วานนี้ (28 สิงหาคม) แม้ สกอตต์ มอร์ริสัน อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่สังคมออสเตรเลียในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมากำลังถกเถียงและเปิดโปงกรณีที่มอร์ริสันแอบแต่งตั้งตนเองนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีร่วมหลายกระทรวง โดยมี พล.อ. เดวิด เฮอร์ลีย์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (สมเด็จพระราชินาถเอลิซาเบธที่ 2) แห่งออสเตรเลียให้การรับรองและไม่ประกาศให้สาธารณชนรับทราบ ดึงให้ผู้สำเร็จราชการแทนฯ เข้ามาเกี่ยวข้องในประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงสุดในรอบเกือบ 50 ปี พร้อมเรียกร้องให้เร่งตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น
ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ของออสเตรเลีย ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อปี 1901 ถือเป็นตำแหน่งประมุขของรัฐ ซึ่งภารกิจและหน้าที่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการลงนามรับรองกฎหมายต่างๆ การประกาศสำคัญๆ ระดับชาติ รวมถึงเป็นผู้ทำพิธีสาบานตนให้กับคณะรัฐมนตรีของประเทศนี้อีกด้วย ทั้งยังมีอำนาจในเชิงชี้แนะ ตักเตือน และให้กำลังใจ บรรดาผู้มีบทบาทสำคัญในเกมการเมืองได้
โดย พล.อ. เฮอร์ลีย์ เข้าสู่วงจรความขัดแย้ง ตั้งแต่ลงนามตามคำร้องขอของมอร์ริสัน ให้เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียควบเก้าอี้รัฐมนตรีสาธารณสุข เมื่อเดือนมีนาคม 2020 ในขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขขณะนั้นติดโควิด ซึ่งก็ดูเหมือนจะพอเข้าใจได้ แต่หลังจากนั้นราว 1 ปี พล.อ. เฮอร์ลีย์ ได้ลงนามมอบอำนาจให้กับมอร์ริสันควบตำแหน่งรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง เช่น รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีกลาโหม โดยไม่ได้ประกาศให้สาธารณชนรับทราบ หรือไม่แม้แต่สื่อสารกันในคณะรัฐมนตรี จึงมีข้อเรียกร้องให้ตรวจสอบความโปร่งใสของเหตุการณ์ดังกล่าวที่ดูเหมือนจะเป็นความพยายามในการรวบอำนาจของมอร์ริสันในช่วงเวลานั้น
กระแสในสังคมออสเตรเลียแตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมองว่า พล.อ. เฮอร์ลีย์ ทำถูกต้องแล้ว อีกทั้งเขาจำต้องลงนามรับรองเนื่องจากไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธคำร้องของนายกรัฐมนตรี อีกทั้งโฆษกผู้สำเร็จราชการแทนฯ มองว่าไม่เคยมีการประกาศแต่งตั้งในลักษณะดังกล่าวมาก่อน จึงไม่จำเป็นต้องประกาศให้ทราบ โดย แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคนปัจจุบัน ก็ออกมาปกป้องผู้สำเร็จราชการแทนฯ
ในขณะที่อีกฝ่ายนอกจากจะตั้งคณะกรรมการสอบมอร์ริสันแล้ว ยังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ พล.อ. เฮอร์ลีย์ด้วย พร้อมชี้ว่านี่คือช่วงเวลาที่สำคัญของออสเตรเลียที่จะทบทวนบทบาทและหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแทนฯ พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า ตำแหน่งที่ตั้งขึ้นนี้ยังคงเป็นไปตามเจตจำนงที่ได้ตั้งไว้ตอนประกาศเอกราชหรือไม่
รวมถึงปลุกกระแสเกี่ยวกับการทำประชามติว่าด้วยสาธารณรัฐออสเตรเลียใหม่อีกครั้ง โดยเสนอว่า หรืออาจถึงเวลาแล้วที่ประมุขของรัฐออสเตรเลียควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนชาวออสเตรเลีย รับผิดชอบและปกป้องรัฐธรรมนูญออสเตรเลียแทนการเสนอแต่งตั้ง นับเป็นประเด็นร้อนระอุที่ได้รับการพูดถึงเป็นวงกว้าง และสั่นคลอนบทบาทของผู้สำเร็จราชการแทนฯ ครั้งใหญ่ นับตั้งแต่ เซอร์จอห์น เคอร์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนฯ ได้สั่งปลดนายกรัฐมนตรีกอฟ วิธแลม ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 1975
แฟ้มภาพ: Tracey Nearmy-Pool / Getty Images
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2022/08/23/australia/australia-inquiry-morrison-ministerial-roles-intl-hnk/index.html
- https://www.ft.com/content/fbb9c9ab-2648-42db-b761-f1fd95596cd8
- https://www.bbc.com/news/world-australia-62683210
- สกอตต์ มอร์ริสัน อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียจากพรรคลิเบอรัล ดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2018 – 23 พฤษภาคม 2022 ก่อนที่ แอนโทนี อัลบาเนซี ผู้สมัครจากพรรคเลเบอร์จะเข้ามารับช่วงต่อ นับเป็นผู้สมัครจากพรรคเลเบอร์ในรอบ 10 กว่าปีที่ชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลของออสเตรเลีย