×

ทำไมใครๆ ก็รักหมูเด้ง วิทยาศาสตร์อธิบายได้

25.09.2024
  • LOADING...
หมูเด้ง ฮิปโปแคระ

ทุกอย่างมันเกินควบคุมแล้ว! หลังภาพความน่ารักของหมูเด้ง ฮิปโปแคระตุ้ยนุ้ยขวัญใจชาวไทย กลายเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดียที่ครองหัวใจคนทั่วโลก 

 

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าชาวเน็ตคงได้เห็นภาพของหมูเด้งที่ไปปรากฏตัวอยู่ตามสื่อดังระดับโลกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น TIME, CNN, BBC, Forbes, The Guardian และล่าสุด The New York Times ขณะที่เพจ Facebook ของ Instagram ซึ่งมีผู้ติดตามถึง 68 ล้านคนทั่วโลกก็โพสต์ข้อความด้วยว่า “good morning to Moo Deng and Moo Deng only 🦛” 

 

กระแสหมูเด้งฟีเวอร์ยังลามไปถึงวงการกีฬาที่โดนตกไปเต็มๆ เช่น ฟีนิกซ์ ซันส์ ทีมบาสเกตบอลชื่อดังของ NBA โพสต์ภาพหมูเด้งคู่กับ เควิน ดูแรนต์ ไปจนถึงบาเยิร์น มิวนิก ทำมีมล้อกับสกอร์ที่ทัพเสือใต้เอาชนะดินาโม ซาเกร็บ 9-2 หรือ F1 ไมอามี ซึ่งโพสต์ภาพบัตร VIP ของหมูเด้งที่ใช้ในศึกไมอามีกรังด์ปรีซ์ และล่าสุดหมูเด้งก็ไปปรากฏบนจอยักษ์สนามกีฬามิชิแกน ระหว่างศึกการแข่งอเมริกันฟุตบอลระหว่าง University of Michigan กับ University of Southern California เรียกว่าน้องรันทุกวงการ

 

ทำไม ‘หมูเด้ง’ ลูกฮิปโปแคระเพศเมียวัย 2 เดือนจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวของไทย ถึงกลายเป็นที่เอ็นดูของคนทั่วโลกในชั่วข้ามคืน วิทยาศาสตร์อาจมีคำตอบ

  • อธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ ทำไมใครๆ ก็รักหมูเด้ง

 

ผิวนวลเนียนเต่งตึง แก้มสีชมพูน่าหยิก ท่าทางอ้อนพี่เลี้ยงแสนน่าเอ็นดู หรือแม้แต่ตอนสวบขาก็ยังดูน่ารัก หมูเด้งเป็นดาวดวงใหม่ที่ไม่ว่าชาวเน็ตไทยหรือต่างชาติก็อดเอ็นดูไม่ได้ ทำไมกัน

 

เว็บไซต์ The Washington Post อธิบายปรากฏการณ์หมูเด้งฟีเวอร์ว่า ที่หมูเด้งรวมถึงลูกสัตว์ตัวอื่นๆ มักเป็นที่เอ็นดูของมนุษย์ เพราะความน่ารักของพวกมันเข้ามาครอบงำสมองของเรา 

 

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ภาพของสัตว์ในช่วงวัยที่ยังเป็นทารกน้อยมักจะกระตุ้นสัญชาตญาณการเลี้ยงดูที่ฝังแน่นอยู่ในตัวมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่านี่เป็นลักษณะของวิวัฒนาการที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดหลายพันปี 

 

แดเนียล ครูเกอร์ นักวิจัยด้านจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการจาก University of Michigan และ The State University of New York at Buffalo กล่าวว่า “เมื่อเราเห็นลักษณะเฉพาะของทารก เช่น ดวงตากลมโต หน้าผากโหนกนูน คางแคบเล็ก และแขนขาอวบอ้วน สมองมนุษย์จะตีความว่านี่คือสัญญาณของสิ่งมีชีวิตที่ต้องการความช่วยเหลือ ต้องการการพึ่งพา ทำให้เรารู้สึกอยากเข้าไปดูแล” พร้อมย้ำด้วยว่า ความรู้สึกเหล่านี้เป็นสิ่งที่ ‘ทรงพลังมาก’ จนทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกได้กับสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1943 คอนราด ลอเรนซ์ นักพฤติกรรมวิทยาและนักชีววิทยาชาวออสเตรีย เป็นคนแรกที่เสนอแนวคิดเรื่อง Baby Schema ซึ่งอธิบายว่า ลักษณะเฉพาะต่างๆ ของทารก เช่น ตากลม แก้มป่อง จมูกนิด ปากหน่อย ร่างกายที่เล็กจิ๋ว ล้วนเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้มนุษย์รู้สึกว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ‘น่ารัก’ และนับแต่นั้นมาก็มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่ามนุษย์รู้สึกดึงดูดใจต่อคุณสมบัติเหล่านี้

 

ในปี 2009 มีงานวิจัยที่พบว่า Baby Schema เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้มนุษย์ทั้งชายและหญิงต้องการที่จะดูแลสิ่งนั้นๆ ขณะที่งานวิจัยอื่นๆ เผยว่า ความน่ารักของทารกส่งผลต่อความรู้สึกของมนุษย์ผู้ใหญ่แม้พวกเขาจะไม่ใช่พ่อแม่แท้ๆ ก็ตาม

 

มอร์เทน คริงเกิลบัค ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาแห่ง University of Oxford กล่าวว่า ความน่ารักน่าชังที่เราเห็นเป็นมากกว่าแค่ภาพ เพราะการเห็นสิ่งมีชีวิตหน้าตาน่ารักจะกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความสุขอย่างรวดเร็ว นี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกและสัตว์หน้าตาน่ารักดึงดูดความสนใจของมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว แถมยังยากที่จะละสายตาเสียด้วย

 

“และนั่นก็เป็นปฏิกิริยาแบบเดียวกับที่ผู้คนรู้สึกเมื่อเห็นสัตว์น่ารักๆ ในสวนสัตว์ รวมถึงลูกฮิปโปแคระในตอนนี้” ครูเกอร์กล่าวเสริม

 

เดวิด บาราช นักชีววิทยาวิวัฒนาการและศาสตราจารย์กิตติคุณด้านจิตวิทยาแห่ง University of Washington เผยว่า เขาเองก็มองว่า Baby Schema อาจอยู่เบื้องหลังความโด่งดังของหมูเด้ง จนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสวนสัตว์เปิดเขาเขียวพุ่งขึ้นเกินเท่าตัวในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ 

 

บาราชกล่าวว่า จมูกสั้นๆ ตากลมโต หูเล็กๆ และหุ่นกระปุ๊กลุกของหมูเด้งเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจ “และนั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ฮิปโปได้รับความนิยมและดูน่ารักน่าชังแม้กระทั่งพวกมันโตเต็มวัย…แม้ว่าฮิปโปในแอฟริกาจะฆ่ามนุษย์มากกว่าสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดอื่นๆ ก็ตาม”

  • หมูเด้งกับปรากฏการณ์ Snowball Effect

 

นอกจากเรื่อง Baby Schema แล้ว กระแสหมูเด้งฟีเวอร์ยังอาจสามารถอธิบายได้ด้วยปรากฏการณ์ Snowball Effect หรือผลกระทบใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมล้วนเริ่มมาจากสิ่งเล็กๆ ที่ทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนลูกบอลหิมะก้อนจิ๋วที่กลิ้งลงจากยอดเขาและสะสมเป็นก้อนหิมะขนาดมหึมาในที่สุด

 

บาราชกล่าวว่า “เมื่อความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาถึงเกณฑ์บางอย่าง ความสนใจนั้นๆ จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกับความโด่งดังของครอบครัวคาร์ดาเชียนก็อธิบายได้ด้วยปรากฏการณ์นี้”

 

ท้ายที่สุด เราหวังว่ากระแสหมูเด้งฟีเวอร์จะเป็นสิ่งที่ทำให้คนทั่วโลกหันมาตระหนักเกี่ยวกับฮิปโปแคระมากขึ้น เพราะปัจจุบันฮิปโปแคระจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในบัญชีแดง IUCN Red List การวิจัยในปี 1993 พบว่ามีฮิปโปแคระเหลืออยู่ตามธรรมชาติเพียง 2,000-2,500 ตัวเท่านั้น เนื่องจากพวกมันสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การทำเหมือง และการล่าสัตว์ คงจะดีไม่น้อยหากความสนใจเหล่านี้ขยายไปยังเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ของหมูเด้ง เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือและปกป้องฮิปโปแคระทั่วโลกต่อไป

 

ภาพ: ณาณารัฐ ภักดีอาสา / THE STANDARD

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X