×

สำรวจตัวเอง เรารู้ทันภัยไซเบอร์มากน้อยแค่ไหน?

โดย THE STANDARD TEAM
14.01.2025
  • LOADING...
ภัยไซเบอร์

เชื่อว่าตอนนี้ทุกคนต่างต้องเคยเผชิญกับอาชญากรรมทางไซเบอร์กันไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการถูกมิจฉาชีพโทรศัพท์มาหลอกลวง อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานธนาคาร หรือคนส่งของ แล้วหลอกโอนเงิน ไปจนถึงการเข้าเว็บไซต์ต่างๆ แล้วเจอลิงก์แปลกปลอมที่กดเข้าไปอาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเรารั่วไหลออกไปสู่ภายนอก

 

ปัญหานี้สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นเรื่องเรื้อรังของสังคมไทย ผู้คนจำนวนมากถูกหลอกให้สูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล สูญเสียทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งสูญเสียชีวิต เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาหรือหาหนทางไปต่อได้อย่างไร

 

สิ่งจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องมีในเวลานี้คือ ‘การสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์’ โดยดูได้จากการสำรวจตัวเองว่าเรามีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี หรือการเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งภูมิคุ้มกันต่อปัญหาที่ว่านี้แต่ละคนก็มีไม่เท่ากัน

 

ดังนั้นคำถามที่ตามมาคือ หากเราจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์และรู้เท่าทันอาชญากรรมออนไลน์ เราควรเริ่มจากจุดไหน แล้วสิ่งที่เรียกว่า ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้อย่างไรบ้าง

 

ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ปัญหาใหญ่ในสังคมไทย

 

เมื่อพูดถึงภัยไซเบอร์ แต่ละคนอาจตีความหรือนึกถึงภัยคุกคามที่ว่านี้แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น บางคนนึกถึงแก๊งหรือองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่ทำสแกมเมอร์หรือคอลเซ็นเตอร์ ด้วยการปลอมตัวและแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานส่งของ หรือเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์

 

ข้อมูลสถิติจากรายงาน The Global State of Scams Report 2022: How are countries worldwide fighting online scams ระบุว่า เวลานี้ทั่วทุกมุมโลกมีรายงานเกี่ยวกับการถูกหลอกลวงเงินผ่านออนไลน์มากถึง 293 ล้านครั้ง ซึ่งประเทศที่ใช้ระบบการเงินแบบโอนและรับเงินได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง หรือ Real-Time Payments มีแนวโน้มที่จะเกิดภัยการเงินสูงตามไปด้วย 

 

นอกจากนี้ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เกี่ยวกับการแจ้งความภัยจากออนไลน์ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 หรือในระยะเวลากว่า 2 ปี 5 เดือน พบว่า เกิดเหตุมากถึง 612,603 เคสไอดี และมีแนวทางการหลอกลวงหลากหลายถึง 14 รูปแบบ ซึ่งประเภทการหลอกลวงที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดกว่า 25,000 ล้านบาท คือการหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ แต่ความเสียหายในภาพรวมจากการหลอกลวงทุกรูปแบบ มีมูลค่ารวมแตะหลักแสนล้านบาท 

 

ถึงสังคมจะรู้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่และเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่เมื่อมองเข้ามาแบบใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น ตอนนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคนไทยขาดความตระหนักรู้ทางไซเบอร์มากน้อยแค่ไหน เราจึงต้องสำรวจตัวของเราเองด้วยที่อาจไม่เคยรู้ว่าควรจะต้องรู้อะไรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองบ้าง 

 

ยกตัวอย่างเช่น เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าคนไทยครึ่งประเทศตั้งรหัสผ่านสำคัญๆ เป็นเลขวันเกิด หรือการตั้งรหัสเป็นตัวเลขเรียงกันโดยใช้เลข 1, 8 หรือเลข 0 ซ้ำกัน ซึ่งเป็นรหัสที่แฮกเกอร์สามารถคาดเดาได้ง่าย ไหนจะเรื่องง่ายๆ อย่างการไม่เคยล้างแคชและคุกกี้ในเว็บไซต์ ไปจนถึงการขาดความรู้ความเข้าใจเวลาต่อ Wi-Fi ตามที่สาธารณะ แล้วทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครือข่ายที่เราไม่ได้รู้จัก

 

กลายเป็นว่าการกระทำหลายอย่างในชีวิตประจำวันของเราบนโลกออนไลน์อาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวและทรัพย์สินถูกดูดออกไปได้ง่ายๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นชีวิตประจำวันของทุกคน เป็นปัญหาใหญ่ แต่เราควรจะเริ่มต้นรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร

 

สำรวจตัวเอง เรารู้ทันภัยไซเบอร์มากน้อยแค่ไหน?

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถิติตัวเลขจากการสำรวจภัยในประเด็นต่างๆ ทำให้สังคมได้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากไซเบอร์มากยิ่งขึ้น ดังนั้นข้อมูลจึงกลายเป็นสิ่งที่มีพลังมากต่อการรับมือกับเรื่องนี้ หากนำข้อมูลมาต่อยอด วัดระดับทักษะการใช้โซเชียลมีเดียของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย ที่จะทำให้เห็นหนทางที่จะทำให้ภัยคุกคามนี้ลดจำนวนลงได้

 

ตอนนี้ประเทศไทยมีเครื่องมือวัดผลทักษะการใช้งานในโลกไซเบอร์เป็นครั้งแรกในชื่อว่า ‘ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล (Thailand Cyber Wellness Index หรือ TCWI) ริเริ่มโดย AIS อุ่นใจไซเบอร์ ที่ร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยชั้นนำ สร้างกรอบแนวคิดการสำรวจและศึกษาขั้นตอนวิธีการเก็บผลสำรวจ การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และสรุปผลการศึกษาออกมาเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย 

 

ดัชนีนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความรู้เท่าทันเกี่ยวกับภัยไซเบอร์มากน้อยแค่ไหน รวมถึงเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นำไปพัฒนาและปรับใช้ต่อไป 

 

ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลลงพื้นที่สำรวจครอบคลุมถึง 7 ภูมิภาค ครบทั้ง 77 จังหวัด กับผู้คนหลากหลายช่วงวัย หลายอาชีพ หลายภูมิลำเนา รวมแล้วกว่า 50,965 คน โดยให้ร่วมทำแบบประเมินเรื่องดิจิทัล 7 ด้านด้วยกันเพื่อวัดความตระหนักรู้ในด้านต่างๆ ได้แก่ 

 

 

 

การใช้ดิจิทัล ที่จะสำรวจว่าแต่ละคนมีความรู้ความสามารถ และความตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ดิจิทัลบริหารจัดการชีวิตประจำวันของตัวเองอย่างไรบ้าง

 

ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ สำรวจว่าเรามีความรู้ความสามารถด้านการป้องกันภัยบนโลกไซเบอร์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น แล้วเราใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีเพื่อป้องกันและรับมือกับเรื่องนี้ได้มากน้อยแค่ไหน 

 

รู้เท่าทันดิจิทัล สำรวจว่าแต่ละคนสามารถค้นหาข้อมูล เข้าถึงข้อมูล และประเมินข้อมูลเชิงวิพากษ์และสร้างสรรค์เนื้อหาทางดิจิทัลอย่างไรบ้าง 

 

เข้าใจสิทธิทางดิจิทัล โดยการประเมินว่าเรามีความสัมพันธ์ทางออนไลน์กับบุคคลที่ทั้งรู้จักและไม่รู้จักในรูปแบบใดบ้าง 

 

การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ย้อนสำรวจประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าเราเป็นทั้งผู้ได้รับและผู้กระทำเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การต่อว่าข่มเหง คุกคาม หรือรังแกทางไซเบอร์ ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, YouTube, X, LINE หรือ Tiktok บ้างหรือไม่ 

 

การสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล สำรวจการมีส่วนร่วมในสังคมผ่านบริการดิจิทัลทั้งภาครัฐและเอกชน ว่าเราได้ระบุตัวตนและชื่อเสียงทางดิจิทัลอย่างเหมาะสมหรือไม่ 

 

และสุดท้าย การแสดงความสัมพันธ์ทางดิจิทัล ที่จะตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลบนโลกออนไลน์ในแบบภาพรวม 

 

เมื่อประเมินครบทั้ง 7 ด้านแล้วจะได้เป็นดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยที่จะแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สุขภาวะดิจิทัลระดับสูง คือผู้ที่มีความรู้และทักษะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย สร้างสรรค์ รวมถึงรู้เท่าทันการใช้งานและภัยไซเบอร์ และยังสามารถแนะนำให้ครอบครัวหรือคนรอบข้างเกิดทักษะในการใช้งานดิจิทัลได้อีกด้วย 

 

อันดับรองลงมาคือ สุขภาวะดิจิทัลระดับพื้นฐาน หมายถึงผู้ที่มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้องปลอดภัย และอันดับสุดท้ายที่น่าเป็นห่วงคือ สุขภาวะดิจิทัลระดับต้องพัฒนา

 

 

 

ซึ่งผลการศึกษาระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยในปี 2567 อยู่ในระดับพื้นฐาน คิดเป็นร้อยละ 46.01 ตามมาด้วยระดับสูง ร้อยละ 35.52 และระดับที่ต้องพัฒนาอยู่ที่ 18.47 

 

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า 3 กลุ่มอายุที่มีค่าเฉลี่ยสุขภาวะทางดิจิทัลต่ำที่สุด ได้แก่

 

อันดับ 1 เด็ก อายุ 10-12 ปี ค่าเฉลี่ยที่ 0.53

อันดับ 2 เยาวชน อายุ 13-15 ปี ค่าเฉลี่ย 0.58

อันดับ 3 วัยเกษียณ อายุ 60 ปีขึ้นไป ค่าเฉลี่ย 0.59 

 

ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะต่อไป

 

แม้ผลลัพธ์โดยรวมที่เผยให้เห็นว่าดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยจะอยู่ในระดับพื้นฐาน และกลุ่มคนในระดับที่ต้องพัฒนาจะมีจำนวนน้อยที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะไม่ต้องเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลเพิ่มให้แก่ประชาชน เพราะเมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่ายังมีคนไทยอีกมากที่อยู่ในระดับต้องพัฒนา โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 10-15 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุวัยเกษียณที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่จำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะ 

 

ประเทศไทยจำเป็นต้องส่งเสริมให้ประชาชน โดยเฉพาะกับด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ที่มีค่าเฉลี่ยแย่ลงจากทั้งหมด 7 ด้าน และเรื่องสำคัญหลักๆ ที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่จากการถูกละเมิดความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ 

 

ทำอย่างไรสังคมไทยถึงจะ2มีภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์

 

ปัจจุบันไทยยังไม่มีการทำสถิติเกี่ยวกับความรู้ทางไซเบอร์ของประชาชนอย่างชัดเจนและจริงจัง ซึ่ง AIS ถือเป็นองค์กรแรกๆ ที่ริเริ่มและทำมาอย่างต่อเนื่อง จนได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงด้านการรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องของภัยไซเบอร์ 

 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อย่างที่คิด เพราะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อย่างเช่น สิงคโปร์ เก็บสถิติดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล นำข้อมูลมาศึกษา พัฒนา และลงมือทำ เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาส่งเสริมเทคโนโลยีรอบด้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามเป้าหมายการทำประเทศให้เป็น Smart Nation 

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ The KOMMON ระบุว่า ในปี 2559 รัฐบาลสิงคโปร์สร้างองค์กร Infocomm Media Development Authority หรือ IMDA ที่จะรับผิดชอบด้านการพัฒนาและกำกับดูแลสื่อสารสนเทศต่างๆ ภายในประเทศ ควบคู่ไปกับโครงการจำนวนมาก เช่น การมอบทุน 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์แก่คนวัยทำงานที่ต้องการเพิ่มเติมทักษะงานในสายอาชีพที่ทำอยู่ หรือเงินสนับสนุน 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปีแก่ประชากรทุกคนที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป นำไปใช้เรียนในหลักสูตรพัฒนาความรู้และทักษะต่างๆ ที่รัฐสนับสนุน 

 

ความน่าสนใจคือ สิงคโปร์รู้ตัวเองดีว่าจะต้องรับมือกับปัญหาสังคมสูงวัย องค์กร IMDA จึงสร้างโครงการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุในการเรียนรู้ทางดิจิทัล ตั้งแต่การพัฒนาทักษะการสื่อสาร การส่งข้อความ การใช้วิดีโอคอล สอนวิธีการเข้าใช้งานบริการดิจิทัลของรัฐบาล วิธีการเข้าถึงหนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ การใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตไร้สาย, รหัส QR Code และแอปพลิเคชันธนาคาร การทำธุรกรรมออนไลน์ และย้ำเรื่องความรู้พื้นฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งโครงการที่ว่านี้จะกระจายอยู่ทั่วชุมชนทั้งประเทศ 

 

โดยกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศสิงคโปร์ (Ministry of Communications and Information: MCI) จะร่วมมือกับภาคเอกชน ฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) เช่น ระบบ 5G, ระบบ AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ฯลฯ ให้หน่วยงานต่างๆ อีกด้วย 

 

สิ่งเหล่านี้ไทยก็สามารถทำได้อย่างสิงคโปร์ เพราะทุกคนในสังคมส่วนมากต่างต้องใช้ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน รู้เท่าทันดิจิทัลเพื่อใช้งานอย่างถูกวิธี ขั้นแรกอาจต้องเริ่มจากการสำรวจตัวเองให้รู้ว่าเรากำลังขาดทักษะทางดิจิทัลด้านไหน แล้วเราต้องเพิ่มความรู้ความเข้าใจอะไรอีกบ้างให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ทุกภาคส่วนร่วมหาคำตอบและจัดการกับการใช้งานของผู้คนบนโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อย่างไรก็ตาม การสำรวจอย่างละเอียดจนได้สถิติดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลจะไม่บรรลุเป้าหมายเลยหากไม่ขยายผล สร้างความตระหนักรู้และส่งต่อข้อมูลนี้ออกไปสู่สังคมไทย ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำและเป็นความท้าทายร่วมกันหลังจากนี้คือการสานต่อกับหน่วยงานรัฐ รวมถึงทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อภัยไซเบอร์มากยิ่งขึ้น 

 

เวลานี้ไทยมีนโยบายหลายด้านที่รับมือกับภัยไซเบอร์ ทั้งนโยบายเชิงรุกของรัฐบาลและการร่วมมือกันของภาครัฐและภาคเอกชนในการป้องกันเชิงรับ เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และ AIS ทำหลักสูตรการเรียนรู้ทางดิจิทัลที่ได้รับการรองรับมาตรฐานจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความรู้แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา สร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงจากการใช้งานดิจิทัลที่อาจมีภัยคุกคามทางไซเบอร์แฝงมาในทุกรูปแบบ 

 

และสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่นักเรียนนักศึกษา AIS ได้สร้างเครื่องมืออย่าง Digital Health Check ที่ทุกคนสามารถตรวจสุขภาวะดิจิทัลด้วยตัวเองได้ ประเมินทักษะดิจิทัลของตัวเองว่าอยู่ในระดับไหน และเมื่อรู้ว่าเราขาดทักษะด้านใด ก็สามารถเติมเต็มความรู้ได้ในช่องทางการเรียนรู้ เพิ่มทักษะสุขภาวะดิจิทัลที่เหมาะสมกับตัวเองหรือเหมาะสมกับแต่ละบุคคลในแต่ละกลุ่มอาชีพและช่วงวัย แล้วส่งต่อความรู้ที่ได้มา เป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่บอกสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องนี้

 

ประเมินทักษะทางดิจิทัลของตัวเองได้ที่นี่: https://digitalhealthcheck.ais.th/th/home 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X