนวโน้มเงินบาทมีโอกาสที่จะยังอ่อนค่าได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ซึ่งเรามองว่าเงินดอลลาร์มีโอกาสที่จะแข็งค่าต่อเนื่อง หรืออย่างน้อยก็ตลอดช่วงไตรมาส 3 ดังนั้นเงินบาทจึงมีแรงกดดันตลอดไตรมาสดังกล่าว ทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาแข็งค่าได้ในไตรมาส 4 ซึ่งมีโอกาสเห็นกลับมาเคลื่อนไหวบริเวณ 34 บาทต่อดอลลาร์ บนสมมติฐานว่า กนง. สามารถจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อได้ โดยการขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในตลาดเงิน