×

วัคซีน AstraZeneca กับภาวะลิ่มเลือดอุดตันน่ากังวลแค่ไหน ทำไมนายกฯ ไทยต้องเลื่อนฉีดวัคซีน

12.03.2021
  • LOADING...
วัคซีน AstraZeneca กับภาวะลิ่มเลือดอุดตันน่ากังวลแค่ไหน ทำไมนายกฯ ไทยต้องเลื่อนฉีดวัคซีน

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • หนึ่งคืนก่อนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะจะเข้ารับการฉีดวัคซีน AstraZeneca กลับมีรายงานข่าวว่าออสเตรียและเดนมาร์กระงับการฉีดวัคซีนยี่ห้อเดียวกัน หลังมีรายงานภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน ทำให้ต้องชะลอการฉีดวัคซีนในไทยไปก่อน
  • ก่อนจะสรุปว่าวัคซีนของ AstraZeneca เป็นสาเหตุของภาวะลิ่มเลือดอุดตันจะต้องมีการสอบสวนโรคก่อนว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เพราะผู้ป่วยอาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ทำให้เกิดโรคอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อได้รับวัคซีนจึงเข้าสู่ระบบเฝ้าระวัง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์และกลายเป็นข่าวในที่สุด
  • การเลื่อนฉีดวัคซีนในวันนี้อาจช่วยลดกระแสสังคมที่มีต่อเรื่อง ‘การแทงม้าตัวเดียว’ เพราะถ้ายอมรับการฉีดวัคซีนก็จะแสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่มีตัวเลือกอื่น ถึงแม้จะมีข่าวสร้างความกังวลใจจากต่างประเทศก็ตามที

หนึ่งคืนก่อนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำคณะรัฐมนตรีบางส่วนเข้ารับการฉีดวัคซีน AstraZeneca ที่สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี ในวันที่ 12 มีนาคม 2564 กลับมีรายงานข่าวว่าออสเตรียและเดนมาร์กระงับการฉีดวัคซีน AstraZeneca ชั่วคราว ภายหลังจากมีรายงานภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเสียชีวิตหลังจากได้รับวัคซีน 

 

จนกระทั่งเช้าวันถัดมา (12 มีนาคม) ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญได้แถลงข่าวให้ชะลอการฉีดวัคซีน AstraZeneca ไปก่อนจนกว่าจะทราบผลการสอบสวนของคณะกรรมการยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน นายกรัฐมนตรีจึงต้องเลื่อนการรับวัคซีนออกไปด้วย

 

เกิดอะไรขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน

รายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรีย ผู้ป่วยรายหนึ่งได้รับการวินิจฉัยเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลายแห่ง (Multiple thrombosis) จากนั้นจึงเสียชีวิตหลังจากได้รับวัคซีน 10 วัน และผู้ป่วยอีกหนึ่งรายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary embolism) แต่รายหลังอาการดีขึ้นแล้ว ส่วนเดนมาร์กก็มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้หลังฉีดวัคซีน 1 ราย

 

ทำให้หลายประเทศในยุโรป ได้แก่ 

 

  • เดนมาร์ก นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ ระงับการฉีดวัคซีน AstraZeneca ทั้งหมด
  • ออสเตรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และลักเซมเบิร์ก ระงับการฉีดวัคซีนรุ่น (Batch) ที่เกี่ยวข้องคือ ABV5300
  • อิตาลีและโรมาเนียระงับการฉีดวัคซีนเฉพาะรุ่น แต่เป็นคนละรุ่นกับในออสเตรีย
  • ในขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนียังคงเดินหน้าฉีดวัคซีน AstraZeneca ต่อ

 

โดยจนถึงวันที่ 10 มีนาคม 2564 EMA ได้รับรายงานภาวะลิ่มเลือดอุดตันทั้งหมด 30 เหตุการณ์ จากจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca ที่ถูกฉีดในยุโรปกว่า 5 ล้านคน คณะกรรมการของ EMA กำลังสอบสวนเหตุการณ์ทั้งหมดที่ได้รับรายงานว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ แต่ข้อมูลในเบื้องต้นพบว่าอัตราการเกิดโรคนี้ในผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ได้สูงกว่าประชาชนทั่วไป

 

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันคืออะไร

‘ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน’ (Thromboembolic events) เป็นภาวะที่เลือดเกิดการจับตัวเป็นลิ่ม ทำให้เกิดการอุดตัน ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับเลือด การไหลเวียนของเลือด และหลอดเลือด คำนี้เป็นชื่อเรียกโดยรวมทั้งในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ แต่เนื้อหาข่าวมักพูดถึงการอุดตันของหลอดเลือดดำ เช่น หลอดเลือดดำที่ขา หลอดเลือดดำที่ปอด

 

สำหรับ ‘ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน’ (Venous thrombosis) ทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ 10 ล้านคนต่อปี (ในสหรัฐฯ พบผู้ป่วยปีละ 1-2 รายต่อประชากร 1,000 คน) ถือเป็นโรคหลอดเลือดอันดับที่ 3 รองจากโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โดยผู้ป่วย 10-30% จะเสียชีวิตภายใน 1 เดือนหลังจากได้รับการวินิจฉัย ส่วนการอุดตันของหลอดเลือดดำที่ปอด 25% จะเสียชีวิตทันที

 

ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ ได้แก่ อายุ (ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงมากกว่า) ภาวะอ้วน การรับประทานยาคุมกำเนิด การจำกัดการเคลื่อนไหว เช่น การนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน และการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ปัจจัยด้านเชื้อชาติ (ชาวยุโรปและแอฟริกามีความเสี่ยงมากกว่า) และพันธุกรรมบางอย่างก็มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้

 

ดังนั้นก่อนจะสรุปว่าวัคซีนของ AstraZeneca เป็นสาเหตุของภาวะลิ่มเลือดอุดตันจะต้องมีการสอบสวนโรคก่อนว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เพราะผู้ป่วยอาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ทำให้เกิดโรคอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อได้รับวัคซีนจึงเข้าสู่ระบบเฝ้าระวัง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์และกลายเป็นข่าวในที่สุด

 

ทำไมจึงต้องเลื่อนฉีดวัคซีนในไทย

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 กรมควบคุมโรคเพิ่งรับมอบวัคซีน AstraZeneca จากทางบริษัทจำนวน 117,600 โดส ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตจากโรงงานในเกาหลีใต้ ส่งให้เวียดนามและไทยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ดังนั้นจึงเป็นคนละรุ่นกับที่กำลังเป็นข่าวในยุโรปในขณะนี้ แต่กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าควรเลื่อนการฉีดวัคซีนของบริษัทนี้ออกไปก่อน

 

 

“วัคซีนต้องปลอดภัยที่สุดสำหรับประชาชน” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข นำผู้บริหารกระทรวงและผู้เชี่ยวชาญแถลงข่าวเมื่อเช้าวันที่ 12 มีนาคม 2564 โดยกล่าวว่าถึงแม้วัคซีน AstraZeneca จะมีประสิทธิภาพที่ดี แต่เมื่อมีการชะลอการฉีดวัคซีน เราก็ควรรอผลการสืบค้นว่าเหตุที่เกิดในยุโรปเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนหรือไม่ 

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งได้เข้าร่วมการแถลงข่าวด้วย อธิบายเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า “สิ่งที่เราแลกมากับการเร่งฉีดคืออะไร” โดยสรุปคือเมื่อพิจารณาข้อบ่งชี้ที่จะต้องรีบฉีด ซึ่งขณะนี้เราไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉินและยังสวมหน้ากากอยู่ เปรียบเทียบกับการชะลอ 1-2 สัปดาห์เพื่อรอผลการสืบค้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องรีบฉีดวัคซีน

 

ส่วนกรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากได้รับวัคซีน ทั้ง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีความเห็นคล้ายกันว่ายิ่งมีการฉีดวัคซีนในปริมาณมากก็ยิ่งมีรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนมาก แต่บางอาการอาจไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 

 

ทั้งนี้ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันไม่เคยเป็นผลข้างเคียงจากวัคซีนที่เคยใช้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือวัคซีนที่ฉีดในเด็ก ดังนั้นจึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่จะต้องมีการสอบสวนก่อนจึงจะฟันธง โดยการสอบสวนที่ผ่านมาก็ยิ่งทำให้มั่นใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ส่วน ‘การชะลอ’ ก็เพื่อรอที่จะให้ในภายหลัง ไม่ใช่การยุติการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด

 

นายกรัฐมนตรีกับวัคซีน AstraZeneca 

ในสัปดาห์หน้า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่มีอายุเกิน 60 ปีน่าจะยังได้ฉีดวัคซีน AstraZeneca เพราะผู้เชี่ยวชาญของไทยหลายคนเห็นว่าภาวะลิ่มเลือดอุดตันไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน และผลการสอบสวนในยุโรปก็น่าจะออกมาในทำนองเดียวกัน 

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 EMA ได้แถลงยืนยันว่า “ยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งไม่มีอยู่ในรายการผลข้างเคียงของวัคซีนนี้” และคณะกรรมการด้านความปลอดภัยของ EMA เห็นว่าประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีน AstraZeneca ต่อในระหว่างที่รอผลการสอบสวน

 

ส่วนการเลื่อนฉีดวัคซีนในวันนี้อาจช่วยลดกระแสสังคมที่มีต่อเรื่อง ‘การแทงม้าตัวเดียว’ เพราะถ้ายอมรับการฉีดวัคซีนก็จะแสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่มีตัวเลือกอื่น ถึงแม้จะมีข่าวสร้างความกังวลใจจากต่างประเทศก็ตามที

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising