งานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับอัตราการเจริญพันธุ์ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet พบว่า นับตั้งแต่ปี 1950-2017 ที่ผ่านมา อัตราการเจริญพันธ์ุมีแนวโน้มลดลงเป็นอย่างมาก โดยประชากรหญิงในกว่า 91 ประเทศ หรือเกือบครึ่งโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดแคลนเด็กเกิดใหม่ หรือภาวะ ‘Baby Bust’ ที่จำนวนประชากรเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่ไม่เพียงพอต่อการรักษาตัวเลขของจำนวนประชากรเดิมไว้ได้ ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบชัดเจนโดยเฉพาะในประเทศที่อัตราการตายของเด็กอยู่ในเกณฑ์สูง
โดยประเทศเล็กๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอย่างไซปรัส เป็นประเทศที่ผู้หญิงมีลูกเฉลี่ยเพียง 1 คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นชาติที่มีอัตราการเจริญพันธ์ุเฉลี่ยที่น้อยที่สุดในปี 2017 ที่ผ่านมา ในขณะที่ไทยเองก็ถูกจัดอันดับอยู่ใน 10 ประเทศแรกจากหัวตาราง โดยมีอัตราการเจริญพันธุ์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 คน เท่ากับเกาหลีใต้ อันดอร์รา และเปอร์โตริโก ซึ่งประเทศส่วนใหญ่มักเป็นชาติในทวีปเอเชีย
ในขณะที่อัตราการเจริญพันธ์ุเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 2.1 คน ซึ่งประเทศในทวีปแอฟริกาอย่าง ไนเจอร์ มีอัตราการเจริญพันธุ์เฉลี่ยสูงที่สุดในปีที่ผ่านมา สูงถึง 7.1 คน แต่อย่างไรก็ตาม ขนาดของประชากรจะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ทั้งอัตราการเกิด การตาย รวมถึงการย้ายถิ่นฐาน ในบางประเทศที่อัตราการเจริญพันธุ์สูง แต่ประสบปัญหาโรคระบาด ขาดแคลนอาหาร ก็อาจทำให้ไม่สามารถจัดการกับภาวะ ‘Baby Bust’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาพประกอบ: Chatchai C.