×

นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์ขนาดคล้ายโลกที่อยู่ใกล้สุด จากข้อมูลใหม่โดยกล้องฮับเบิล

18.11.2023
  • LOADING...

นักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเพื่อศึกษาขนาดของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ LTT 1445Ac อย่างแม่นยำ ก่อนพบว่าเป็นดาวเคราะห์ขนาดคล้ายโลกที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะที่สุด

 

ดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวตรวจพบครั้งแรกในปี 2022 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS ซึ่งมีภารกิจในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบผ่านกระบวนการเคลื่อนตัดผ่านหน้า หรือการ Transit ที่นักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์เพื่อตรวจดูแสงของดาวฤกษ์ที่หรี่ลงไป เนื่องจากถูกวัตถุที่อาจเป็นดาวเคราะห์มาบดบังระหว่างโคจรผ่านหน้า

 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวจำต้องอาศัยการเรียงตัวของดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ และโลกในองศาที่เหมาะสม โดยในกรณีของดาว LTT 1445Ac ได้เคลื่อนตัดผ่านหน้าดาวฤกษ์ไปเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ทำให้กล้อง TESS ไม่สามารถตรวจวัดขนาดของดาวเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ

 

นั่นจึงทำให้นักดาราศาสตร์ได้เลือกใช้กล้องฮับเบิลเพื่อศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งข้อมูลจากกล้องฮับเบิลพบว่าดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้เคลื่อนตัดผ่านหน้าดาวฤกษ์อย่างสมบูรณ์ และสามารถวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ 1.07 เท่าของโลก หมายความว่าดาว LTT 1445Ac เป็นดาวเคราะห์หินที่มีแรงโน้มถ่วงใกล้เคียงกับโลก

 

อย่างไรก็ตาม ดาวเคราะห์ดวงนี้มีอุณหภูมิบนพื้นผิวสูงกว่า 260 องศาเซลเซียส และไม่น่ามีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ โดยมันโคจรในระบบดาวแคระแดง 3 ดวงที่อยู่ห่างจากโลกไปราว 22 ปีแสง ซึ่งดาวฤกษ์ LTT 1445A เคยมีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบอีก 2 ดวงมาก่อนหน้านี้

 

เอมิลี พาส นักดาราศาสตร์แห่งศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ Harvard-Smithsonian และหัวหน้าทีมวิจัยในการค้นพบนี้ ระบุว่า “การวัดค่าครั้งนี้มีความสำคัญมาก ไม่ใช่แค่เพราะมันบอกว่านี่อาจเป็นดาวเคราะห์หินที่อยู่ใกล้โลก แต่เรากำลังรอดูการสำรวจเพิ่มเติมที่ช่วยให้เข้าใจถึงความหลากหลายของดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นได้ดีกว่าเดิม”

 

ด้วยความใกล้ของดาว LTT 1445Ac และการมีคุณสมบัติเป็นดาวเคราะห์หินที่อาจมีชั้นบรรยากาศอยู่ ทำให้ดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวได้รับความสนใจในการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อช่วยเพิ่มความเข้าใจที่นักดาราศาสตร์มีต่อดาวเคราะห์ต่างๆ ในจักรวาลแห่งนี้ที่มีการยืนยันการค้นพบแล้วไม่น้อยกว่า 5,539 ดวง กับอีกมากกว่า 10,000 ดวงที่รอการสำรวจเพื่อยืนยันข้อมูลในอนาคตข้างหน้า

 

ภาพ: NASA, ESA, L. Hustak (STScI)

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising