ก่อนหน้านี้ ออง ซาน ซูจี ผู้นำคนสำคัญของเมียนมา และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 1991 ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากกรณีวิกฤตโรฮีนจาที่เกิดขึ้น จนหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมของผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ รวมถึงมีกระแสเรียกร้องให้ริบรางวัลคืนจากเธอ
ล่าสุด ตัวแทนคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลของนอร์เวย์ระบุ ไม่มีมาตรการริบรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ คืนจากผู้ที่เคยได้รับรางวัล เนื่องจากการพิจารณาจะดูจากสิ่งที่บุคคลนั้นๆ ได้กระทำในอดีตจนถึงปีที่เขาได้รับมอบรางวัล ไม่มีผลผูกพันกับเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งในรางวัลที่เธอเคยได้รับเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนนั้น มาจากความพยายามในการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม และต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าในช่วงระยะเวลานั้น
“เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมพฤติกรรมหรือเซนเซอร์สิ่งที่เขาจะทำได้หลังได้รับรางวัล ผู้รับรางวัลมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องชื่อเสียงของตนเอง จากสิ่งที่ตนได้ตัดสินใจทำลงไป”
ปัญหาโรฮีนจาเป็นวิกฤตการณ์ที่ประชาคมโลกต่างให้ความสนใจตลอดทั้งปีที่ผ่านมา โดยมีชาวโรฮีนจาอย่างน้อย 7 แสนคน อพยพหนีความรุนแรงและการกวาดล้างโดยกองทัพเมียนมาไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะบังกลาเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้วิกฤตผู้อพยพและลี้ภัยโลกทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- www.theguardian.com/world/2018/aug/30/aung-san-suu-kyi-wont-be-stripped-of-nobel-peace-prize-despite-rohingya-crisis
- www.independent.co.uk/news/world/asia/aung-san-suu-kyi-nobel-peace-prize-myanmar-rohingya-genocide-a8513746.html
- edition.cnn.com/2018/08/29/asia/aung-san-suu-kyi-nobel-prize-intl/index.html