×

เงินบาทอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 7 เดือน จากแรงกดดันทั้งภายนอกและภายใน กูรูคาด มีโอกาสทดสอบระดับ 35.85 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนพักตัว

29.06.2023
  • LOADING...

ค่าเงินบาทในวันนี้ (29 มิถุนายน) ทำสถิติอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 7 เดือน โดยอ่อนค่าขึ้นจากระดับเปิดที่ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ ไปแตะจุดสูงสุดที่ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะแข็งค่าขึ้นมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 35.63 บาทต่อดอลลาร์

 

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ก่อนหน้านี้เงินบาทมีการย่ำฐานอยู่ในกรอบ 34.50-34.90 บาทต่อดอลลาร์มาเป็นเวลาต่อเนื่องถึง 5 สัปดาห์ จนกระทั่งในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงอ่อนค่าทะลุแนวต้านที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์มาได้ และยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องมาตลอดทั้งสัปดาห์นี้

 

รุ่งกล่าวว่า ปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทในรอบสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงค่อนข้างเร็วมีทั้งในส่วนที่เป็นปัจจัยภายนอก ได้แก่ การส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของ Fed ในการประชุมเดือนกรกฎาคมและกันยายน โดยประธาน Fed ยังคงเน้นย้ำจุดยืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งหนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ออกมาแย่กว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ จนส่งผลให้เงินหยวนทำสถิติอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 8 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์

 

“เงินบาทมี Correlation หรือค่าสหสัมพันธ์กับเงินหยวนสูงที่สุดในภูมิภาคผ่านการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างไทยและจีน แม้ว่าการแข็งค่าของดอลลาร์จะกระทบเงินทุกสกุลในภูมิภาค แต่การที่เงินหยวนอ่อนค่าไปแตะระดับ 7.26 หยวนต่อดอลลาร์ ก็ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าแรงตามไปด้วย” รุ่งกล่าว

 

นอกจากนี้เงินบาทต้องเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยภายในเฉพาะตัว ได้แก่ ความไม่แน่นอนของการเมืองในประเทศที่เริ่มมีประเด็นมากขึ้นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีการพูดถึงการพลิกขั้วเพื่อฟอร์มรัฐบาล ทำให้ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติยังขาดความเชื่อมั่นเพราะมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะออกมาเป็นอย่างไร

 

“ในช่วงนี้เรายังไม่เห็นกระแสทุนไหลออกของต่างชาติที่ผิดปกติทั้งในตลาดบอนด์และหุ้น แต่หากย้อนกลับไปดูตั้งแต่ช่วงหลังการเลือกตั้งใหญ่ของไทยจะพบว่าต่างชาติมีการทยอยลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ไทยไปค่อนข้างมากแล้ว แรงซื้อของต่างชาติน่าจะเริ่มไหลเข้ามาอีกครั้งเมื่อไทยมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลมากขึ้น” รุ่งกล่าว

 

รุ่งประเมินว่า ในระยะสั้นนี้เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าไปทดสอบระดับ 35.85 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะพักตัวเพื่อรอดูความชัดเจนของทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการเมืองในประเทศ แต่ในระยะยาวยังเชื่อว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่ากลับมาอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายปี จากแรงหนุนด้านการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

 

ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ท่าทีของ Fed ที่ยังมุ่งมั่นจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อส่งผลให้ค่าเงินของทุกประเทศอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทถือเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าแรงที่สุดของภูมิภาคในรอบ 5 วันที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากปัจจัยภายในคือความไม่แน่นอนทางการเมืองและตลาดทุนไทยที่ดัชนีปรับตัวลดลงหลังมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลของหุ้นตัวหนึ่ง ทำให้ต่างชาติเทขายสินทรัพย์เสี่ยงในรูปเงินบาท

 

อมรเทพประเมินว่า ในช่วงไตรมาส 3 นี้เงินบาทมีโอกาสจะเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideway ที่ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เพื่อรอดูความชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ย Fed และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ก่อนจะแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่น่าจะได้เห็นหน้าตาของรัฐบาลใหม่แล้วและเป็นฤดูกาลการท่องเที่ยว

 

“เงินบาทที่มีแนวโน้มอยู่ในโซนอ่อนค่าจะมีส่วนช่วยพยุงเรื่องการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร ชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แต่ต้องไม่ลืมว่าเมื่อบาทอ่อนต้นทุนการผลิตของเราก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นกันหากมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อจะไม่ปรับสูงขึ้นเหมือนปีก่อน เพราะราคาน้ำมันในเวลานี้อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมามาก” อมรเทพกล่าว

 

ด้าน พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ให้ความเห็นว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ หลังเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ อย่างไรก็ดี หากไม่มีแรงเทขายสินทรัพย์ไทยที่รุนแรง เงินบาทอาจจะไม่ได้อ่อนค่าต่อไปมากนัก โดยประเมินแนวต้านใหม่ที่แถว 35.75 บาทต่อดอลลาร์

 

พูนกล่าวอีกว่า นักลงทุนควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน เพราะหากยอดดังกล่าวปรับตัวขึ้นมากกว่าคาด สะท้อนตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ที่ชะลอลง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจว่า Fed จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ชัดเจน ทำให้เงินดอลลาร์มีโอกาสย่อตัวลงได้บ้าง ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ และการรีบาวด์ขึ้นทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้นของราคาทองคำได้

 

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยได้ประเมินจุดกลับตัวของเงินบาทโดยใช้การประเมิน FVT (Fundamental, Valuation and Technical) พบว่า จุดกลับตัวมาเป็นฝั่งแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจเกิดขึ้นใกล้ระดับ 35.85-36.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงแย่ลงที่ชัดเจน และเงินบาทก็ยังคงได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่วนในเชิง Valuation ค่าเงินบาทในโซน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็ถือว่าอยู่ในระดับ Undervalued พอสมควร และสัญญาณเชิง Technical ก็เริ่มสะท้อนโอกาสในการกลับตัวมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี มองว่าหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากกว่าระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งในเชิง Valuation เงินบาทจะอยู่ในระดับที่ Undervalued มาก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X