×

เจ้าสัวเจริญ จูงมือคุณหญิงวรรณา ดัน AWC ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ปั้นมากับมือกว่า 30 ปี ซื้อ-ขายวันแรก

10.10.2019
  • LOADING...
แอสเสท เวิรด์ คอร์ป

วันที่ 10 เดือน 10 ปี 2562 เวลา 10.00 น. คือฤกษ์งามยามดีที่สุดในการนำ ‘แอสเสท เวิรด์ คอร์ป’ หรือ AWC ติดนามสกุลมหาชนอย่างเป็นทางการ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปลุกปั้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากว่า 30 ปีของเจ้าสัวเจริญและคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ในการนำธุรกิจนี้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ และนับเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่เจ้าสัวเคาะระฆังซื้อขายวันแรกกับธุรกิจของตัวเองในประเทศไทย

 

หุ้นของ AWC สร้างสถิติใหม่ให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนับตั้งแต่ก่อตั้งมาเลยทีเดียว ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO ที่ 185,742 ล้านบาท โดย AWC มีทุนจดทะเบียน 32,000 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 24,000 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 8,000 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 6,957 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นสามัญส่วนเกิน 1,043 ล้านหุ้น ในราคาเสนอขายหุ้นละ 6 บาท มีมูลค่าระดมทุนรวม 41,742 ล้านบาท (ไม่รวมหุ้นที่จัดสรรส่วนเกิน)

 

แอสเสท เวิรด์ คอร์ป

แอสเสท เวิรด์ คอร์ป

 

ภายหลังจากเปิดขายอย่างเป็นทางการ หุ้นได้บวกขึ้นมา +0.83% คิดเป็นราคาหุ้น 6.05 บาท ก่อนที่จะขยับขึ้นมาเป็น +1.67% คิดเป็นราคาหุ้น 6.10 บาท ถือเป็นราคาสูงสุดของครึ่งเช้า ส่วนข้อมูลล่าสุด 10 ตุลาคม 2562 เวลา 12.22 น. ราคาอยู่ที่ 6.05 บาท

 

วัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวคนที่สองของเจ้าสัวเจริญ ผู้รับหน้าที่แม่ทัพ AWC ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นพิธีว่า “สิ่งที่คุณพ่อบอกคือต้องสร้างคุณค่าและความมั่นคงในระยะยาว ไม่ให้มองในระยะสั้น” เห็นได้จากทรัพย์สินส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินฟรีโฮลด์กว่า 90% แม้หลายคนจะบอกให้นำที่ดินลีสโฮลด์เข้ามาใส่ในพอร์ต 

 

แต่ AWC มองเป็นระยะว่าที่ดินลีสโฮลด์ไม่คุ้มในระยะยาว แต่สำหรับที่ดินฟรีโฮลด์นั้นยังสามารถเติบโตได้อีกในอนาคต ด้วยมูลค่าที่ดินในไทยยังไม่สูงมาก อีกทั้งไม่มีความเสี่ยงเรื่องต่อสัญญา สามารถปรับปรุงได้เลย ถ้าเป็นที่ดินลีสโฮลด์ใกล้หมดสัญญามาก็ไม่คุ้มที่จะต้องลงทุนเพิ่ม

 

“นี่นับเป็นการ IPO ครั้งแรกของกลุ่มในประเทศ ไม่นับไทยเบฟที่จดในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ซึ่งการ IPO ในครั้งนี้นับเป็นการสร้างรากฐานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มให้มั่นคงชัดเจน”

 

แอสเสท เวิรด์ คอร์ป

แอสเสท เวิรด์ คอร์ป

แอสเสท เวิรด์ คอร์ป

 

วัลลภาย้ำว่า AWC ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะในส่วนของธุรกิจโรงแรมมีฐานลูกค้ากว่า 300 ล้านคนทั่วโลก จำนวนนักท่องเที่ยวในเมืองไทยเติบโตทุกปี ในขณะที่กลุ่มสำนักงานให้เช่าเกรด A มีจำนวนพื้นที่ว่างต่ำสุดในรอบ 28 ปี ส่วนรีเทลเองก็จะเน้นพัฒนาให้เป็นเดสทิเนชัน

 

AWC มีแผนจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ไปลงทุนในการเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมรวม 12 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย โรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 4 แห่ง โรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จำนวน 6 แห่ง และอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูส (Mixed-use Properties) ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จำนวน 2 แห่ง นอกจากนี้จะนำเงินที่เหลือไปชำระคืนเงินกู้ธนาคารและพัฒนาทรัพย์สินของบริษัท 

 

“เรามีแผนจะใช้เงิน 30,000 ล้านบาทในการซื้อโรงแรมเข้ามาเพิ่ม ไม่นับลงทุนโครงการใหม่อีก 35,000 ล้านบาท รวมเป็น 55,000 ล้านบาท ซึ่งหลังเปิดให้บริการ โครงการเหล่านี้จะเข้ามาช่วยเสริมกระแสเงินสดให้กับธุรกิจอีกมาก”

 

แอสเสท เวิรด์ คอร์ป

แอสเสท เวิรด์ คอร์ป

 

ทั้งนี้ภายหลัง IPO แล้ว AWC มีผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้แก่ กลุ่มครอบครัวเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ถือหุ้นรวม 77.5% ของทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว AWC มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติตามงบการเงินรวมของบริษัท หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และหลังหักเงินสำรองต่างๆ ตามที่กฎหมายและบริษัทกำหนดไว้ในแต่ละปี

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising