คนรุ่นใหม่อยากเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นตามแบบที่พวกเขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคม การเมือง วัฒนธรรม รวมไปถึงเรื่องเทคโนโลยี
เช่นเดียวกับ Carvey Ehren Maigue นักศึกษาหนุ่มจากมหาวิทยาลัย Mapua ประเทศฟิลิปปินส์ ที่อยากช่วยให้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแผงโซลาร์เซลล์นั้นทำงานได้ประสิทธิผลมากขึ้น โดยเขามองว่าแผงโซลาร์เซลล์ปกติมีข้อจำกัดตรงที่ต้องอาศัยแสงแดดจ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างพลังงาน ดังนั้นในวันฝนตกหรือไม่มีแดดก็ไม่สามารถสร้างพลังงานได้
เขาจึงคิดค้นและออกแบบเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า AuREUS System แผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้แผ่นฟิล์มที่สร้างจากขยะในครัวอย่างเศษผัก ผลไม้ มาช่วยในการดูดรังสีอัลตราไวโอเลต (ที่ส่องมายังโลกได้แม้ในวันที่ฝนตกหรือมีเมฆครึ้ม) แล้วแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ไอเดียนี้เจ๋งจนได้รับรางวัล James Dyson Foundation เลยทีเดียว
ปัจจุบัน Carvey ได้สร้างโปรโตไทป์แผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กๆ (3×2 ฟุต) ติดไว้ที่หน้าต่างในอพาร์ตเมนต์ของเขา ซึ่งมันสามารถสร้างไฟฟ้าที่เพียงพอสำหรับชาร์จมือถือได้ 2 เครื่องต่อวัน ในอนาคตเขาคาดว่า AuREUS จะมีส่วนสำคัญในวงการ Clean Energy เพราะสามารถนำไปใช้ในสเกลที่ใหญ่มากขึ้น เช่น ติดตั้งในตึกใหญ่ย่านชุมชนเมือง หรือแม้กระทั่งในวงการรถยนต์ไฟฟ้าด้วย และเนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์ที่เขาคิดค้นขึ้นสามารถบิดและงอได้ (Flexible) มันจึงสามารถนำไปใช้ในวงการเสื้อผ้าแฟชั่นได้เช่นกัน
ภาพ: James Dyson Foundation
อ้างอิง:
- https://bgr.com/science/revolutionary-new-solar-panels-dont-need-sunlight-to-generate-energy/?fbclid=IwAR1hsD-ItRqCs2l6UjgWeJB-UzskO5IYmlUq0KacDgWWMeq-NPrY-oDDak0
- https://www.jamesdysonaward.org/2020/project/aureus-aurora-renewable-energy-uv-sequestration/
- https://www.youtube.com/watch?v=9HQnIQ6YRGo