×

เว้นช่วง 4 เดือนนานเกินไปหรือไม่ ทำไมต้องนัดฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 อีก 16 สัปดาห์

08.06.2021
  • LOADING...
วัคซีน AstraZeneca

 

วัคซีน AstraZeneca

 

วัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนที่ต้องฉีด 2 เข็มเหมือนกับวัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่ แต่จะสังเกตว่าวัคซีนนี้มีการเว้นระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 นานกว่าวัคซีนอื่น โดยการเว้นช่วงที่ได้รับการขึ้นทะเบียนการใช้ฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลกหรือแต่ละประเทศที่อนุมัติการใช้วัคซีนนี้คือ 4-12 สัปดาห์ (วัคซีน Sinovac เว้นระยะห่าง 2-4 สัปดาห์)

 

สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมโรค (กุมภาพันธ์ 2564) เคยแนะนำให้ฉีดเข็มที่ 2 ภายหลังจากเข็มแรก 10-12 สัปดาห์ แต่ล่าสุดแนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ของกรมควบคุมโรค (มิถุนายน 2564) ระบุว่า “พิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์ ถ้าจำเป็น” จึงเป็นที่มาว่าทำไมผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca ในวันดีเดย์ 7 มิถุนายน ถึงมีนัดรับวัคซีนอีกครั้งปลายเดือนกันยายน 

 

และบางประเทศก็มีคำแนะนำว่าสามารถเลื่อนการฉีดออกไปได้ถึง 16 สัปดาห์เหมือนกัน เช่น แคนาดา เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก แต่กระทรวงสาธารณสุขของรัฐออนแทรีโอยังให้กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้อาศัยในบ้านพักคนชรา ได้รับวัคซีนตามกำหนดเดิม 4-12 สัปดาห์อยู่ รวมถึงอินเดียที่กำหนดให้ฉีดวัคซีน Covishield เข็มที่ 2 ที่ 12-16 สัปดาห์

 

#ประสิทธิภาพของวัคซีนเพิ่มขึ้น 

 

ข้อมูลที่สนับสนุนการเลื่อนฉีดนี้คือการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในอังกฤษ บราซิล และแอฟริกาใต้ ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า เมื่อเว้นช่วงระหว่างเข็ม 12 สัปดาห์ขึ้นไป จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าการเว้นช่วง 6 สัปดาห์ลงมา (81.5% กับ 55.1%) และมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันมากกว่า 2 เท่า นอกจากนี้ วัคซีน AstraZeneca เพียงเข็มเดียวมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการในช่วง 90 วันแรกได้ 76.0% 

 

คณะผู้วิจัยจึงแปลผลการศึกษาว่า “การเว้นช่วง 3 เดือนอาจมีประโยชน์มากกว่าการเว้นช่วงที่สั้น เพื่อป้องกันประชากรจำนวนมากให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในระยะที่วัคซีนขาดแคลน และจะป้องกันได้เพิ่มขึ้นหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2” แต่สังเกตจากกราฟในบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ เมื่อเว้นช่วงห่างจาก 12 สัปดาห์ออกไป ประสิทธิภาพของวัคซีนจะเริ่มลดลง ถึงแม้จะไม่มาก

 

#แต่อาจป้องกันสายพันธุ์เดลตาไม่ได้ 

 

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) เผยแพร่งานวิจัยประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการของวัคซีน AstraZeneca และ Pfizer ต่อสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) ว่า วัคซีนเข็มเดียวมีประสิทธิผล 33% (วิเคราะห์รวมทั้ง 2 ยี่ห้อ) แต่ถ้าฉีดครบ 2 เข็มจะวัคซีน AstraZeneca จะมีประสิทธิผลเพิ่มเป็น 60% ส่วนวัคซีน Pfizer จะมีประสิทธิภาพ 88%

 

เมื่อพบการระบาดของสายพันธุ์เดลตามากขึ้น อังกฤษจึงปรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีน AstraZeneca โดยเลื่อนการฉีดเข็มที่ 2 ขึ้นมาที่ 8-9 สัปดาห์ในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ส่วนกลุ่มอื่นยังเป็น 11-12 สัปดาห์เหมือนเดิม ทั้งนี้ สายพันธุ์เดลต้าเป็นสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอินเดีย มีความสามารถในการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น และมีความรุนแรงสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟา (พบครั้งแรกในอังกฤษ)

 

#เว้นช่วงนานเพื่อปูพรมเข็มแรก

 

ตัดกลับมาที่ในประเทศไทย การตัดสินใจเว้นช่วงการฉีดวัคซีนระหว่างเข็มจาก 10-12 สัปดาห์เป็น 16 สัปดาห์ น่าจะมีเหตุผล 2 ประการ คือ ประการแรก การฉีดวัคซีนเข็มแรกแบบปูพรมให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 บางส่วนต่อโควิด-19 ด้วยข้อมูลสนับสนุนข้างต้น (แต่ระยะเวลาที่คณะผู้วิจัยเห็นว่าเหมาะสมคือ 3 เดือน) และสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา 

 

ประการที่ 2 คือความไม่แน่นอนของการได้รับวัคซีน เพราะแผนการจัดหาวัคซีนเดิม กระทรวงสาธารณสุขควรได้รับวัคซีน AstraZeneca 6 ล้านโดส แต่ขณะนี้ได้รับมอบมาจำนวน 1.8 ล้านโดส (+ล็อตพิเศษตามการเปิดเผยของชมรมแพทย์ชนบท) และจะต้องได้รับอีก 10 ล้านโดสต่อเดือนในเดือนถัดๆ ไปจนถึงปลายปี จนทำให้ต้องเว้นช่วงการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 นานขึ้น รอการจัดหาวัคซีน

 

โดยสรุป การเว้นช่วงห่าง 4 เดือนจะถือว่าไม่นานหากควบคุมการระบาดของสายพันธุ์เดลตาได้ แต่ด้วยคุณสมบัติและแนวโน้มการระบาดของสายพันธุ์นี้ในอังกฤษ การเว้นช่วงห่างขนาดนี้ก็อาจนานเกินไป โดยล่าสุดข้อมูลการเฝ้าระวังไวรัสกลายพันธุ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบสายพันธุ์เดลตาเป็นสัดส่วน 8% ในเดือนพฤษภาคม และ 3% ในเดือนมิถุนายน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มิถุนายน)

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X