รัฐบาลประเทศในเอเชียใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันไปมากถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนที่ผ่านมา เพื่อดูแลสกุลเงินของตัวเองจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์
Exante Data บริษัทที่ติดตามกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของโลก ประเมินว่า กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียไม่รวมจีน ได้ใช้เงินทุนสำรองฯ เข้าแทรกแซงค่าเงินรวมกันเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายน และหากรวมการแทรกแซงของญี่ปุ่นเข้าไปด้วย มูลค่าดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับจากเดือนมีนาคมปี 2020
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี หลัง Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยถึงปีหน้า
- ส่องนโยบาย ‘แบงก์ชาติทั่วโลก’ เมื่อ ‘วิกฤตเงินเฟ้อ’ กลายเป็นวิกฤตระดับโลกที่ทุกประเทศไม่อาจหลีกเลี่ยง
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
ข้อมูลของ Exante Data ยังระบุอีกว่า หากนับจากต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางและหน่วยงานภาครัฐในเอเชียได้ใช้เงินทุนสำรองฯ เข้าแทรกแซงสกุลเงินของตัวเองจากการแข็งค่าของดอลลาร์ รวมกันไปแล้วราว 8.9 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในเอเชียที่มีการขายเงินสกุลดอลลาร์เพื่อประคองค่าเงินมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น ที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ที่ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีการขายดอลลาร์สุทธิเช่นกัน
“สกุลเงินของประเทศเหล่านี้ได้รับแรงกดดันจากดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นของสหรัฐฯ และขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะขึ้นต่อไปถึงระดับใด” Alex Etra นักกลยุทธ์อาวุโสของ Exante กล่าว
โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า การเข้าแทรกแซงค่าเงินของประเทศในเอเชียจะดำเนินต่อไป โดยเฉพาะค่าเงินเยนที่อ่อนค่าทำสถิติในรอบ 30 ปี ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นอาจต้องเข้าแทรกแซงเพิ่มเติม
ข้อมูลล่าสุดจาก Bloomberg ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางทั่วโลกได้ปรับลดลงรวมกันแล้วประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 7.8% ซึ่งนับเป็นการลดลงมากที่สุดตั้งแต่เริ่มรวบรวมข้อมูลในปี 2003
จีนถือเป็นประเทศที่มีมูลค่าทุนสำรองฯ ลดลงมากที่สุดถึง 204,662 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยญี่ปุ่นที่ลดลง 167,694 ล้านดอลลาร์ และสวิตเซอร์แลนด์ที่ลดลง 143,442 ล้านดอลลาร์
อ้างอิง: