เกิดแสงเหนือหรือแสงออโรราชนิดหลากสีสัน ทั้งแดง ม่วง ชมพู และเขียว ขึ้นบนท้องฟ้าของหลายประเทศในซีกโลกเหนือในช่วง 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ที่ได้พบเห็น โดยเฉพาะในบางพื้นที่ที่อยู่ในพิกัดที่ปกติแล้วแสงออโรราจะไม่ค่อยปรากฏให้เห็น
แสงออโรราคืออะไร
แสงออโรรา คือแสงที่เกิดบนชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ จากการแตกตัวของโมเลกุลก๊าซเมื่อถูกอนุภาคมีประจุจากดวงอาทิตย์พุ่งชน โดยส่วนใหญ่แล้วอนุภาคเหล่านี้จะเดินทางมากับการสะบัดกลับของเมกนีโตเทล (Magnetotail) หรือหางของสนามแม่เหล็กโลกที่ถูกพลังงานของดวงอาทิตย์ดันให้ยืดยาวออกไปแล้วคืนตัว
ทำไมครั้งนี้จึงพิเศษ
ดวงอาทิตย์ปล่อยมวลสารโคโรนา หรือ CME (Coronal Mass Ejection) ซึ่งก็คือก้อนพลาสมาขนาดยักษ์ เดินทางเข้ามาชนกับสนามแม่เหล็กโลกเมื่อเวลา 16.05 น. ของวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย
การเข้าชนของ CME ทำให้สนามแม่เหล็กโลกเกิดการสั่นสะเทือน และดันให้เกิดเมกนีโตเทลยืดยาวออกไป เรียกว่าเกิด ‘พายุแม่เหล็กโลก’ หรือ Geomagnetic Storm เราวัดระดับความรุนแรงของปรากฏการณ์นี้ได้ด้วยดัชนี K หรือ K-Index ตามกราฟด้านบน
โดยปกติแล้วจะเริ่มเกิดแสงออโรรา หรือแสงเหนือให้เรามองเห็นได้บนท้องฟ้า เมื่อมีพายุแม่เหล็กโลกที่มีความรุนแรงในระดับตั้งแต่ K-Index = 5 ขึ้นไป ซึ่งทางดาราศาสตร์ได้มีการกำหนดหน่วยแยกออกไปอีก นั่นคือค่า G โดยกำหนดค่า G1 เท่ากับ K-Index = 5 ค่า G2 เท่ากับ K-Index = 6 ไปจนถึง G5 ซึ่งมีค่าสูงสุดจะตรงกับ K-Index = 9
และการชนของ CME จากดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีความแรงถึง G3 หรือ K-Index = 7 จึงเกิดแสงออโรราขึ้นมากมายหลายพื้นที่จนเป็นข่าวไปทั่ว
เกิดแสงหลากสีสัน
แสงออโรราจะมีสีต่างๆ ตามโมเลกุลของอากาศที่แตกตัว ที่เห็นบ่อยคือสีเขียว ซึ่งเป็นแสงที่เกิดจากโมเลกุลออกซิเจน แตกตัวที่ความสูงประมาณ 100-300 กิโลเมตรจากผิวโลก แต่ถ้าโมเลกุลออกซิเจนแตกตัวที่ความสูงเกิน 300 กิโลเมตรขึ้นไป ตาเราจะเห็นเป็นแสงสีแดง ส่วนแสงสีม่วงหรือน้ำเงินที่ค่อนข้างเกิดไม่บ่อยจะเป็นการแตกตัวของไนโตรเจน แสงสีอื่น เช่น สีเหลือง ก็อาจเป็นการแตกตัวของโมเลกุลก๊าซอื่น เช่น อาร์กอน เป็นต้น สีต่างๆ ของออโรราอาจเกิดจากการผสมสีทางแสงด้วย
การเกิดออโรราครั้งนี้มาจากพายุแม่เหล็กโลกระดับ G3 ทำให้ช่วงของชั้นบรรยากาศที่ถูกกระทบนั้นกว้างหลายร้อยกิโลเมตร ผ่านโมเลกุลของก๊าซมากมาย จึงเกิดแสงหลากหลายสีกว่าครั้งที่เกิดโดยธรรมดาทั่วไป
เกิดในหลายพื้นที่
เส้นละติจูดคือตัวบ่งบอกว่าปรากฏการณ์แสงเหนือครั้งนั้นมาจากความรุนแรงของพายุแม่เหล็กโลกระดับไหน ยิ่งผู้คนมองเห็นแสงออโรราในละติจูดต่ำ นั่นหมายถึงพายุแม่เหล็กโลกยิ่งรุนแรง ซึ่งรอบนี้มีรายงานการพบแสงออโรราทั้ง ‘แสงเหนือ’ และ ‘แสงใต้’ คือเกิดทั้ง 2 ซีกโลก ในละติจูดต่ำลงมาถึงประเทศสโลวาเกียและฮังการี แม้กระทั่งรัฐทางภาคกลางของสหรัฐฯ เช่น รัฐโคโลราโด ก็มีรายงานว่าพบเห็นแสงออโรราเช่นกัน และแน่นอนว่าชาวออสเตรเลียที่อยู่ในซีกโลกใต้ก็ได้ชื่นชม ‘แสงใต้’ ด้วย
มีอันตรายไหม ทำไมต้องจัดระดับความแรง
การพุ่งชนของ CME เป็นหนึ่งในปฏิกิริยาของดวงอาทิตย์ที่เกิดในแต่ละวงรอบของวัฏจักรสุริยะ ซึ่งมีคาบเวลาประมาณ 11 ปี ปฏิกิริยาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็เช่นการลุกจ้าหรือ Solar Flare หรือการเพิ่มความเร็วของอนุภาคตามความเร็วของลมสุริยะ การปะทุของจุดมืด เป็นต้น ปฏิกิริยาเหล่านี้อาจส่งผลเสียหายต่อระบบดาวเทียม ระบบส่งน้ำมัน หรืออาจรุนแรงจนระบบส่งไฟฟ้าล่มสลาย เกิดไฟฟ้าดับทั้งรัฐอย่างที่เกิดในควิเบก ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 1989 เป็นต้น
NASA และหน่วยงานทางอวกาศของประเทศอื่นไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้จัดหน่วยเฝ้าระวัง ‘ภูมิอวกาศ’ หรือ Space Weather ขึ้นมาเพื่อเฝ้าดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ มีการส่งยานอวกาศหลายลำขึ้นไปเพื่อถ่ายภาพเตือนภัย อย่างในภาพบนคือภาพจากยานอวกาศ SOHO ที่ถ่าย CME พุ่งออกจากดวงอาทิตย์ในวันที่ 3 และ CME ก้อนนี้ใช้เวลาเดินทาง 2 วันจึงมาชนกับสนามแม่เหล็กโลกดังที่กล่าวมาข้างต้น นั่นหมายถึงหน่วยงานของ NASA รู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องลดการสื่อสารของดาวเทียมลง ดาวเทียมบางดวงต้องสั่งให้เข้าโหมดงีบหลับ ทั้งสายการบินต่างๆ ก็ได้รับคำเตือนให้ระวังความขัดข้องของระบบสื่อสาร เป็นต้น
(วงกลมดำในภาพจาก SOHO คือโลหะบังแสงที่มีแขนของยานยื่นออกไปถือไว้บังดวงอาทิตย์ไม่ให้ส่องแสงมาที่กล้องของยานโดยตรง)
เมืองไทยจะได้เห็นไหม
หลายคนตั้งคำถามนี้ แต่คำตอบคือ ‘ไม่’ ประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ถือเป็นจุดที่หนาที่สุดของเกราะแม่เหล็กโลก ดังนั้นหากแสงเหนือปรากฏขึ้นบนฟ้าเมืองไทยเมื่อใด นั่นหมายถึงหายนะครั้งใหญ่ที่อาจมาจากการที่โลกเราสูญเสียสนามแม่เหล็กที่คอยปกป้องเราไปแล้ว ดังนั้น หากอยากชมแสงสวยงามละลานตาของแสงออโรรา เราควรเดินทางไปชมในท้องฟ้าจำลอง หรือบินไปชมตามประเทศแถบอาร์กติกดีกว่า
ภาพ: Owen Humphreys / PA Images via Getty Images
อ้างอิง: