×

ใช้กล่อง ATK เป็นซองเครป อาจมีสารอันตรายปนเปื้อนอาหารเข้าสู่ร่างกาย กรมอนามัยแนะสังเกตบรรจุภัณฑ์อาหาร

โดย THE STANDARD TEAM
09.12.2022
  • LOADING...

วันนี้ (9 ธันวาคม) นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่โลกโซเชียลมีการโพสต์ภาพซองกระดาษใส่ขนมเครป โดยตัวซองบรรจุเป็นกล่องบรรจุชุดตรวจ ATK จนกลายเป็นกระแสบนโลกออนไลน์นั้น 

 

กรมอนามัยขอแจ้งว่าการนำกล่อง ATK มาใส่อาหาร ถือว่ามีความเสี่ยงในหลายๆ ด้านและไม่ถูกสุขอนามัย เนื่องจากกล่องชุดตรวจ ATK ไม่ได้ผลิตมาเพื่อบรรจุอาหาร และกระดาษบางประเภทมีสารอันตรายตกค้าง สามารถแพร่กระจายเข้าสู่อาหารได้ โดยสารอันตรายที่อาจตกค้างในกระดาษสัมผัสแบ่งประเภทเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มสารอนินทรีย์อันตราย ได้แก่ โลหะเป็นพิษที่ออกฤทธิ์เรื้อรังต่อร่างกาย เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม โดยหากได้รับในปริมาณสูงอาจส่งผลให้เสียชีวิตอย่างฉับพลัน 

 

และกลุ่มสารอินทรีย์อันตรายที่มีฤทธิ์ก่อมะเร็ง เช่น บิสฟีนอล A โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) สารกลุ่มพาทาเลต สีเอโซ โดยเฉพาะเบนโซฟีโนน ซึ่งเป็นสารตัวเริ่มปฏิกิริยาด้วยแสง (Photoinitiator) ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาในกระบวนการโพลีเมอไรเซชัน เพื่อทำให้หมึกพิมพ์แข็งตัวเป็นฟิล์มเคลือบบนวัสดุที่พิมพ์ และอาจตกค้างอยู่บนกระดาษ ทำให้มีการปนเปื้อนในอาหารในระดับความเข้มข้นที่เป็นอันตราย นอกจากนี้ ร้านค้าจำหน่ายอาหารบางร้านยังนิยมนำอาหารร้อนใส่ในถุงกระดาษที่มีลายพรินต์ตัวอักษรหรือลวดลาย 

 

โดยขนมประเภททอดน้ำมันจะมีน้ำมันเป็นตัวช่วยละลายสารตะกั่วจากหมึกพิมพ์ให้มาปนเปื้อนในอาหาร อาจทำให้เกิดโรคโลหิตจาง เป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร

 

มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของไต และกล้ามเนื้อหยุดทำงานจนเป็นอัมพาตได้ หากอาหารที่มีความร้อนจะละลายสารพิษในหมึกพิมพ์ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า สามารถก่อมะเร็งได้อีกด้วย

 

​“ร้านค้าควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคในการเลือกบรรจุภัณฑ์ คือ 1. สุขอนามัยบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหารที่ดี ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระดาษสัมผัสอาหาร (Food Grade) โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต การเก็บเข้าคลังสินค้า การขนย้ายบรรจุภัณฑ์ต้องมีการปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยการจัดการความปลอดภัยด้านอาหารที่มีความเข้มงวด เพื่อส่งต่อสุขอนามัยที่ดีไปยังผู้บริโภค 2. มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันการเสียหายในระหว่างการขนส่ง สามารถย่อยสลายและนำมารีไซเคิลได้เพื่อลดปริมาณขยะ” นพ.เอกชัยกล่าว

 

ภาพ: Gate GN / Facebook

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising