×

‘เกมจบ ใจไม่จบ’ เมื่อสุขภาพจิตของนักกีฬากลายเป็นความท้าทายที่ไม่ได้จบแค่ในสนาม

โดย Psycholism
11.08.2021
  • LOADING...
นักกีฬา

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • Simone Biles นักยิมนาสติกจากสหรัฐฯ ขอถอนตัวจากการแข่งขันด้วยเหตุผลทางสุขภาพจิต Naomi Osaka นักเทนนิสจากญี่ปุ่น ที่ถอนตัวจากรายการแข่งขันสำคัญอย่างวิมเบิลดัน Michael Phelps อดีตนักกีฬาว่ายน้ำของสหรัฐฯ ออกมาเปิดเผยเรื่องการต่อสู้กับโรคซึมเศร้า เหล่านี้คือหลักฐานที่ส่งสัญญาณว่าประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพจิตนี้ไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลหรือเกิดขึ้นไม่บ่อยเลย
  • ความผิดปกติทางการนอน, โรคซึมเศร้าและอาการซึมเศร้า, โรคที่เกี่ยวกับความวิตกกังวล, ความผิดปกติที่เกี่ยวกับการกิน และ PTSD คือ 5 อาการตัวอย่างที่อาจเกิดในนักกีฬา 
  • คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ให้ความสำคัญกับหัวเรื่องนี้ ทำให้ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในครั้งนี้ได้จัดส่วนสื่อสารนักกีฬาอย่าง Athlete 365 ที่มีการจัดสรรนักจิตวิทยา จิตแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตที่รองรับกว่า 70 ภาษา พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงในหมู่บ้านนักกีฬา

 

นอกจากเกมกีฬาที่พาคนทั้งโลกร่วมลุ้นไปด้วยกัน พิธีเปิด-ปิดอันอลังการยิ่งใหญ่ และสถิติที่ถูกทำลายไปในหลายการแข่งขัน มิติหนึ่งที่ปรากฏชัดขึ้นมาใหม่ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตเกียวในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน และเราคิดว่าอาจสำคัญกว่าเรื่องข้างต้นที่ว่ามา คือเรื่องสุขภาพใจของนักกีฬา

 

Simone Biles นักยิมนาสติกจากสหรัฐฯ ขอถอนตัวจากการแข่งขันด้วยเหตุผลทางสุขภาพจิต หรือ Naomi Osaka นักเทนนิสจากญี่ปุ่น ที่ถอนตัวจากรายการแข่งขันสำคัญอย่างวิมเบิลดัน เชื่อมโยงกลับไปถึงการเผยเรื่องการต่อสู้กับโรคซึมเศร้าของ Michael Phelps อดีตนักกีฬาว่ายน้ำของสหรัฐฯ เจ้าของสถิติเหรียญโอลิมปิกมากที่สุด และการพรากชีวิตตัวเองของอดีตผู้ชนะการแข่งขันโอลิมปิกอีกหลายคน เหล่านี้ล้วนส่งสัญญาณว่าประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพจิตนี้ไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลหรือเกิดขึ้นไม่บ่อยเลย

 

นอกจากร่างกายและทักษะที่ได้รับการฝึกฝนและเคี่ยวกรำอย่างหนักกว่าจะก้าวมาเป็นนักกีฬาแถวหน้า (หรือที่เรียกกันว่า Elite Athletes) ในระหว่างทางแต่ละคนก็ต้องผ่านด่านทดสอบจิตใจมาไม่มากก็น้อย ทั้งจากความเหนื่อยล้าทางกายใจ การมีอาชีพที่ยึดโยงกับการแพ้ชนะ การพยายามก้าวข้ามขีดจำกัด ความกดดันจากการฝึกซ้อม หรือน้ำหนักความหวังที่แบกไว้ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว วงการกีฬา ไปจนถึงระดับชาติ เหล่านี้ยังไม่รวมเรื่องราวอื่นๆ ในชีวิตในฐานะบุคคลหนึ่ง และไหนจะยังมีโควิดเพิ่มขึ้นมาอีก

