×

สำรวจสถานะของ ‘ตัวสำรอง’ ใน Backup Relationship ความสัมพันธ์แบบเผื่อเหลือเผื่อขาดที่ควรรู้จัก

01.03.2019
  • LOADING...
Backup Relationship

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ความสัมพันธ์แบบตัวสำรอง (Backup Relationship) เป็นที่พูดถึงกันในช่วง 4-5 ปีให้หลัง ซึ่งคำว่า Backup ก็แปลได้ตรงๆ ตัวว่า ‘สำรอง’ ที่อธิบายรูปแบบความสัมพันธ์ของคนที่ไม่ใช่ตัวจริง ไม่ใช่ที่หนึ่ง แต่เป็นเพียงตัวสำรองของใครสักคนหนึ่งเท่านั้น
  • อีกชื่อที่ไว้ใช้เรียกกลุ่มคนที่อยู่ในความสัมพันธ์นี้คือ Cookie-Jarring ที่กำลังจะกลายเป็นเทรนด์ความสัมพันธ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น มีคอนเซปต์คล้ายๆ กันว่าด้วยเรื่องของความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน พวกคุณทั้งคู่ดูเข้าขากันดีแต่ไม่มีวี่แววจะได้คบกัน คุณก็เลยเปรียบเสมือนกับคุกกี้ที่ถูกเก็บไว้ในขวดโหล รอว่าสักวันเขาจะมาเปิดโหลกิน
  • คุณต้องแยกให้ขาดจากไอเดียของ ‘การนอกใจ’ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าคนรักของคุณที่มีตัวสำรองอยู่จะนอกใจคุณ เพียงแต่พวกเขามีใครอีกคนที่คอยหนุนความรู้สึกอยู่ มันเป็นเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางความรู้สึกจากใครคนอื่นที่ไม่ใช่จากคู่รักเท่านั้น

“ถ้าเราเลิกกับเขา แล้วเรามาคบกันนะ”

ประโยคชวนฝันที่หลายๆ คนเคยได้ยิน ประโยคที่ทำให้การรอคอยใครสักคนหนึ่งกลายเป็นเรื่องโรแมนติก เพียงเพราะว่าผู้ฟังนั้นตั้งความหวังไว้แล้วว่า เขาจะได้เป็นคนที่ถูกเลือกในสักวันหนึ่ง ได้เคียงคู่กันเป็นคู่รักที่ถูกต้องตามกรอบสังคม แต่เมื่อไรกันที่คุณได้ยินประโยคนี้ครั้งล่าสุด? แล้วทุกวันนี้ได้คบกันหรือยัง? ถ้ายังไม่ได้คบ ขอถามหน่อยว่าทุกวันนี้ยังคุยกันอยู่หรือเปล่า?

 

ยังคุยอยู่

ถ้าเป็นเช่นนั้น ลองถามตัวเองดูสิว่าตัวคุณเองกำลังตกอยู่ในสถานะไหนที่เขามอบให้คุณ? เพื่อนสนิท คนรู้จัก หรืออะไร? คำถามคือในเมื่อไม่มีสถานะที่ชัดเจน แต่ยังคุยราวกับคนที่กำลังจีบกัน แล้วเราจะสร้างความสัมพันธ์เหล่านี้ขึ้นมาทำไมกันล่ะ? ความสัมพันธ์แบบเผื่อเหลือเผื่อขาดนี้มีชื่อเรียกว่า Backup Relationship อันเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่คุณต้องแยกให้ขาดจากไอเดีย ‘การนอกใจ’ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าคนรักของคุณที่มีตัวสำรองอยู่จะนอกใจคุณ เพียงแต่พวกเขามีใครอีกคนที่คอยหนุนความรู้สึกอยู่ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเขาและคนที่เป็นตัวสำรองเหล่านั้นอาจไม่ได้มีเซ็กซ์กัน อาจไม่ได้เจอกันบ่อย มันเป็นเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางความรู้สึกจากใครคนอื่นที่ไม่ใช่คู่รักเท่านั้นเอง

 

ความสัมพันธ์แบบตัวสำรองเป็นที่พูดถึงกันในช่วง 4-5 ปีให้หลัง ทั้งจากการสำรวจรูปแบบความสัมพันธ์โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาและความสัมพันธ์ ค้นพบว่าในกลุ่มผู้หญิงที่มีคู่รักแล้วกว่าครึ่งในประเทศอังกฤษ ล้วนต่างมีความสัมพันธ์สำรองนี้กันอย่างแพร่หลาย รวมถึงการเติบโตของโซเชียลมีเดียที่ทำให้เขาและคนสำรองสามารถติดต่อกันได้ง่ายดายกว่าเดิม ทั้งยังทำให้มนุษย์ได้ทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ ได้ผ่านเพียงปลายนิ้ว ไอเดียของการมีใครสักคนสำรองอยู่ในชีวิตจึงแทบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว และมักถูกนำเสนอในสื่ออยู่เสมอๆ ซึ่งคำว่า Backup ก็แปลได้ตรงๆ ตัวว่า ‘สำรอง’ ซึ่งเป็นการอธิบายรูปแบบความสัมพันธ์ของคนที่ไม่ใช่ตัวจริง ไม่ใช่ที่หนึ่ง แต่เป็นเพียงตัวสำรองของใครสักคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งสามารถเรียกได้อีกชื่อว่า Standby Lover ที่แปลความหมายได้อย่างตรงไปตรงมาว่า คุณคือคนที่รอสแตนด์บายอยู่ข้างเขา ทั้งๆ ที่เขาเองก็มีความสัมพันธ์ที่เป็นจริงเป็นจังกับคู่รักของเขา แต่คุณก็ยังมีสิทธิ์ที่จะได้เป็นคนรักคนต่อไปของเขานะ

 

Backup Relationship

ภาพยนตร์เรื่อง Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน (2019) / Photo: GDH

 

และอีกชื่อที่ไว้ใช้เรียกกลุ่มคนที่อยู่ในความสัมพันธ์นี้คือ Cookie-Jarring ที่เราอยากขอโฟกัสลงไปสักนิด เพราะคำนี้กำลังจะกลายเป็นเทรนด์ความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ มันเป็นการต่อยอดมาจากคำว่า Backup นั้นแหละ และมีคอนเซปต์คล้ายๆ กันว่าด้วยเรื่องของความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน ไม่มีสถานะ แต่มีโอกาสในอนาคตที่จะสามารถคบกันได้ พวกคุณทั้งคู่เข้าขากันดีแต่ไม่มีวี่แววจะได้คบกัน คุณก็เลยเปรียบเสมือนกับคุกกี้ที่ถูกเก็บไว้ในขวดโหล ที่รอว่าสักวันเขาจะมาเปิดโหลกิน ซึ่งเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากในยุคปัจจุบัน อย่างที่เราบอกไปข้างต้นนั่นแหละว่า มันไม่เหมือนการนอกใจเสียทีเดียว เพียงแต่เป็นเรื่องของความรู้สึกดีๆ ที่คนสองคนมีให้กัน อาจจะแค่เป็นใครสักคนที่ชวนกันคุยเรื่องที่มีความสนใจคล้ายกันอย่างออกรส หรือแสดงความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจกันในบางเรื่องที่คนที่อยู่ในสถานะ ‘คนรัก’ อาจไม่เข้าใจเท่านั้นเอง

 

ฟังดูเห็นแก่ตัว แต่ส่วนใหญ่แล้วความสัมพันธ์แบบนี้ย่อมจะได้รับการยินยอมทั้งสองฝ่าย หมายถึงได้มีการพูดคุยถึงรูปแบบและขอบเขตของความสัมพันธ์อย่างชัดเจน อาจจะแค่คุยกันได้ ไปมาหาสู่กัน หรือแม้กระทั่งมีเซ็กซ์กัน แต่นั่นหมายความว่าพวกเขาจะไม่มีสถานะต่อกัน ไม่ใช่แฟน ไม่ได้ดราม่าเสมอไป อาจจะเรียกว่าเพื่อนสนิท คนรู้จัก หรืออะไรก็ได้ ซึ่งอาจหมายรวมถึงสถานะแบบเฟรนด์โซนเข้าไปด้วย แต่นั่นก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าเฟรนด์โซนที่จะเป็นความสัมพันธ์แบบ Backup นี้ ต้องมีโอกาสที่จะคบกันได้ด้วย ไม่ใช่มอบสถานะเพื่อนให้ตลอดไป

 

Backup Relationship

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Closer (2004)

 

ให้พูดกันตามตรงสำหรับคนที่มีอีกคน (หรือหลายๆ คน) ‘สำรอง’ อยู่ในชีวิต เราอยากบอกว่าจริงๆ แล้วมันไม่ค่อยแฟร์สำหรับคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ของคุณเอง หรือกับคนที่ยินยอมเป็นตัวสำรองก็ตาม จริงอยู่ว่าการที่คุณเลือกจะมีความสัมพันธ์เช่นนี้ เป็นเพราะคุณอาจรู้สึกไม่มั่นคงกับความสัมพันธ์ปัจจุบัน หรือหวาดกลัวที่จะต้องจบความสัมพันธ์อย่างโดดเดี่ยวเพื่อรักษาความรู้สึกของตัวเองเป็นหลัก เช่น สมมติว่าวันหนึ่งคุณเลิกกับ A ที่คบกันมานาน 2 ปี แล้วคุณก็สามารถสานสัมพันธ์ต่อกับ B หลังจากเลิกกับ A ได้เลย เพื่อเว้นช่วงระยะความโดดเดี่ยวของสถานะโสดได้ทันที เป็นต้น ซึ่งนั่นคือเหตุผลและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์รูปแบบนี้ขึ้นมา และหากวันไหนคนสำรองของคุณเกิดอยากจะเป็นตัวจริงขึ้นมาสักวันอย่างไม่มีสัญญาณแจ้งเตือน นั่นอาจทำให้คุณต้องสูญเสียความสัมพันธ์ที่มีอยู่ไปทั้งหมดเลยก็ได้ หรือถ้าคุณยังรู้สึกไม่มั่นใจจะตกลงปลงใจกับใครสักคน จงอย่าให้ความหวังเขา เพียงเพราะคุณกลัวว่าตัวเองจะเสียความรู้สึก และคุณต้องคิดกลับกันด้วยนะว่าอีกฝ่ายเขาจะรู้สึกอย่างไร

 

ส่วนการใช้ชีวิตอยู่ในสถานะ ‘ตัวสำรอง’ มันไม่ใช่เรื่องผิดหรอก แต่คุณก็อาจจะต้องลองถามตัวเองด้วยว่า หากเขาสนใจและรู้สึกอยากจะคบหาดูใจกับคุณจริงๆ เขาคงเลือกคุณเป็นคู่รักของเขาไปแล้วหรือเปล่า โดยไม่ทิ้งให้คุณกลายเป็นแผนสองของชีวิตเขา ทั้งนี้ทั้งนั้นหากคุณรู้สึกเสียเวลาก็จงออกมาจากความสัมพันธ์แบบนั้นซะ หรือถ้าลองมอบสถานะ ‘ตัวสำรอง’ คืนไปให้เขา แล้วมองหาโอกาสใหม่ๆ ในชีวิตบ้าง ก็ดูเป็นทางออกที่เข้าท่าดีนะ

 

ภาพประกอบ: Pichamon W.

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories