ในโอกาสครบรอบ 3 ปีของการติดนามสกุลมหาชน AWC ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้วางแผน 5 ปีด้วยงบกว่า 1 แสนล้านบาทสำหรับทำให้ธุรกิจเติบโต
ตามแผนที่วางไว้ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2565 งบกว่า 6 หมื่นล้านบาทจะใช้สำหรับการพัฒนาโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่องจำนวน 15 โครงการ ซึ่งปัจจุบันมีโรงแรมที่กำลังพัฒนาอยู่ 9 แห่ง เช่น โครงการอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทล และโรงแรม อินน์ไซด์ กรุงเทพ สุขุมวิท เป็นต้น
แต่สิ่งที่น่าจับตามองคือ การกันงบไว้กว่า 4 หมื่นล้านบาทสำหรับการเข้าซื้อกิจการ ตลอดจนการบริหารต้นทุนและกระแสเงินสดจากการที่ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- AWC เตรียมตั้งกองทุนเข้าซื้อ ‘โรงแรม’ ที่ขาดสภาพคล่อง มีกว่า 100 โครงการเข้ามาเสนอ ตั้งแต่หลักร้อยถึงหมื่นล้าน
- ‘เจ้าสัวเจริญ’ เมิน AWC ขาดทุน 1.8 พันล้าน เตรียมทุ่มเกือบ 2 หมื่นล้าน ลุยเทกโอเวอร์โรงแรม ผุดแลนด์มาร์กใหม่รอท่องเที่ยวฟื้น
- AWC ประกาศตั้ง ‘องค์กรการร่วมลงทุน’ มูลค่า 1.65 หมื่นล้านบาท ลุยธุรกิจโรงแรมตามแหล่งท่องเที่ยวไทย พร้อมโชว์กำไรปี 64 โต 192%
- Forbes Asia เลือก ‘วัลลภา ไตรโสรัส’ ทายาทคนที่ 2 ของ ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี’ ติด 1 ใน 20 นักธุรกิจหญิงชั้นนำแห่งเอเชียประจำปี 2021
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ยอมรับว่า มีโรงแรมกว่า 200 แห่งที่เข้ามาเสนอขาย มีหลายขนาด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่การจะซื้อนั้นต้องดูความเหมาะสมด้วย
“AWC จะพิจารณาดูศักยภาพและคัดเลือกโรงแรมที่เหมาะสม ซึ่งเรายังไม่ได้สรุปว่าจะซื้อเท่าไร”
ตัวเลขโรงแรมนับร้อยที่มาเสนอขายไม่ใช่เรื่องใหม่ หากย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2563 วัลลภาเคยกล่าวว่า มีโรงแรมที่ขาดสภาพคล่องเข้ามาเสนอขาย ซึ่งซื้อต้องเป็นโครงการที่อยู่ในเมืองเป้าหมายของนักท่องเที่ยว และโรงแรมต้องมีศักยภาพที่จะสามารถรีแบรนด์หรือทรานส์ฟอร์มใหม่ได้
เพื่อรองรับโอกาสที่เข้ามาวัลลภาจึงสนใจที่จะตั้ง ‘กองทุน’ ขึ้นมา เพื่อที่จะเข้าซื้อ ซึ่งต้นปี 2565 ที่ผ่านมาได้มีการตั้งองค์กรการร่วมทุน (Investment Vehicle) เพื่อเข้าร่วมลงทุนธุรกิจโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย มีมูลค่าเงินลงทุนรวมสูงสุดประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 16,500 ล้านบาท
ตัว AWC จะเข้าร่วมลงทุนประมาณ 15-60% ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด และส่วนเงินลงทุนที่เหลือจะเป็นการร่วมลงทุนจากผู้ลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า AWC ใช้เงินจำนวนมากใช้การซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ ‘เข้าตา’ มาเสริมพอร์ตอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นซื้อซิกมา รีสอร์ท จอมเทียน พัทยา รวม 1.8 พันล้าน พร้อมใช้เงินอีก 1.6 หมื่นล้านลงทุนในเวิ้งนาครเขษม
สำหรับโครงการเวิ้งนาครเขษมจะประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่ โรงแรมระดับลักชัวรี, โรงแรมแบบบูติก, Branded Residence หรือคอนโดมิเนียมที่บริหารโดยแบรนด์โรงแรมลักชัวรี, Branded Residence ที่บริหารโดยแบรนด์โรงแรมบูติก และพื้นที่ค้าปลีก โดยจะมีเจดีย์จีนสูงไม่เกิน 8 ชั้น ที่จะโดดเด่นเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเยาวราชหรือไชน่าทาวน์ของไทย
ยังมีการทุ่มงบมากถึง 3,436 ล้านบาท เพื่อเช่าที่ดินประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างล้ง 1919 จากบริษัท หวั่งหลี จำกัด เป็นเวลา 64 ปี เพื่อสร้าง ‘แหล่งท่องเที่ยวด้านสุขภาพ’ และซื้อสิทธิ์เช่าศูนย์การค้าเกทเวย์ เอกมัย มูลค่า 4.2 พันล้านบาท หวังเพิ่มกระแสเงินสดกว่าพันล้านบาทใน 5 ปี
ล่าสุดในการแจ้งผลประกอบการไตรมาส 3/65 ยังได้เปิดเผยถึงการเข้าลงทุนและพัฒนา 2 โครงการในกรุงเทพฯ และภูเก็ต รวมมูลค่า 8,856 ล้านบาท เพิ่มพอร์ตสินทรัพย์คุณภาพของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ ได้แก่ การเข้าลงทุนและพัฒนาในโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินด์เซอร์ และโครงการเดอะ เวสทิน สิเหร่ เบย์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ต
ไตรมาส 3/65 AWC ระบุว่า มีรายได้รวมตามงบการเงิน 3,727 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิตามงบการเงิน 1,026 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.4
เฉพาะธุรกิจโรงแรมและการบริการ ซึ่งเป็นพอร์ตที่ใหญ่ที่สุด มีภาพรวมอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ของโรงแรมในเครือ AWC เพิ่มขึ้นร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียงร้อยละ 14.2 และราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวัน (Average Daily Rate: ADR) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4,920 บาทต่อคืน ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยจำนวนห้องพักของธุรกิจโรงแรมในไตรมาส 3/65 อยู่ที่ 5,199 ห้อง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวนห้องพัก 3,432 ห้อง
ปัจจุบันพอร์ตโฟลิโอของ AWC ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ 19 แห่ง กลุ่มศูนย์การค้า 9 แห่ง กลุ่มอาคารสำนักงาน 4 แห่ง และกลุ่มธุรกิจค้าส่ง 2 แห่ง รวม 34 แห่ง