สถานการณ์เงินเฟ้อในออสเตรเลียยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาอาหารที่เป็นหนึ่งในสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุด โดยสำนักงานสถิติของออสเตรเลียเปิดเผยถึงราคาของผักและผลไม้ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 18.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่รวมแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 9.3% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดเป็นสถิติใหม่ โดยเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 6.8% เทียบกับช่วงก่อนโควิดที่เงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่า 2%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ฮ่องกง’ ทำไมสถานะ ‘ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย’ กำลังถูกสั่นคลอน และอาจกลายเป็นแค่อดีต
- ‘สวิตเซอร์แลนด์’ รั้งอันดับ 1 ประเทศที่ดีที่สุดในโลกปี 2022 ส่วน ‘ไทย’ อยู่อันดับที่ 28 ด้วย 47.7 คะแนน
- ‘ญี่ปุ่น’ แชมป์พาสปอร์ตทรงอิทธิพลปี 2022 เที่ยวได้ 193 จุดหมายปลายทางโดยไม่ต้องขอวีซ่า ขณะไทยตกไปอยู่อันดับที่ 70
ราคาของอาหารที่แพงขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการร้านอาหารและประชาชนทั่วไป
Alan Chu เจ้าของร้านอาหารไต้หวันในออสเตรเลีย กล่าวว่า ราคาของผักกะหล่ำและผักส่วนใหญ่แพงขึ้นทั้งหมด รวมถึงวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารอื่นๆ ด้วยเช่นกัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ร้านต้องปรับราคาอาหารเพิ่มขึ้น 20-30% จากช่วงเริ่มต้นเกิดวิกฤตโควิด
“ราคาผักแพงขึ้นมาก อย่างผักกะหล่ำหัวเล็ก 1 หัว ราคาเพิ่มขึ้นไปถึง 10-12 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นราคาที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และสิ่งที่ยากลำบากที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับแต่ละธุรกิจคือต้นทุนค่าแรงก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน”
ก่อนหน้านี้ราคาผักกะหล่ำเคยอยู่ที่ประมาณ 2.9 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ก่อนที่จะพุ่งขึ้นเกือบ 4 เท่า ณ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสถิติของกระทรวงเกษตรของออสเตรเลียระบุว่า ราคาของผักกะหล่ำได้ปรับลดลงมาจนใกล้กับระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว
ด้าน Chris Lam เจ้าของร้านค้าปลีกในไชน่าทาวน์ กล่าวว่า สินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือข้าวและน้ำมันทำอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้า ขณะเดียวกันราคาอาหารที่แพงขึ้นก็ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป
“ผู้คนต่างลังเลที่จะใช้จ่าย ทุกคนรัดเข็มขัด เลือกมากขึ้นว่าควรจะซื้ออะไร”
ทั้งนี้ รัฐบาลออสเตรเลียออกมาเตือนว่าเงินเฟ้อจะยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี และน่าจะไปถึงจุดพีคที่ระดับ 7.75%
ด้าน Jack Zhang นักบัญชีของ Accentor Associates กล่าวว่า ร้านอาหารต่างๆ ไม่สามารถที่จะส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคได้ทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบการจะมีกำไรที่ลดลง ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละร้านก็พยายามลดต้นทุนในส่วนอื่น เช่น การลดชั่วโมงการทำงานของพนักงานลง
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/10/05/australia-inflation-rising-food-prices-are-hurting-restaurants-diners.html
- https://www.agriculture.gov.au/abares/data/weekly-commodity-price-update/australian-horticulture-prices
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP