×

ผลการศึกษาที่สกอตแลนด์ชี้ วัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca เพิ่มความเสี่ยง ‘เล็กน้อย’ ของภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน ผู้เชี่ยวชาญระบุ ถ้าติดโควิด-19 ยังเสี่ยงภาวะนี้มากกว่า

11.06.2021
  • LOADING...
AstraZeneca

ผลการศึกษาล่าสุดจากการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ของประชากรราว 5.4 ล้านคนในสกอตแลนด์ของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ที่นำโดย อาซิส ชีค ศาสตราจารย์ด้านการวิจัยและพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่ผ่านการพิจารณา (Peer-Review) และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine แล้ว ระบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของ Oxford-AstraZeneca มีความเสี่ยงต่อภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน (Immune thrombocytopenic purpura: ITP) เพิ่มขึ้น ‘เล็กน้อย’

 

โดยความเสี่ยงนี้คิดเป็นราว 1.13 รายต่อการให้วัคซีน 100,000 โดสในระยะ 0-27 วันหลังฉีดวัคซีน เพิ่มเติมจากอุบัติการณ์ปกติที่พบได้อยู่แล้วในสหราชอาณาจักรก่อนจะมีวัคซีนใช้ที่ราว 6-9 รายต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งผู้ที่เป็นภาวะนี้อาจมีเพียงรอยช้ำที่ผิวหนัง แต่ในบางกรณีก็อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกได้ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้พบครั้งแรกในระยะ 7-13 วันหลังรับวัคซีน และจะชัดเจนที่สุดในช่วง 21-17 วันหลังรับวัคซีน และผู้ที่พบภาวะนี้หลังฉีดวัคซีนมักเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน หรือโรคไตเรื้อรัง

 

อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยระบุว่า ITP เป็นภาวะที่รักษาได้ และจากประชากรที่ศึกษาเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca กว่า 1.7 ล้านคน ยังไม่มีผู้ใดที่เสียชีวิตแล้วพบว่าเกี่ยวข้องกับภาวะนี้เลย ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนของ Pfizer-BioNTech ไม่พบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังให้ข้อมูลว่าความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้ยังคล้ายกับในกรณีการฉีดวัคซีนอื่น เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี, วัคซีนป้องกันหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ตลอดจนเน้นย้ำว่าประโยชน์ของวัคซีนยังคงมีมากกว่าความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยอยู่มาก และโควิด-19 เองก็มีโอกาสทำให้เกิดภาวะ ITP ได้มากกว่าวัคซีนเสียอีก

 

ผลการศึกษาดังกล่าวยังระบุว่า พบความเชื่อมโยงที่ยังไม่ชัดเจนนักระหว่างวัคซีน Oxford-AstraZeneca กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดง ส่วนภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตันหรือ CVST ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ยาก และมีการพบผู้ที่เกิดภาวะนี้ในยุโรปก่อนหน้านี้ จนนำไปสู่การระงับฉีดชั่วคราวและจำกัดการใช้วัคซีน ทว่า ในการศึกษานี้ผู้วิจัยบอกว่า เนื่องจากกรณีการเกิด CVST นั้นพบได้ยาก จึงไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปได้ในการศึกษานี้ว่าวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca มีความเชื่อมโยงกับ CVST

 

ศาสตราจารย์ชีคระบุว่า ในระดับประชากร เห็นได้ว่าวัคซีนมีความเสี่ยงต่ำ และก็มีทางรักษาสำหรับผู้ที่ป่วยเป็น ITP “นี่เป็นข้อมูลที่ช่วยสร้างความมั่นใจ และเราขอสนับสนุนอย่างยิ่งให้ผู้คนไปฉีดวัคซีนเมื่อพวกเขาได้รับคำเชิญ”

 

ส่วน สตีเฟน อีวานส์ ศาสตราจารย์ด้านเภสัชระบาดวิทยาจาก London School of Hygiene & Tropical Medicine ระบุข้อมูลว่า ในผู้ป่วยโควิด-19 มีอัตราส่วนผู้ที่เกิดภาวะ ITP ถึง 340 คน จากผู้ที่ติดโควิด-19 จำนวน 100,000 คน ดังนั้น ประโยชน์ของวัคซีนจึงมีมากกว่าความเสี่ยงอยู่มาก “แม้ว่าวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca จะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะ ITP แต่ประโยชน์ของวัคซีนยังมีมากกว่าความเสี่ยงอยู่ และในผู้ป่วยส่วนใหญ่แล้ว ITP ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาร้ายแรง แต่ก็ไม่ใช่สำหรับทุกคน” 

 

และ อดัม ฟินน์ ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสตอล และหนึ่งในคณะกรรมการร่วมด้านการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกัน (JCVI) ของสหราชอาณาจักร ระบุว่า ภาวะ ITP มักจะถูกวินิจฉัยเมื่อไม่พบสาเหตุอื่นของการมีเกล็ดเลือดต่ำ และแม้ว่าภาวะนี้อาจทำให้เกิดเลือดออกได้แต่ก็มีวิธีรักษา และในผู้ป่วยจำนวนมากก็มีอาการในระดับอ่อนรวมถึงอาจหายได้เอง

 

ภาพ: Vincenzo Izzo / LightRocket via Getty Images

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising