×

‘รักษ์อาหาร’ แคมเปญดีๆ ที่มองว่าปัญหาอาหารเหลือทิ้งคือเรื่องใหญ่ และคนไทยต้องช่วยกัน [Advertorial]

07.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • Asiola เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้คนที่มีความคิดดีๆ ได้มาแชร์ไอเดียและเปิดรับการสนับสนุนจากคนอื่นๆ ที่สนใจ โดยเปิดรับทุกไอเดียที่สร้างสรรค์และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทย
  • โครงการ ‘รักษ์อาหาร’ ของ Thai SOS คือโครงการที่รับอาหารเหลือทิ้ง แต่อยู่ในสภาพดี กินได้ จากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ เพื่อส่งมอบให้กับผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงอาหารที่ดีๆ ต่อไป
  • เนื่องจากรถรับส่งอาหารมีไม่พอ จึงเกิดเป็นแคมเปญดีๆ ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง Thai SOS, SC Asset บริษัทผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดหลัก Co-Creation for Good Mornings เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของลูกบ้านให้ทุกๆ เช้าที่ตื่นขึ้นมาเป็นวันที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม และ Asiola คลาวด์ฟันดิ้งแพลตฟอร์มใหม่ที่ช่วยระดมทุนจากผู้ที่สนใจอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนำไปซื้อรถคันใหม่ เพื่อขยายขอบเขตในการปฏิบัติภารกิจของ Thai SOS ให้มากขึ้นกว่าเดิม
  • การระดมทุนครั้งนี้ไม่เพียงส่งมอบอาหารให้ผู้ด้อยโอกาส แต่ยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้คนในสังคมได้มองเห็นว่า ปัญหา ‘อาหารเหลือ’ คือเรื่องใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

คำว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ และความเชื่อฝังหัวที่ว่าประเทศไทยของเราเป็นดินแดนแห่งอาหารที่แสนอุดมสมบูรณ์ ทำให้หลายครั้ง หลายคนเผลอลืมตัว ไม่ให้ความสำคัญกับทุกมื้ออาหาร และปล่อยทิ้งขว้างจนอาหารดีๆ กลายเป็น ‘ขยะ’ ไปอย่างน่าเสียดาย โดยที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่ายังมีคนไทยมากถึง 10.6% ที่ต้องทรมานจากความหิวโหย และต้องทุกข์กับสภาวะขาดสารอาหารที่ไร้ทางแก้

 

ยังดีที่มีคนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันในชื่อ Thai SOS กับภารกิจ ‘รักษ์อาหาร’ ทำหน้าที่เป็นคนกลางออกเดินทางรับอาหารเหลือสภาพดีที่รอวันลงไปนอนอยู่ที่ก้นถังขยะ ทั้งจากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ และส่งมอบอาหารเหล่านั้นต่อให้กับคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงอาหารดีๆ เหมือนกับคนอื่น แต่ปัญหามีอยู่ว่าคนไทยทิ้งอาหารมากเกินไปจนรถเพียง 2 คันที่ Thai SOS มีนั้นไม่เพียงพอที่จะส่งต่ออาหารทั้งหมดได้ภายใน 1 วัน

 

Photo: asiola.co.th

 

จึงเกิดเป็นแคมเปญดีๆ ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง Thai SOS, SC Asset บริษัทผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดหลัก Co-Creation for Good Mornings เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของลูกบ้านให้ทุกๆ เช้าที่ตื่นขึ้นมาเป็นวันที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม และ Asiola คลาวด์ฟันดิ้งแพลตฟอร์มใหม่ที่ช่วยระดมทุนจากผู้ที่สนใจอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนำไปซื้อรถคันใหม่ เพื่อขยายขอบเขตในการปฏิบัติภารกิจของ Thai SOS ให้มากขึ้นกว่าเดิม

 

เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาอาหารเหลือทิ้งที่มากขึ้นทุกวัน THE STANDARD มีโอกาสนั่งคุยกับ 3 ผู้บริหารของ Asiola อย่าง จอน ลอร์, คริส ฮวง, เจ-มณฑล จิรา และ จูล-โฉมชฎา กุลดิลก Head of Corporate Brand บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งมอบความคิดดีๆ ในการสร้างสรรค์และร่วมกันแก้ปัญหาอาหารเหลือที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นทุกวันให้ต่อไป

 

 

คำว่าคลาวด์ฟันดิ้งยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากในประเทศไทย อยากให้ขยายความก่อนว่าสิ่งที่ Asiola กำลังทำอยู่ในตอนนี้คืออะไร

เจ: Asiola เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้คนที่มีไอเดียอยากทำโปรเจกต์อะไรขึ้นมาสักอย่าง เช่น สร้างสิ่งของ งานศิลปะ อาหาร งานอีเวนต์ ฯลฯ อาจจะเป็นโครงการส่วนตัวหรือโครงการที่ทำประโยชน์ให้กับสังคมก็ได้ เมื่อได้เป็นแคมเปญมาแล้ว Asiola จะเป็นเหมือนมาร์เก็ตเพลส เปิดให้ผู้ที่สนใจอยากจะเห็นแคมเปญนั้นเกิดขึ้นจริงมาระดมทุนกัน เพื่อให้เจ้าของไอเดียได้มีโอกาสนำไปสร้างสรรค์ผลงานต่อไป ตอนนี้ Asiola เปิดมาเป็นปีที่ 2 ในปี 2017 เรามี 30 แคมเปญที่ได้รับเงินตามเป้าที่ต้องการ ถือว่ามีอัตราความสำเร็จค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับแพลตฟอร์มทั่วไป และตอนนี้ภายใน 1 เดือนจะมีอีกประมาณ 30 แคมเปญที่เข้ามาร่วมพัฒนาโปรเจกต์กับเรา น่าจะเป็นคลาวด์ฟันดิ้งแพลตฟอร์มที่มีแคมเปญเยอะที่สุดในประเทศไทย

 

อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนที่เข้ามาระดมทุนกับ Asiola มีอัตราความสำเร็จในการระดมทุนมากกว่าคลาวด์ฟันดิ้งอื่นๆ

เจ: อาจจะเป็นเพราะจำนวนแคมเปญของเรายังน้อย เราใช้เวลาในการเลือกแคมเปญที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จ เมื่อเลือกได้แล้ว เราจะมาช่วยสร้างเครื่องมือต่างๆ ที่จะมาใช้ทำการตลาดเพื่อหาคนมาสนับสนุน ทั้งการทำวิดีโอพรีเซนต์ การเขียนเรื่อง เลือกรูป การวางตารางการผลิต การนำเงินทุนไปใช้ให้มีประสิทธิภาพที่สุด Asiola ไม่ใช่แค่ปล่อยให้เขาระดมทุนเอง แต่จะช่วยในการพัฒนาค่อนข้างเยอะ ซึ่งเราเริ่มทำตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงขั้นตอนการผลิต จนโครงการเสร็จสมบูรณ์ เพราะเราต้องมั่นใจว่าเมื่อเขาได้ทุนไปแล้ว ทุนก้อนนั้นจะไม่หายตัวไปเลย เราต้องช่วยเขาบริหารจัดการเงินทุน คอยติดตามผลเรื่อยๆ ว่าเขากำลังดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่ได้สัญญากับผู้ร่วมลงทุนไว้ได้จริงๆ หรือเปล่า

 

ถ้าเจ้าของโปรเจกต์ไม่สามารถทำตามที่สัญญาเอาไว้ได้ หรือทำออกมาแล้วคุณภาพไม่ดีพอ Asiola ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบด้วยหรือเปล่า

เจ: มีด้วยครับ แต่เป็นลักษณะของการพยายามเลือกแคมเปญและเจ้าของแคมเปญที่พอจะยืนยันได้ว่าเขาจะสามารถทำตามสิ่งที่สัญญาได้จริงๆ และอย่างที่บอกคือพยายามร่วมมือกับเขาเพื่อพัฒนาโปรเจกต์ให้ดีที่สุด ถ้าไปดูแพลตฟอร์มใหญ่เจ้าอื่นๆ เขาบอกว่าจะไม่รับผิดชอบเลย ปล่อยให้เจ้าของแคมเปญดำเนินการ แต่เพราะเราเพิ่งเริ่มต้น แคมเปญของเรายังน้อย เราต้องสร้างความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม Asiola ให้มากที่สุด เราเลยต้องเข้าไปดูทั้งหมด ดูไปจนถึงกระบวนการจัดส่งว่าถึงมือผู้สนับสนุนจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นงานอีเวนต์ก็ต้องไปดูว่าผู้สนับสนุนได้ไปร่วมงานและมีความสุขกับงานได้อย่างที่เขาคาดหวังจริงๆ

 

 

ผู้ที่เข้ามาสนับสนุนแคมเปญต่างๆ ของ Asiola จะได้รับอะไรตอบแทน

เจ: เหมือนกับ Kickstarter หรือคลาวด์ฟันดิ้งแพลตฟอร์มอื่นๆ เราจะมีของตอบแทนให้กับคนที่มาสนับสนุนแตกต่างกันไปในแต่ละแคมเปญ ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของโปรเจกต์มีอะไรมาตอบแทนคนที่มาสนับสนุน อาจจะเป็นสิ่งของ หมวกแก็ป เสื้อยืด แก้วน้ำ การได้พูดคุยกับคนสร้างแคมเปญ ยกตัวอย่าง ผมเคยทำแคมเปญ Techno Pizza Party by Montonn Jira ที่ชวนคนมาระดมทุน แล้วพอสำเร็จ คนที่สนับสนุนก็จะได้มากินพิซซ่า ฟังเพลง ปาร์ตี้ไปด้วยกัน ส่วนถ้าเป็นแคมเปญเพื่อช่วยเหลือสังคม อันนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าสิ่งตอบแทนที่เขาได้รับก็คือการช่วยพัฒนาสังคมที่เราอยู่ร่วมกันให้ดีขึ้น เขาจะได้เห็นการพัฒนาของแคมเปญนั้นๆ ว่ามีผลกับสิ่งแวดล้อมของเขาอย่างไรบ้าง

 

จูล: ต้องบอกว่าตอนแรกที่ SC Asset มาร่วมกับ Asiola ก็เพราะคอนเซปต์การสนับสนุนแคมเปญเพื่อสังคมแบบที่เจบอกเลยนะ เรารู้สึกว่า Asiola แตกต่างกับคลาวด์ฟันดิ้งแพลตฟอร์มอื่นๆ เพราะเขามีโปรเจกต์ที่ต้องการทำให้สังคมดีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เรามองว่ามันเป็นเรื่องของการสร้าง ‘คอมมูนิตี้’ ร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับที่ SC Asset ให้ความสำคัญมาตลอดอยู่แล้ว

 

เจ: ตอนแรกที่เราเริ่มทำ Asiola จริงๆ มันเป็นแพลตฟอร์มสำหรับนักดนตรีหรือศิลปินโดยเฉพาะ คนที่ไม่อยากทำงานกับค่าย แต่ยังมีกลุ่มแฟนเบสที่ใหญ่ เราก็ทำหน้าที่เป็นส่วนกลางที่ทำให้พวกเขาได้เชื่อมต่อกันโดยตรง นักดนตรีได้ทำผลงานเพลง ส่วนคนฟังก็ได้ฟังเพลง ได้สิ่งของ ได้ดูคอนเสิร์ตจากศิลปินที่เขาสนับสนุน

 

แต่เราก็เห็นว่าวงการในเมืองไทยค่อนข้างเล็ก ถ้าทำแบบนั้นคงอยู่ได้ไม่นาน เลยขยายมาด้านศิลปะอื่นๆ แฟชั่น อาหาร แต่ยังยึดแบบเดิมคือดึงคนที่มีชื่อเสียง มีกลุ่มที่พร้อมสนับสนุนจำนวนมาก แต่พอทำจริงๆ กลายเป็นว่าคนมาสนับสนุนตรงนั้นไม่มากเท่าไร เพราะเขาคงเห็นว่าศิลปินพวกนี้มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ทำไมยังต้องการความช่วยเหลือทางด้านการเงินอีก

 

ทำให้เราเห็นอีกด้านเพิ่มเติมว่ามันมีแคมเปญเล็กๆ ที่รวมกลุ่มคนที่เราไม่รู้จักมาก่อน แต่มีคนช่วยระดมทุนให้ถึงเป้าเร็วมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแคมเปญเกี่ยวกับสังคม เป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่เราไม่รู้ว่ามีมาก่อนด้วยซ้ำ ในปีที่ผ่านมา Asiola เลยเริ่มหันมาดูพวกแคมเปญที่เรียกว่าการสร้างสรรค์เพื่อช่วยเหลือสังคมที่สองสิ่งนี้ไปด้วยกันได้ดี และมีคนสนใจค่อนข้างมาก

 

 

แคมเปญใดบ้างที่รู้สึกว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ ตอบโจทย์ทั้งในด้านการสร้างสรรค์และสร้างประโยชน์ให้กับสังคม

จูล: เราคิดว่าเวลาเงินออกจากกระเป๋าสตางค์ไปให้กับอะไรบางอย่าง บางอย่างนั้นมันควรจะมีอิมแพกต์กับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะในชีวิตประจำวัน หรือสิ่งที่เป็นความทุกข์ที่ต้องเจอ อย่างแคมเปญ Universal Connections (Spiritual Fractal) ที่เข้าใจความทุกข์ของคนกรุงเทพฯ ที่เบื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้า BTS เลยทำการระดมทุนเพื่อเปลี่ยนโฆษณาให้กลายเป็นศิลปะบนรถไฟฟ้าแทน  

 

เจ: เราทำให้รถไฟฟ้าหนึ่งขบวนกลายเป็น Art Exhibition ที่เคลื่อนตัวได้ นั่นคือครั้งแรกที่เราเริ่มต้น ไอเดียอาจจะหลุดโลก มีความแปลก แต่มาจากความตั้งใจที่จะทำให้บนรถไฟฟ้าไม่ต้องมีโฆษณามารบกวน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแคมเปญที่มีคนพูดถึงกันเยอะ

 

จูล: ที่แคมเปญนี้เกิดขึ้นได้ ไม่ได้เกิดจากแค่ Asiola หรือ BTS มันเกิดจากหลายๆ คนที่มีความทุกข์จากโฆษณาบนรถไฟฟ้าและอยากเห็นงานศิลปะบนรถไฟฟ้ามาร่วมมือกัน เลยเป็นที่มาของการร่วมมือกันระหว่าง SC Asset กับ Asiola ในครั้งนี้

 

 

ตอนนี้เรามองว่าพอโลกเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น การสร้างบ้านหรือพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างเดียวไม่พอแล้ว ต้องพัฒนาสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่ง SC Asset พยายามพัฒนาเรื่อง Neighborhood Community มานานมากแล้ว เราเข้าใจว่าการพัฒนาตรงนี้จะไม่มีทางสำเร็จเลยถ้าเราทำอยู่คนเดียว เพราะคำว่า Community ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามันมีสังคม มีชุมชน มีผู้คนอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ใช่แค่ SC Asset ก็เลยมาคุยกับเจว่าจะทำโปรเจกต์อะไรร่วมกันให้ตรงกับคอนเซปต์ Co-creation for Good Mornings เพื่อที่จะมาพัฒนาทำให้วันพรุ่งนี้ของทุกๆ คนดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน

 

ทำไมจึงเลือก ‘รักษ์อาหาร’ ของ Thai SOS มาเป็นแคมเปญแรกในการร่วมมือกันครั้งนี้

เจ: นอกจากฝั่ง Asiola เราเป็นผู้จัดเทศกาลที่ชื่อ Wonderfruit ที่ได้ทำงานร่วมกับ Thai SOS ที่เข้ามาดูแลในเรื่อง Food Watse คอยจัดการเรื่องอาหารที่เหลือจากเทศกาลให้เรา ซึ่งทาง Thai SOS มีโปรเจกต์ที่ทำอยู่ก่อนแล้ว คือเขาจะไปรวบรวมอาหารที่เหลือจากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ ที่ยังมีสภาพดีอยู่เพื่อมอบให้กับคนที่ไม่มีโอกาสได้กินอาหารดีๆ แต่ปัญหาคือทาง Thai SOS เขามีรถที่ใช้ดำเนินการแค่คันเดียว แต่จำนวนอาหารที่เหลือและจำนวนคนที่ต้องการมีเยอะมากจนเขาไม่สามารถรวบรวมและเอาไปแจกได้ทั้งหมด ซึ่งพอได้คุยกับจูลก็รู้ว่า SC Asset ได้คุยกับทาง Thai SOS อยู่แล้ว เลยเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะมาร่วมกันช่วยแคมเปญของ Thai SOS เพื่อให้เขาไปช่วยคนอื่นต่อ และเราจะไม่ใช่แค่ส่งมอบอาหารให้คนที่ด้อยโอกาส แต่เราจะทำให้คนทั่วไปตระหนักถึงปัญหา ‘อาหารเหลือ’ ให้มากขึ้นด้วย

 

จูล: ด้วยความเป็นผู้หญิงก็จะเข้าใจปัญหาอาหารล้นตู้เย็นอยู่แล้ว จากการเก็บข้อมูลลูกบ้านของ SC Asset ก็ยิ่งทำให้รู้ว่าการกำจัดขยะคือปัญหาใหญ่ของทุกครอบครัว โดยเฉพาะอาหารเหลือที่ยังกินได้ แต่ก็เสียดายที่ต้องทิ้งไปเปล่าๆ มันคือความทุกข์อย่างหนึ่งของลูกบ้าน โดยเฉพาะคนที่เป็นแม่บ้านที่ต้องซื้ออาหารให้ลูก ให้สามี แล้วก็เก็บไว้จนเต็มตู้เย็น พอไปอ่านเจอโปรเจกต์ Thai SOS ก็คิดว่าน่าจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาเรื่องนี้ของเราได้เลย

 

 

อย่างที่เจบอกว่าปัญหาของเขาคือไม่มีรถพอที่จะวิ่งรับอาหารทั้งหมด เพราะคนไทยทิ้งอาหารเยอะมากจริงๆ ก็เลยคุยกันว่าเรามาทำแคมเปญนี้ด้วยกันดีกว่า เพราะเป็นแคมเปญที่ถ้าทำสำเร็จ ทุกคนจะได้ผลประโยชน์ร่วมกันจริงๆ ตอนนี้ SC Asset ก็เริ่มด้วยการเอาตู้เย็นใหญ่ๆ มาวางไว้ที่ส่วนกลาง แล้วให้ลูกบ้านเอาอาหารที่เหลือมาเก็บไว้ในนี้ ทางหนึ่งลูกบ้านก็จะลดพื้นที่ในตู้เย็นของตัวเอง อีกทางหนึ่ง Thai SOS ก็จะได้มาเก็บอาหารจากตรงนี้ได้เลย ตอนนี้เราเริ่มทดลองกับหมู่บ้านที่อยู่ในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก ต่อไปถ้าทางใต้หรือทางเหนือสนใจก็สามารถพัฒนาต่อไปได้ นี่คือตัวอย่างของแคมเปญที่เพิ่งเริ่มต้น ท้ายที่สุดในปีนี้เราวางแผนไว้ว่าจะทำแคมเปญใหญ่ร่วมกันอีก 2 แคมเปญ กำลังอยู่ในช่วงเก็บข้อมูลอยู่ว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่ลูกบ้านเผชิญอยู่ แล้วเราจะสามารถคิดแคมเปญเพื่อแก้ปัญหาให้เขาได้ต่อไป

 

จอห์น: Asiola เชื่อว่าถ้าเราสามารถรวมแนวคิดทางธุรกิจเข้ากับสังคม บวกกับความคิดสร้างสรรค์ได้เมื่อไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือโอกาส ไม่ใช่โอกาสของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นโอกาสของทุกคนที่จะได้เติบโตและพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ไปพร้อมๆ กัน นี่คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แคมเปญระดมทุนเพื่อช่วยเหลือสังคมสามารถประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต เพราะนี่คือการระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาที่ตัวเขาเจอจริงๆ วัตถุประสงค์มันขยายจากแค่แบรนด์หรือบุคคลไปเป็นวัตถุประสงค์เพื่อ ‘ผู้คน’ จริงๆ

 

 

ตามปกติเวลาแบรนด์ทำ CSR หรือกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ก็จะตั้งงบประมาณขึ้นมาแล้วโยนลงไปเพื่อนำไปพัฒนาส่วนต่างๆ ในสังคม ทำไม SC Asset จึงเลือกใช้วิธีการระดมทุนผ่านคลาวด์ฟันดิ้งแพลตฟอร์มที่มีความยุ่งยากมากกว่าวิธีเดิมอยู่มากพอสมควร

จูล: หลักการอย่างแรกในการทำ CSR คือความยั่งยืน ตามปกติเวลาแบรนด์จะทำอะไรดีๆ ให้สังคม แบรนด์ก็จะครีเอตขึ้นมาแล้วทำไปเลยบนความคิดที่ว่าเรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องดี คนก็คงอยากได้ล่ะมั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำแบบนั้นเราไม่สามารถยืนยันได้ว่ามันเกิดประโยชน์กับคนที่ได้รับจริงๆ หรือเปล่า แต่การระดมทุนแบบนี้ สิ่งที่ยืนยันได้ก็คือคนที่เข้ามาสนับสนุนเขาตระหนักรู้ได้แน่ๆ ว่าสิ่งนั้นมันเป็นปัญหากับเขาจริงๆ เขาเลยยินดีที่จะลงเงินร่วมกับเรา พอเป็นการร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาแล้วจะเกิดความเหนียวแน่น เกิดความตระหนักรู้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะถ้าเราสร้างอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหา วันหนึ่งเราหยุดทำ ปัญหานั้นก็จะไม่มีวันแก้ไขได้แล้ว

 

ยกตัวอย่างแคมเปญนี้ ถ้าเราโยนเงินลงไปเลย ซื้อรถมา 3 คัน วิ่งรับส่งอาหารไปเรื่อยๆ ถามว่าง่ายไหม ง่ายนะ แต่ถ้าวันหนึ่งเราไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น พอทุกคนรู้ถึงปัญหา เขาก็จะรู้ว่า อ๋อ ที่จริงจุดเริ่มต้นมันอยู่ที่เราเหลือทิ้งอาหารกันเยอะเกินไป ถ้าอยากลดปัญหาขยะล้นโลกให้ได้ก็ต้องเริ่มจากช่วยกันลดการทิ้งอาหารให้ได้มากที่สุด ซึ่งนั่นจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุดตามหลักของการทำ CSR จริงๆ

 

พบปัญหาอะไรบ้างจากการทำคลาวด์ฟันดิ้งแพลตฟอร์มในเมืองไทยมาเป็นเวลา 2 ปี

เจ: อย่างแรกคือความเข้าใจในการทำคลาวด์ฟันดิ้งกับทางฝั่งผู้ที่จะเข้ามาสนับสนุน เพราะต้องยอมรับว่าวิธีนี้อาจทำให้คนไม่มั่นใจที่จะเข้ามามอบเงินให้เท่าไร ลองคิดง่ายๆ ในการซื้อขายตามปกติ จ่ายเงินไปแล้วได้ของเลย กับการจ่ายเงินไปแล้วต้องรออีก 2-3 เดือน คนที่มาสนับสนุนต้องมีความเชื่ออย่างมากเลยนะระหว่างรอเวลาดำเนินการตรงนั้น ถือว่าเป็นคอนเซปต์ใหม่ที่เราต้องทำความเข้าใจให้กับคนอื่นๆ ต่อไป ให้เขาเห็นวิธีการ เห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากแคมเปญต่างๆ เสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว ให้เขารู้สึกว่าการระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญ และทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไปพร้อมๆ กันได้  

 

จอห์น: ส่วนทางฝั่งเจ้าของแคมเปญจะมีบางส่วนที่มีไอเดียน่าสนใจ แต่ไม่กล้าเข้ามาเสนอโปรเจกต์กับเรา เพราะกลัวว่าถ้าระดมทุนไม่สำเร็จหรือมีคนสนใจไม่มากพอแล้วจะถือว่าเป็นความล้มเหลว ซึ่งในความคิดของผม ไม่มีไอเดียไหนที่จะล้มเหลวนะครับ ต่อให้ไม่มีคนสนับสนุน แคมเปญนั้นไม่ได้พัฒนาต่อจริงๆ แต่อย่างน้อยมันก็ประสบความสำเร็จในแง่ที่คุณสามารถเอาไปเรียนรู้ต่อได้ว่าควรจะพัฒนาหรือแก้ไขอย่างไรต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นยืนยันว่าทุกแคมเปญประสบความสำเร็จหมด เพียงแค่คุณกล้าและสามารถคิดไอเดียดีๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนสังคมไปในทางที่ดีขึ้นมาได้ แค่นั้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

 

เป้าหมายต่อไปในอนาคตของ Asiola คืออะไร

เจ: เราอยากให้มีคนเข้ามาร่วมแคมเปญกับเราเยอะๆ เพราะเราเข้าใจดีว่าการไปทำเรื่องกู้เงินจากธนาคารเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับคนที่มีไอเดียใหม่ๆ ผมไม่ได้บอกว่าการกู้เงินจากธนาคารเป็นวิธีที่ไม่ดีนะครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีโอกาสสูงที่เจ้าของไอเดียจะถูกปฏิเสธโดยที่ยังไม่ได้เริ่มต้นทำอะไรด้วยซ้ำ Asiola เลยอยากเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่มีไอเดียน่าสนใจ และอยากพัฒนาให้เกิดขึ้นได้จริงๆ สามารถมาขายงาน เสนอโปรเจกต์ เพื่อหาผู้สนับสนุนที่มีความคิดเหมือนๆ กัน และสร้างเป็นสังคมของคนที่อยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้ขยายตัวมากขึ้นต่อไปในอนาคต

 

 

FYI
  • โครงการ ‘รักษ์อาหาร’ ของ Thai SOS มีเป้าหมายระดมทุนให้ได้ 1 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อรถที่ใช้ปฏิบัติภารกิจได้ 1 คัน โดยทุกทุนสนับสนุนจำนวน 10 บาท จะทำให้พวกเขาสามารถส่งอาหารเพิ่มได้ 1 มื้อ
  • สำหรับผู้ที่สนใจอยากเข้าไปร่วมสนับสนุนโครงการของ Thai SOS สามารถเข้าไปช่วยระดมทุนหรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ bit.ly/2wknGsv
  • SC Asset เริ่มต้นการสนับสนุนด้วยการระดมทุนตั้งต้นมูลค่า 350,000 บาท โดยคิดเป็นมื้ออาหารจำนวน 35,000 มื้อ
  • เริ่มนำร่องจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อให้ความรู้เรื่องปัญหาอาหารเหลือทิ้งกับลูกบ้านโครงการ PAVE รังสิต เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2561 และมีแผนที่จะขยายสู่โครงการอื่นๆ ต่อไป
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X