 

คนในวงการกีฬาอาชีพเริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น กระทั่งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องสุขภาพจิตของนักกีฬาจาก 13 ประเทศ รวบรวมงานวิจัย ทบทวนวรรณกรรม (จำนวนถึง 14,689 บทความ!) วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสรุปรวมออกมาเป็นแถลงการณ์ทางการแพทย์ (1) (Consensus Statement) เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อปี 2019 ที่รวบรวมกลุ่มอาการต่างๆ และคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการโรคทางสุขภาพจิตในนักกีฬาอาชีพด้วยอาการทางใจที่อาจเกิดในนักกีฬาอาชีพ เนื่องจากเงื่อนไขและประสบการณ์ของนักกีฬาแต่ละคนแตกต่างกันไป เราขอยก 5 ตัวอย่างอาการเกี่ยวกับสุขภาพจิตจากรายงานที่พูดถึงข้างต้นมาเล่าให้ฟัง เพื่อให้พอเข้าใจถึงลักษณะปัญหาที่พวกเขาอาจต้องเผชิญ และความซับซ้อนของเงื่อนไขเหล่านั้น

 

 

ความผิดปกติทางการนอน 

มีงานวิจัยพบว่า 49% ของนักกีฬาโอลิมปิกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่นอนหลับได้ไม่ดี (Poor Sleeper) ไม่ว่าจะเป็นจากการนอนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในคืนก่อนทำการแข่งขัน ยิ่งในกลุ่มนักกีฬาเยาวชนที่ยังเรียนไปด้วยและซ้อมกีฬาไปด้วย ก็มีการใช้เวลาทบทวนบทเรียนหรือทำรายงานที่นอกเหนือจากการไปเรียนและซ้อมกีฬาตามปกติ รวมถึงนักกีฬาที่มีวงจรการหลับ-ตื่นที่ผิดปกติจากการเดินทางต่างประเทศเพื่อแข่งขันบ่อยๆ อาการนอนไม่หลับ ไปจนถึงการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเล่นกีฬาโดยตรง ทั้งเรื่องความอ่อนเพลีย การควบคุมอารมณ์และสมาธิ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคทางสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมา

 

โรคซึมเศร้าและอาการซึมเศร้า

ประเภทของกีฬานำไปสู่ระดับความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าที่ต่างกัน โดยพบว่าอาการซึมเศร้าเกิดในนักกีฬาประเภทเดี่ยวมากกว่านักกีฬาประเภททีม และมีปัจจัยสี่คือเรื่องการบาดเจ็บ ความล้มเหลวในการแข่งขัน การถูกกระทบกระเทือน ความเจ็บปวด และการเลิกเล่นกีฬา ทั้งยังพบว่าในนักกีฬาที่เลิกเล่นกีฬาไปแล้ว ผู้ที่มีกิจกรรมทางกายน้อยกว่ามีแนวโน้มซึมเศร้าได้มากกว่า นอกจากนี้การฝึกหนักเกินไป หรือการฝึกต่อเนื่องโดยไม่ได้พักฟื้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง อาการของโรคซึมเศร้า (อันได้แก่ ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ (นอนไม่หลับ/นอนมากเกินไป) อาการเหนื่อยล้าหมดแรง อารมณ์ทางลบ ความรู้สึกขาดแรงบันดาลใจ ความสามารถในการโฟกัสต่ำ พฤติกรรมการกินอาหารเปลี่ยน) อาจทับซ้อนกับอาการที่เกิดจากการฝึกซ้อมอย่างหักโหม หรือการฝึกซ้อมต่อเนื่องโดยไม่ได้พัก ซึ่งหากเป็นเพราะสาเหตุนี้ การหยุดซ้อมจะทำให้อาการดีขึ้น แต่หากมีอาการของโรคซึมเศร้า การหยุดออกกำลังกายอาจให้ผลที่แย่ลง อาการซึมเศร้าและโรคซึมเศร้าไม่ได้มีผลแค่ทำให้ประสิทธิภาพในการเล่นกีฬาลดลง แต่รุกล้ำไปถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตส่วนตัว ที่อาจทำให้อยากเลิกเล่นกีฬาไปเลย หรือพัฒนาไปถึงการคิดและลงมือฆ่าตัวตายได้ สิ่งที่น่ากังวลคือ นักกีฬาเองอาจไม่รู้ตัวว่าตนเองมีอาการซึมเศร้า หรือหากรู้ตัวก็อาจปกปิดจากผู้อื่น ทำให้ไม่ได้รับการเยียวยาหรือการช่วยเหลืออย่างที่ควรได้

 

โรคที่เกี่ยวกับความวิตกกังวล

การลงสนามแต่ละครั้งอาจส่งผลให้นักกีฬาเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลงานตัวเองในการแข่งขัน (Competition Performance Anxiety) ไหนจะผลการแข่งขัน ที่ไม่ได้มีเกณฑ์ว่าหากเราทำได้เต็มศักยภาพแล้วจะทำได้ดีกว่าคู่แข่งหรือเป็นผู้ชนะเสมอไป ซึ่งโดยธรรมชาติทางอาชีพก็ทำให้ต้องลงสนาม (หรือขึ้นเวที) บ่อยๆ ฉะนั้นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญต้องเข้าใจคือการแยกระหว่างการมีอาการดังกล่าวกับการเป็นโรค ซึ่งมีแบบแผนเฉพาะตัวของโรคนั้นๆ ผลจากการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) งานวิจัยที่เกี่ยวกับอาการวิตกกังวลในนักกีฬา ชี้ว่าปัจจัยทั่วไปที่มีผล ได้แก่ การมีเพศหญิง อายุน้อย และการเพิ่งประสบเหตุการณ์ร้ายแรงมา ส่วนปัจจัยเฉพาะ ได้แก่ อาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและกระดูก กับความไม่พึงพอใจในเส้นทางอาชีพนักกีฬา ความวิตกกังวลส่งผลต่อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกระบวนการทางการรู้คิดที่ควบคุมพฤติกรรมและการทำกิจกรรม ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการแข่งขันของนักกีฬา

 

ความผิดปกติที่เกี่ยวกับการกิน

นอกจากเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตที่อาจเกิดขึ้นเหมือนคนอื่น (เช่น ความไม่มั่นใจในตัวเอง ความวิตกกังวล ฯลฯ) ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่อาจทำให้นักกีฬาเผชิญกับความผิดปกติที่เกี่ยวกับการกิน คือความกดดันจากกีฬาที่มีต่อร่างกายและน้ำหนัก ได้แก่ การเล่นกีฬาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นกีฬาที่แบ่งรุ่นโดยน้ำหนักอย่างศิลปะการต่อสู้ กีฬาที่ตัดสินด้วยความสวยงามของร่างกายอย่างยิมนาสติก กีฬาที่การมีน้ำหนักน้อยคือความได้เปรียบอย่างกาารวิ่งระยะไกล การชั่งน้ำหนักก่อนการแข่งขัน การฝึกซ้อมในช่วงก่อนที่ร่างกายจะปรับรูปร่างให้เข้ากับกีฬาเต็มที่ ความกดดันเรื่องการทำผลงาน เป็นต้น ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับการกินนี้ก็ได้มีการศึกษาภายใต้ร่มของกลุ่มอาการพลังงานพร่องในนักกีฬาหรือเรดส์ (Relative Energy Deficiency in Sport: RED-S) ที่ประกอบด้วย การมีพลังงานต่ำจากความผิดปกติทางการกิน ความผิดปกติของประจำเดือนและกระดูกพรุน ซึ่งมักเกิดในนักกีฬาที่การมีรูปร่างบางและลีนเป็นเรื่องสำคัญ และการมีอาการเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาทางร่างกายและใจอื่นๆ ต่อได้อีก ในแถลงการณ์ของ International Olympic Committee (IOC) กล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโค้ชกับนักกีฬาจะมีส่วนช่วยทั้งป้องกันและรักษาความปกติปกติเหล่านี้ ทั้งด้วยการพูดคุยอย่างเปิดเผยและความเข้าใจที่มีต่อนักกีฬา นอกจากนี้การทำงานร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องโภชนาการ หมอ และนักจิตวิทยาจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

Post-traumatic stress disorder (PTSD) และอาการที่เกี่ยวกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอื่นๆ

มีนักกีฬาอาชีพไม่น้อยที่เผชิญกับอาการของโรคทางสุขภาพจิตอันมีผลจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจรุนแรง (Trauma) มีการศึกษาที่พบอัตราการเจอโรคนี้ในกลุ่มนักกีฬาอาชีพมากกว่าประชากรทั่วไป โดยมีเหตุการณ์ที่พบบ่อยว่าเป็นต้นเหตุ ได้แก่ การบาดเจ็บรุนแรงทางกายโดยตรง การเห็นเหตุการณ์ที่ผู้อื่นในสนามได้รับบาดเจ็บ ไปจนถึงการข่มเหงรังแกกันในทีมกีฬา และแม้จะมีนักกีฬาที่ประสบโรคนี้กันเยอะ แต่หลายคนก็เลือกที่จะปิดบังอาการ เพราะไม่อยากให้คนอื่นทราบว่าตัวเองมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ทั้งยังพบว่าโรคนี้สัมพันธ์กับระดับความเป็น Perfectionist ของบุคคล โดยมีการหมกมุ่นครุ่นคิดเกี่ยวกับความผิดพลาดเป็นตัวส่งผ่าน ซึ่งภาวะของโรคนี้ไม่เพียงขัดขวางการใช้ชีวิตประจำวันของบุคคล แต่ยังส่งผลเสียต่อความสามารถในการเล่นกีฬา และกระทั่งการหายจากอาการบาดเจ็บด้วย

 

 

เพราะ ‘ฮีโร่’ ก็มีจิตใจที่ต้องดูแล

อาจฟังดูขัดกับภาพลักษณ์ความแข็งแกร่งทางร่างกายที่นักกีฬาอาชีพเหล่านี้มีมากกว่าคนส่วนใหญ่ หนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นมากจึงเป็นการไม่ได้รับความช่วยเหลือเมื่อเวลาพวกเขามีความไม่สบายทางใจ มีการศึกษาพบว่า อุปสรรคใหญ่ๆ ที่ขัดขวางการรับความช่วยเหลือทางสุขภาพจิตของนักกีฬาอาชีพ ได้แก่ การเห็นปัญหาสุขภาพจิตเป็นตราบาป (Stigma) การไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิต ประสบการณ์ทางลบที่เกี่ยวกับการพยายามมองหาความช่วยเหลือทางสุขภาพจิต ตารางงานที่ยุ่ง และภาพลักษณ์ความเป็นชายตามขนบสังคมที่เข้มข้น (Hypermasculinity) 

 

เมื่อสุขภาพกายกับใจเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ขาด การพร่องด้านใดด้านหนึ่งก็ย่อมส่งผลต่ออีกด้าน การเล่นกีฬาเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ร่างกายมาก หากใจไม่นิ่ง ก็อาจทำให้เกิดการผิดพลาด และเกิดอาการบาดเจ็บรุนแรงได้ ผลที่เกิดขึ้นต่อมา หลายคนอาจเดาได้ ก็คือการบาดเจ็บรุนแรงทางกายส่งผลกลับมายังจิตใจอีกนั่นเอง มีข้อค้นพบว่านักกีฬาจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นเมื่อได้รับบาดเจ็บ ต้องเข้ารับการผ่าตัด ทำผลงานทางกีฬาได้แย่ลง ยิ่งโดยเฉพาะกับคนที่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไป แต่กีฬาก็ไม่ได้มีผลแต่เชิงลดทอนทำลายเท่านั้น เพราะในขณะเดียวกันการได้เล่นกีฬาก็เป็นหนึ่งในปัจจัยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตได้ ด้วยคุณสมบัติการต้านเศร้า เสริมความแจ่มใสจากกิจกรรมกีฬานั่นเอง

 

จะเห็นได้ว่าในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในครั้งนี้ IOC นอกจากจะทำการบ้านมาในรูปแบบแถลงการณ์ที่เล่าให้ฟังก่อนหน้า ในส่วนสื่อสารนักกีฬาอย่าง Athlete 365 ยังมี Mentally Fit (2) ที่จัดสรรนักจิตวิทยา จิตแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตที่รองรับกว่า 70 ภาษา พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงในหมู่บ้านนักกีฬา พร้อมทั้งเผยแพร่สื่อเกี่ยวกับการดูแลใจ ที่รวมถึงบทสัมภาษณ์นักกีฬาที่เคยมีปัญหา ไปจนถึงการร่วมมือกับผู้ให้บริการแอป Headspace เพื่อดูแลการนอนหลับและการทำสมาธิ ไล่ไปจนถึงมีแบบประเมินใจเบื้องต้นให้เช็กตัวเองและคนรอบข้างกันด้วย

 

เราคิดว่าความเข้าใจระหว่างกันเป็นสิ่งสำคัญในบริบทนี้ ไม่ว่าจากคนภายนอกที่เข้าใจว่านักกีฬาก็อาจมีความเปราะบางทางความรู้สึกอย่างคนอื่น ผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตที่เข้าใจว่าปัญหาในนักกีฬาอาชีพมีความซับซ้อน ความเฉพาะเจาะจง ด้วยเงื่อนไขและปัจจัยที่เกี่ยวกับการกีฬา โค้ชกีฬาที่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่การสร้างศักยภาพทางกาย รวมไปถึงตัวนักกีฬาเอง ซึ่งเรามองว่าการออกมาพูดถึงเรื่องนี้ ยอมรับ และตัดสินใจเพื่อจัดการเรื่องสุขภาพจิตตัวเองเป็นหนึ่งก้าวที่น่าสนใจ 

 

ต่างจากเมื่อก่อนที่นักกีฬาในระดับแถวหน้าของวงการอาจรู้สึกว่าทางออกเดียวคือการโฟกัสกับกีฬาให้มากขึ้น ทำต่อไป ฝึกต่อไป ไม่เหลียวมองสิ่งที่เป็นความอ่อนแอ แต่ในปีนี้นักกีฬาเบอร์ต้นของโลกอย่าง Naomi Osaka ออกมาเสนอให้นักกีฬาควรมีวัน ‘ลาป่วย’ สำหรับจัดการตัวเอง (3) ที่นอกจากจะพักจากการซ้อม ก็รวมถึงการพักจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อ 

 

อีกหนึ่งตัวอย่างนักกีฬาที่ออกมาสนับสนุนการดูแลสุขภาพใจคือ Adam Peaty นักว่ายน้ำจากสหราชอาณาจักร ผู้คว้าสองเหรียญทองจากโอลิมปิกครั้งนี้ เขาประกาศว่าจะหยุดพักการว่ายน้ำ 1 เดือนหลังจบการแข่งขันนี้ เพื่อดูแลจิตใจและร่างกาย แม้ว่าเขาจะต้องพลาดการแข่งขันสำคัญไปหนึ่งรายการก็ตาม “(การแข่งกีฬาอาชีพ) ไม่เหมือนการทำงานทั่วไป มันมีแรงกดดันมหาศาล ผมตัดสินใจที่จะหยุดพักเพราะว่าผมผ่านการฝึกอย่างหนักมากๆ มาอย่างยาวนานตลอดเวลาที่จำได้ ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ผมได้หยุดพักเฉลี่ยปีละแค่สองสัปดาห์เท่านั้น”

 

ดังนั้นนอกจากการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์สมรรถนะทางร่างกายและศักยภาพทางกีฬาแล้ว การมีส่วนร่วมของนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตใจก็เข้ามาเสริมให้เกิดความสมดุล และสามารถปลดปล่อยศักยภาพของนักกีฬาให้ก้าวหน้าควบคู่ไปทั้งสองมิติ ยิ่งทำให้อนาคตของวงการกีฬามีความสนุกมากขึ้นทั้งในสนามและชีวิตจริง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising