จากงาน Thailand Focus 2024 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด Adapting to a Changing World หนึ่งในเวทีเสวนาที่น่าสนใจคือ ‘ตลาดทุนไทยปรับ-รับโลกเปลี่ยน’ โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน ได้แก่ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), ศ. ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ Lyndon Chao, Managing Director, Head of Equities & Post Trade, Asia Securities Industry & Financial Markets Association (ASIFMA)
ช่วงหนึ่งของการเสวนาว่าด้วยเรื่องความสำคัญของสภาพคล่องในตลาด Chao กล่าวถึงความสำคัญของผู้สร้างสภาพคล่อง (Market Maker), Program Trading และการทำธุรกรรมขายชอร์ต (Short Selling) โดยมองว่าผู้กำกับดูแลไม่ควรมีการกีดกันสิ่งเหล่านี้จากตลาด เพราะจะทำให้สภาพคล่องลดลง จึงขอให้ ก.ล.ต. พิจารณานโยบายการกำกับดูแลอย่างรอบคอบ และพร้อมเข้ามาช่วยให้คำปรึกษา เนื่องจากที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีการออกกฎเกณฑ์ใหม่จำนวนมาก
ศ. ดร.พรอนงค์ กล่าวว่า “ก.ล.ต. เข้าใจถึงความสำคัญดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่ในฐานะของผู้กำกับดูแล ก.ล.ต. มีความจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างสภาพคล่องและการซื้อขายอย่างเป็นธรรม เนื่องจากตลาดมีผู้เล่นที่หลากหลาย ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ทั้งในประเทศและนานาชาติ การออกกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงมีความมุ่งเน้นไปที่การเติบโตของศักยภาพตลาดอย่างยั่งยืน มากกว่าการเติบโตเพียงแค่ในระยะสั้น”
การออกกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. มุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยในช่วงแรกสภาพคล่องอาจจะหายไปบ้าง แต่ก็มีมาตรการอื่นๆ เข้ามาเสริม เช่น การทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อออกขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะเพิ่มเม็ดเงินใหม่เข้ามาในตลาดถึง 1-1.5 แสนล้านบาท ในเดือนกันยายนนี้ และยังมีแผน Value-Up Program ที่จะช่วยเสริมสร้างมูลค่าให้กับบริษัทจดทะเบียนอีกด้วย
“สภาพคล่องต้องหายไปบ้าง เพราะว่ามาตรการบางอันต้องแลกกับสภาพคล่องที่อาจจะเพิ่มความผันผวน และ (สภาพคล่อง) ที่ไม่ได้อยู่กับเรานานๆ เราก็ยอมแลก” ศ. ดร.พรอนงค์
ในหัวข้อของการกำกับดูแลหลักทรัพย์ ศ. ดร.พรอนงค์ ชู 2 มาตรการ ช่วยดึงความเชื่อมั่นตลาดในปีนี้ และอีก 3 มาตรการ เพื่อเป็นรากฐานสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในปีหน้า
เนื่องจากในปีนี้มีเหตุการณ์มากมายที่ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดลดลง เช่น กรณีทุจริตของผู้บริหาร บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) และการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ส่งผลให้ ก.ล.ต. ออกมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยชู 2 มาตรการหลักดังนี้
- นโยบายต่อต้านการทุจริต โดยร่วมมือกับ ตลท. ในการแบ่งปันข้อมูล และจะเป็นเสมือนแนวหน้าในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อป้องกันการทุจริต และให้อำนาจแก่นักลงทุนรายย่อยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญของบริษัทในตลาดได้
- การสร้างความยุติธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ มุ่งเน้นไปที่การลดปริมาณการซื้อขายที่ผิดปกติด้วยการบังคับใช้ Minimum Resting Time การลดธุรกรรมการขายชอร์ตด้วยการบังคับใช้ Uptick Rule และป้องกันการรับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องด้วยการตั้งระบบ Auto Pause เพื่อให้นักลงทุนได้ตั้งสติก่อนตัดสินใจ
สำหรับมาตรการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของ ตลท. มี 3 มาตรการ ได้แก่
- Value-Up Program: โปรแกรมสร้างมูลค่าให้แก่บริษัทจดทะเบียน
- Easy Onboarding: การเข้าร่วมที่ง่ายขึ้นของนักลงทุนหน้าใหม่
- Asset Tokenization: การส่งเสริมสินทรัพย์ดิจิทัล
เพื่อให้การเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืนและมั่นคง ก.ล.ต. ได้นำเอา Value-Up Program มาใช้ในการเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืนให้กับบริษัทจดทะเบียน ผ่านกองทุน ThaiESG ซึ่งมีการลงทุนในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่มีนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมและมีธรรมาภิบาลในการดำเนินงานอย่างชัดเจน
การเพิ่มสภาพคล่องอย่างยั่งยืนให้กับตลาด ก.ล.ต. ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในหัวข้อ Easy Onboarding เพื่อให้นักลงทุนรายใหม่สามารถเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น (Market Accessibility) ลดจำนวนการทำธุรกรรมหลังบ้าน แต่ยังคงมาตรฐานการทำแบบสอบถามข้อมูลของนักลงทุน (KYC) ไว้
เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับตลาด ก.ล.ต. จึงส่งเสริมให้มีการระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างการทำ ICO (Initial Coin Offering) หรือการเสนอขายดิจิทัลโทเคนตลาดแรก
ศ. ดร.พรอนงค์ กล่าวเสริมว่า ก.ล.ต. มีความมุ่งมั่นที่จะเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาในตลาดหุ้นไทย โดยจะไม่เพียงแค่ลงโทษผู้กระทำผิด แต่ยังรวมถึงการให้รางวัลแก่บริษัทที่ปฏิบัติถูกต้องตามเกณฑ์เป็นอย่างดี
โดยจะให้พื้นที่แสดงวิสัยทัศน์ ชี้แจง และรายงานความคืบหน้าของแผนการดำเนินงาน สำหรับบริษัทที่ผ่านโครงการ Value-Up Program และอยากให้มั่นใจว่าตลาดจะเติบโตอย่างยั่งยืน