×

ออง ซาน ซูจี เคลื่อนไหวครั้งแรก หลังถูกกดดันจากประชาคมโลกจากเหตุกวาดล้างโรฮีนจา

06.09.2017
  • LOADING...

 

     ออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 1991 กล่าวถึงปัญหาชาวโรฮีนจาเป็นครั้งแรก หลังจากถูกประชาคมโลกกดดันและเร่งรัดให้จัดการกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน

     เธอกล่าวว่า “รัฐบาลของเธอกำลังทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของชาวโรฮีนจา” ขณะสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ที่แสดงความกังวลต่อประเด็นปัญหานี้

     นางซูจียืนยันว่า “พวกเรารู้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนการไม่ได้รับการปกป้องเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น พวกเราจึงสร้างความเชื่อมั่นว่า ประชาชนทุกคนในประเทศของเราจะได้รับการปกป้องสิทธิของพวกเขา ไม่เพียงแต่สิทธิในด้านการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการได้รับความคุ้มครองด้านสังคมและสิทธิมนุษยชนอีกด้วย”

     การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ของนางซูจีเกิดขึ้นหลังมีกระแสวิพากษวิจารณ์ว่า รัฐบาลของนางซูจีที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ จนได้รับฉายาว่าเป็น ‘เนลสัน แมนเดลา แห่งเอเชีย’ กำลังเพิกเฉยต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ที่ถูกคร่าชีวิตและถูกบังคับให้ออกไปจากประเทศเป็นจำนวนมาก

     นางซูจีกล่าวว่า มีข้อมูลที่ผิดพลาดรั่วไหลออกไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มก่อการร้าย และรัฐบาลเมียนมาพยายามอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่าเหตุความรุนแรงในครั้งนี้จะไม่แผ่ขยายไปทั่วรัฐยะไข่ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ของเมียนมา

     ด้าน พุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ต่อกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้นางซูจีออกมาแสดงบทบาทต่อปัญหาดังกล่าวว่า การเรียกร้องนี้มี 2 นัยยะ นัยยะแรกคือการที่นางซูจีเป็นผู้นำประเทศในปัจจุบัน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ทั่วโลกต้องเรียกร้องให้ผู้นำประเทศแสดงบทบาทบางอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้น

     ส่วนอีกนัยยะ เนื่องจากนางซูจีมีภาพลักษณ์เป็นผู้นำด้านประชาธิปไตยในเมียนมา เป็นสัญลักษณ์ถึงสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม จึงมีความคาดหวังจากสังคมในฐานะสัญลักษณ์แห่งความดีงาม

     “สำหรับเรา เราคาดหวังกับเขาในฐานะผู้นำประเทศมากกว่า เพราะนอกเหนือจากนั้นเรื่องรางวัลต่างๆ มันคืออดีต ซึ่งเราไม่ได้คาดหวังแค่ตัวเขา แต่คาดหวังไปถึงผู้นำประเทศเมียนมาคนอื่นๆ ให้ยุติความขัดแย้ง หยุดการเข่นฆ่า และเข้าไปสืบค้นข้อเท็จจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่” พุทธณีให้ความเห็น

     ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีชาวโรฮีนจาอย่างน้อย 123,000 คน เดินทางอพยพลี้ภัยข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศ เนื่องจากถูกกองทัพเมียนมาไล่ต้อนกวาดล้างอย่างหนัก จนมีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำดังกล่าวไม่ต่างจากการพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

     ภายหลังจากการสนทนากับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำเมียนมาในประเด็นนี้ โฆษกของประธานาธิบดีไตยิป แอร์โดอัน ได้ออกมาประกาศว่า องค์กร Turkish Cooperation and Coordination Agency (TİKA) ได้รับอนุญาตให้สามารถส่งความช่วยเหลือ โดยเฉพาะปัจจัยสี่ให้แก่ชาวโรฮีนจาในเมียนมาได้บริเวณ Maungtaw และ Buthi Taung ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ซึ่งสถานการณ์ในรัฐยะไข่ในขณะนี้ยังไม่ปลอดภัย ดังนั้นการลำเลียงความช่วยเหลือด้านต่างๆ จะกระทำโดยการใช้เฮลิคอปเตอร์

     เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อชาวโรฮีนจาในเมียนมาสร้างแรงปะทุให้แก่ผู้นำประเทศมุสลิมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นตุรกี อินโดนีเซีย และปากีสถาน รวมถึงนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ที่แสดงความกังวลต่อความไม่เป็นธรรมและประณามเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น

 

Photo: Jewel SAMAD/AFP

 อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X